คอลัมนิสต์

หนาวหละปูน "โกเฮง" นายก อบจ.สีส้ม "ธนาธร" ผู้นำเงา สะท้านด่านทดสอบ กกต.

หนาวหละปูน "โกเฮง" นายก อบจ.สีส้ม "ธนาธร" ผู้นำเงา สะท้านด่านทดสอบ กกต.

21 มี.ค. 2568

กกต.ด่านทดสอบ "โกเฮง" นายก อบจ.ลำพูน พ่วง "โกเอก ธนาธร" ผู้นำเงา คู่แข่งอนุสรณ์ ค่ายเสื้อแดง-เพื่อนเนวิน

หนาวหละปูน โกเฮง วีระเดช อบจ.สีส้มโมเดล โกเอก ธนาธร รับบทนายกฯเงา เผชิญข้อหาใส่ร้ายคู่แข่ง กกต.เพิ่งนับหนึ่ง

โกเฮงสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ ล้มช้าง เสี่ยโอน อนุสรณ์ วงศ์วรรณ บ้านใหญ่วงศ์วรรณ ค่ายเพื่อไทย-เพื่อนเนวิน

เหมือนฝนตกไม่มีเค้าเมฆฝน จู่ๆมีการเปิดเผยเอกสารลับของสำนักงาน กกต.ลำพูน เชิญ วีระเดช ภู่พิสิฐ นายก อบจ.ลำพูน มารับทราบข้อกล่าวหาและให้ถ้อยคำชี้แจงข้อกล่าวหา โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยการใส่ร้ายด้วยความเท็จ

วันที่ 21 มี.ค. 2568 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณี กกต.ลำพูน เชิญ วีระเดช ภู่พิสิฐ มารับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อบจ. เป็นกระบวนการตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เวลานี้ยังเป็นเรื่องชั้นพนักงานสอบสวน

บังเอิญว่า “โกเฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ สังกัดพรรคประชาชน และเป็นคนแรกที่ตกเป็นข่าวอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน จึงมีผู้ให้ความสนใจมากมาย

อบจ.ลำพูน คือ อบจ.สีส้มแห่งแรก ของพรรคประชาชน จึงเปรียบเหมือนโมเดลแรก ที่พลพรรคสีส้ม ต้องทำให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ 

“โกเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า มีความภาคภูมิใจที่พรรคประชาชน ปักธง อบจ.สีส้ม ได้เป็นแห่งแรก จึงกระโจนเข้าไปคลุกวงใน อบจ.ลำพูน ในนามคณะยุทธศาสตร์พรรคประชาชน

วันที่ 5 มี.ค.2568 วีระเดช ภู่พิสิฐ นายก อบจ.ลำพูน ร่วมกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าร่วมเเลกเปลี่ยนข้อมูลของส่วนราชการ เเต่ละบริบท ของ อบจ.ลำพูน

พูดง่ายๆ “โกเอก” เปรียบเสมือนนายกฯเงาของ “โกเฮง” โดยไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการใน อบจ.ลำพูน จึงมีคนเหน็บแนมว่า ธนาธรสิงร่างวีระเดช

โกเอก ผู้นำหลังม่าน โกเฮง นายก อบจ.ลำพูน

โกเฮง-โกเก๊า..วิถีการเมือง 2 ยุค


พลันที่ “โกเฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ ได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.ลำพูน ก็มีเสียงวิจารณ์เชิงลบ เพราะโกเฮง เป็นทายาท “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน

จริงๆ แล้ว วิถีโกเฮง ต่างโกเก๊าโดยสิ้นเชิง เพราะบริบทการเมือง 2 ยุคแตกต่างกัน

ก้าวแรกโกเก๊าคือ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัดลำพูน เมื่อปี 2528 และก้าวที่สอง โกเก๊า เป็นนายก อบจ.ลำพูน ปี 2543

ลำพูนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีผู้แทนฯ ชื่อดังคือ “หนานหล้า” สมาน ชมภูเทพด้วยความเป็น สส.มีคารมคมคาย ฉายา “ศรีธนญชัยเมืองเหนือ”

ปรากฏว่า “โกเก๊า” เลือกเดินตาม “หนานหล้า” เพราะชื่นชอบสไตล์การทำงานการเมือง เป็นปากเสียงของเกษตรกรคนรากหญ้า

ยามที่ลำไย กระเทียมราคาตกต่ำ “หนานหล้า” จะนำม็อบลำไย ม็อบกระเทียม เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญความเดือดร้อนของเกษตรกรเกือบทุกปี

แล้ววันหนึ่ง “โกเก๊า” ก็ติดกับดักการช่วยเหลือเกษตรกร ในคดีทุจริตโครงการลำไยอบแห้ง และต้องไปชดใช้กรรมในเรือนจำ

ตัดกลับมาที่ “โกเฮง” วีระเดช ภู่พิสิฐ ลูกชายโกเก๊า เขาเลือกการเมืองใหม่ เลือกเดินตาม “โกเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หากจะด่วนสรุปว่า โกเฮงเป็นทายาท “บ้านใหญ่ลำพูน” ก็คงไม่ใช่

โกเฮง นายก อบจ.ลำพูน ต้นแบบการเมืองใหม่ ไม่ใช่บ้านใหญ่

ค่ายสีแดง-เพื่อนเนวิน


คู่แข่งโกเฮงคือ “เสี่ยโอน” อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.ลำพูน ทายาทณรงค์ วงศ์วรรณ หลายคนอาจสงสัยว่า บ้านใหญ่เมืองแพร่ ไยจึงมาลงหลักปักฐานเมืองลำพูน

ช่วงปี 2522 สังวาลย์ วงศ์วรรณ น้องชายต่างมารดาของพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ ได้เข้ามาทำธุรกิจโรงบ่มใบยาสูบ ที่ จ.ลำพูน ในนามบริษัทเทพวงศ์

ปี 2531 สังวาลย์ ได้รับเลือกเป็น สส.ลำพูน สังกัดพรรครวมไทย ของพ่อเลี้ยงณรงค์ ก่อนจะวางมือ และส่งไม้ต่อให้ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็น สส.ลำพูน 5 สมัย

14 ปีที่แล้ว “เสี่ยโอน” ก่อตั้งสโมสรฟุตบอล ลำพูน วอร์ริเออร์ ซึ่งปัจจุบัน เสี่ยโอนมอบให้ตระกูลฐาราชวงศ์ศึก บริหารสโมสรลูกหนังแห่งนี้

เนื่องจากสมัยเป็น สส.ลำพูน สังกัดพรรคชาติพัฒนา อนุสรณ์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “กลุ่ม 16” เสี่ยโอนกับเนวิน จึงมีความรักผูกพันกัน ซึ่งตอนทำทีมลูกหนังลำพูน วอริเออร์ ก็ได้เนวินเป็นที่ปรึกษา

เสี่ยโอน ยังสังกัดพรรคเพื่อไทย และเคารพรักนายใหญ่ แต่ครูใหญ่เนวิน ก็ยังดำรงความเป็นสหายรักกลุ่ม 16 ไม่เปลี่ยนแปลง