
พม่าวิปโยค "มินอ่องหล่าย" สะเทือน รัฐบาลเงา "ซูจี" รุกใหญ่ จุดเปลี่ยนการเมือง
แผ่นดินไหวเขย่าขุนศึก “มินอ่องหล่าย” เศรษฐกิจ-สังคมพัง รัฐบาลเงา“NUG” รุกหนัก จุดเปลี่ยนการเมืองเมียนมา
สะเทือนบัลลังก์ มินอ่องหล่าย ธรณีพิโรธรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี เศรษฐกิจ-สังคมพังยับ จุดเปลี่ยนการเมืองเมียนมา
รัฐบาลเอกภาพ(NUG) ประกาศหยุดรบ 2 สัปดาห์ ภาคประชาชนพม่าเรียกร้องมินอ่องหล่ายหยุดยิง เปิดเส้นทางมนุษยธรรม
อันสืบเนื่องมาจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 วัดความรุนแรงได้ 7.7 แมกนิจูด โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างจากภูมิภาคสะกาย ประเทศเมียนมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน วัด ห้างร้านเอกชน และสถานที่ราชการ
สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพเมียนมา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว 6 ภูมิภาคคือ สะกาย มัณฑะเลย์ พะโค มะเกว เนปิดอว์ และรัฐฉานตะวันออก
เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศยากจน และเผชิญกับสงครามกลางเมืองมายาวนาน หลังเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อปี 2564 ฉะนั้น ภัยพิบัติครั้งใหญ่เหมือนซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤติ
ด้วยเหตุนี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย จึงได้ร้องขอให้ประชาคมโลกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศเมียนมา
เวลานี้ทีมกู้ภัยนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ รัสเซีย มาเลเซีย และไทย ได้เดินทางถึงเมียนมาแล้ว
สำหรับยอดคนตายและบาดเจ็บจากเหตุธรณีพิโรธ จวบจนถึงค่ำวันเสาร์ที่ 29 มี.ค. 2568 กองทัพเมียนมา ได้แถลงมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,644 ราย บาดเจ็บ 3,408 ราย และยังมีผู้สูญหาย 139 ราย
ด้านสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา(USGS) ประเมินความรุนแรงของธรณีพิบัติในเมียนมา อาจมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 10,000 ถึง 100,000 ราย
สะเทือนบัลลังก์ขุนศึก
หลังเมียนมาเผชิญแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงความเสียใจต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงว่า จีนพร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมฉุกเฉินแก่เมียนมาอย่างเต็มที่
น้ำใจจากจีน มหามิตรที่ใกล้ชิดรัฐบาลทหารเมียนมา นับว่าเป็นพลังบวกในวันที่ต้องเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต
ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวเพียง 1 วันคือ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาจัดงานสวนสนามวันกองทัพประจำปี ที่กรุงเนปิดอว์ โดยมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย เป็นประธานในพิธี
ท่ามกลางความปราชัยในสมรภูมิรบของทหารเมียนมา ผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) กำลังเตรียมความพร้อม เพื่อจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดวันไหน
กลเกมเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยใต้เงาปืนขุนศึกพม่า เป็นความพยายามที่จะใช้การเลือกตั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจจากรัฐบาลอองซาน ซูจี เมื่อเดือน ก.พ. 2564
แม้รัฐบาลทหารเมียนมา ยืนยันจะจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ปลอดภัย แต่การสู้รบในประเทศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ปัจจุบัน สภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) มีอำนาจควบคุมพื้นที่ไม่ถึงครึ่งประเทศ
มิหนำซ้ำ ผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนเรือนแสนประสบความเดือดร้อน อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย จะเป็นแรงกดดันรัฐบาลทหารอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ฝ่ายต่อต้านรุกกลับ
การสู้รบในเมียนมาก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว กองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ บุกยึดเมืองได้จำนวนมาก พร้อมประกาศเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐทหาร ทั้งในพื้นที่รัฐฉานเหนือ รัฐคะฉิ่น รัฐชิน รัฐยะไข่ รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ภูมิภาคพะโค อิรวดี ฯลฯ
ความได้เปรียบกองทัพเมียนมา มีเพียงอย่างเดียวคือ กองทัพอากาศ ซึ่งมีการใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชนด้วย
ขณะที่รัฐบาลทหารยังมะงุมมะงาหรา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ก็เดินเกมรุกทางการเมืองทันที
เมื่อ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาล NUG ประกาศระงับการปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดต่อกองทัพเมียนมา เป็นเวลา 2 สัปดาห์ (14 วัน) เพื่อมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว
NUG ยังเรียกร้องความช่วยเหลือเร่งด่วนจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงทีมช่วยเหลือของสหประชาชาติ และ INGO เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ NUG ยังจะจัดสรรเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการบรรเทาทุกข์ และทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร ประสานงานความช่วยเหลือเพิ่มเติม