คอลัมนิสต์

ดวลสีส้ม "อัศนี" สวมเสื้อแดง "บูรณุปกรณ์" คืนรังชินวัตร สู้ศึกนายกเล็กเชียงใหม่

ดวลสีส้ม "อัศนี" สวมเสื้อแดง "บูรณุปกรณ์" คืนรังชินวัตร สู้ศึกนายกเล็กเชียงใหม่

20 มี.ค. 2568

รีแมตช์แดง-ส้ม "อัศนี" นายกเล็กเชียงใหม่ อุ้ม "บูรณุปกรณ์" คืนรังชินวัตร "ธีรวุฒิ" พรรคประชาชนทำศึกล้างตา

พลิกนาทีสุดท้าย อัศนี นายกเล็กเชียงใหม่ อุ้มบูรณุปกรณ์ คืนรังชินวัตร ค่ายส้มส่ง เหมา ธีรวุฒิ ทำศึกล้างตาอีกครั้ง


บูรณุปกรณ์ ตระกูลใหญ่ในวันนี้ มีทั้งเชียร์แดง และเชียร์ส้ม นายกหน่อย-อัศนี เลือกอัพเกรดสวมเสื้อเพื่อไทย

สมรภูมินายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 11 พ.ค. 2568 เหมือนรีแมตช์ศึกท้องถิ่นแดง-ส้ม

เมื่อ 1 ก.พ. 2568 ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร พรรคเพื่อไทย เฉือนชนะพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ พรรคประชาชน ประมาณ 2 หมื่นคะแนน

ศึกนายกเล็กเชียงใหม่ ที่มีการเปิดตัวผู้สมัครไปแล้ว ทั้งค่ายเพื่อไทยและค่ายประชาชน ต่างก็เป็นคนหน้าเดิมทั้ง 2 ค่าย

“นายกหน่อย” อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในนามของพรรคเพื่อไทย

นัยว่า มีผู้มากบารมีเคาะชื่อ “นายกหน่อย” ให้สวมเสื้อเพื่อไทย ก่อนวันแถลงข่าว 19 มี.ค.ที่ผ่านมา แค่วันเดียว เนื่องจากเดิมที นายกหน่อยได้แนะนำตัวในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม มาโดยตลอด

ส่วนพรรคประชาชน เปิดตัว “เหมา” ธีรวุฒิ แก้วฟอง เป็นว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ของพรรคประชาชน ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว “เหมา” เคยลุยสนามนายกเล็กนครเชียงใหม่ ในนามคณะก้าวหน้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

“นายกก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่ ที่มาร่วมเปิดตัว อัศนี บูรณุปกรณ์ ในสีเสื้อเพื่อไทย ได้ยืนยันว่า พรรคมีหนังสือรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนคนอื่นนั้น ทางพรรคไม่ได้รับรองและไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

คำว่า “คนอื่น” ของนายกก๊อง น่าจะหมายถึง “หยก” ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ว่าที่ผู้สมัครนายกเล็กนครเชียงใหม่ ที่ถอดเสื้อแดง และประกาศตัวเป็นผู้สมัครในนาม “กลุ่มเพื่อเชียงใหม่” 

นายกก๊อง การันตี อัศนี ตัวแทนเพื่อไทย

เส้นทางบูรณุปกรณ์-ชินวัตร


ทำไม อัศนี จึงเปลี่ยนสีเสื้อ “เชียงใหม่คุณธรรม” คำตอบคือ การตัดสินใจที่เข้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลดีทำให้สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

“ตระกูลบูรณุปกรณ์ของตัวเองนั้น เป็นตระกูลใหญ่ มีลูก 11 คน แต่ไม่ใช่บ้านใหญ่..” นายกหน่อย กล่าว

“กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม” กำเนิดขึ้นในวันที่ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปี 2541 และตระกูลนี้ ก็ผูกขาดนายกเล็กมาทุกสมัย ยกเว้นสมัยที่ เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เป็นนายกฯ

ปี 2544 “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ดึงตระกูลบูรณุปกรณ์ มาสังกัดพรรคไทยรักไทย สนับสนุนทักษิณ เป็นนายกฯ

กระทั่ง บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ และพิชัย เลิศพงศ์อดิศร พรรคเพื่อไทย ชิงเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ ปี 2563 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “ชินวัตร” กับ “บูรณุปกรณ์” เหินห่างกันไป

หลังเลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ ปี 2566 ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่ ลูกสาวของ พรทัศน์ บูรณุปกรณ์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และหันไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน

ส่วน อัศนี เป็นลูกชายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กลับมีท่าทีที่เป็นมิตรกับเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และให้ความเคารพ ทักษิณ ชินวัตร เหมือนเดิม

ศึกล้างตาค่ายสีส้ม


“เหมา” ธีรวุฒิ แก้วฟอง เป็นผู้บุกเบิกคราฟต์เบียร์ในเชียงใหม่ และเคยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย มากว่าครึ่งชีวิต ก่อนจะตั้งกลุ่ม “เชียงใหม่กว่า” ขึ้นมาในฐานะกลุ่มการเมืองท้องถิ่น

ปี 2564 ธนาธร ได้มาชักชวนให้ลงสมัครนายกเล็กนครเชียงใหม่ในนามคณะก้าวหน้า แต่พ่ายแพ้ตระกูลบูรณุปกรณ์

แม้พรรคประชาชน จะพ่ายศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่ก็ได้ ส.อบจ.มากถึง 15 คน เฉพาะในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ พรรคส้มได้  4 คน จากทั้งหมด 5 คน

ด้วยเหตุนี้เอง พรรคส้มจึงมั่นใจว่า “เหมา” ธีรวุฒิ แก้วฟอง จะได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

ผลการเลือกตั้งนายกเล็กนครเชียงใหม่ สมัยที่แล้ว อัศนี บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ได้ 19,198 คะแนน รองลงมา ชาตรี เชื้อมโนชาญ กลุ่มเพื่อไทยนครเชียงใหม่ ได้ 16,713 คะแนน และธีรวุฒิ แก้วฟอง คณะก้าวหน้า ได้ 6,797 คะแนน

หากประเมินจากการเลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ และการเลือกตั้ง ส.อบจ.เชียงใหม่ ก็เชื่อว่า เหมา-ธีรวุฒิ จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นกว่าสมัยที่แล้ว

เหมา ธีรวุฒิ ขอสู้ศึกนายกเล็กอีกครั้ง