คอลัมนิสต์

ไม่หยุดรบ "มินอ่องหล่าย" ถล่ม NUG "ทีมกู้ภัย" 11 ชาติระทึก ฝ่าสงครามกลางเมือง

ไม่หยุดรบ "มินอ่องหล่าย" ถล่ม NUG "ทีมกู้ภัย" 11 ชาติระทึก ฝ่าสงครามกลางเมือง

01 เม.ย. 2568

"สะกาย" ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่มั่นฝ่าย NUG "มินอ่องหล่าย" ถล่มแหลก ไฟสงครามรุนแรง กระทบทีมกู้ภัย 11 ชาติ

ดินไหวไม่หยุดรบ มินอ่องหล่าย เปิดทางถล่มฝ่ายต่อต้าน


สงครามกลางเมืองรุนแรงต่อเนื่อง กระทบทีมกู้ภัย 11 ชาติ

ส่องภูมิภาคสะกาย ศูนย์กลางแผ่นดินไหว สงครามยังดำเนินต่อไปเพราะเป็นที่มั่นฝ่าย NUG มีเพียงกู้ภัยมาเลย์เข้าไปถึง

สื่อทางการเมียนมาเผยแพร่ภาพ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา แสดงความขอบคุณทีมกู้ภัยจากจีน ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเนปิดอว์

นับแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในเมียนมา นานาชาติได้ยื่นมือมาช่วยเหลือทั้งเรื่องการกู้ภัยและสิ่งของบรรเทาทุกข์ ตามคำร้องของรัฐบาลทหารเมียนมา

เฉพาะทีมกู้ภัยต่างชาติในเวลานี้มีมากถึง 11 ชาติ ได้แก่จีน(รวมเขตพิเศษฮ่องกง) รัสเซีย สิงคโปร์ อินเดีย บังคลาเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และลาว

ทีมกู้ภัยจีน รัสเซีย และอินเดีย เข้าปฏิบัติการกู้ภัยที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุด

ส่วนทีมกู้ภัยจีน ไทย เวียดนาม บังคลาเทศ และสิงคโปร์ ปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเนปิดอว์

ส่วนภูมิภาคสะกาย ศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีเพียงทีมกู้ภัยมาเลย์ที่เข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการในเมืองสะกาย เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นที่มั่นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ฝ่ายต่อต้านทหารเมียนมา
 

ทีมกู้ภัยมาเลย์ เข้าไปถึงแค่ตัวเมืองสะกาย

พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคสะกาย ขณะนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล NUG กลุ่มต่อต้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ เมื่อ 31 มี.ค. 2568 กองทัพเมียนมาได้แถลงว่า คนตายเพิ่มเป็น 2,056 คน บาดเจ็บมากกว่า 3,900 คน และสูญหายประมาณ 270 คน

ขณะที่รัฐบาล NUG รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าอีกเท่าตัว

สะกายที่มั่นฝ่ายต่อต้าน 


ตั้งแต่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ประชาชนเมียนมาได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้ เพื่อเรียกร้องระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย

กลางปี 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ฝ่ายต่อต้าน ได้จัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ ทำการสู้รบกับกองทัพเมียนมา กลายเป็นสงครามกลางเมืองขยายไปทั่วประเทศ

ต้นปี 2568 ฝ่าย NUG เปิดเผยว่า ฝ่ายต่อต้านได้ควบคุมเขตอิทธิพลในเมียนมา ร้อยละ 44 จากทั้งหมด หรือคิดเป็น 144 อำเภอ จาก 330 อำเภอ ขณะที่กองทัพเมียนมา มีพื้นที่ที่ควบคุมได้น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 107 อำเภอ จาก 330 อำเภอ

หลังเกิดแผ่นดินไหว NUG และ PDF ต่างเร่งให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ฝ่ายตัวเองควบคุมในภูมิภาคสะกาย และมัณฑะเลย์ รวมถึงมะเกว

ดังที่ทราบกัน ภูมิภาคสะกาย อยู่ภายใต้อิทธิพลของ NUG และ PDF จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่สนใจเข้ามาช่วยเหลือ

มีเพียงทีมกู้ภัยของมาเลเซียได้เดินทางไปถึงเมืองสะกาย และฝ่าย NUG ก็หวังว่า ทีมกู้ภัยชาติอื่นๆจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้
 

ไม่หยุดรบ \"มินอ่องหล่าย\" ถล่ม NUG \"ทีมกู้ภัย\" 11 ชาติระทึก ฝ่าสงครามกลางเมือง  

ศึกรบในแผ่นดินไหว

 

แม้ว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) จะประกาศหยุดการสู้รบ 2 สัปดาห์ แต่สภาบริหารแห่งรัฐ(SCA) และกองทัพเมียนมา ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆต่อประเด็นการหยุดยิง

ตรงกันข้าม เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอากาศเมียนมายังส่งเครื่องบินรบไปถล่มที่มั่นของกลุ่มต่อต้านในภูมิภาคสะกาย

วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอากาศเมียนมา ยังได้ส่งเครื่องบิน Y12 และพารามอเตอร์ ทิ้งระเบิดอย่างน้อย 60 ลูก ในเขตสะกาย มะเกว และมัณฑะเลย์

ปฏิบัติการทางทหารกองทัพเมียนมา ที่ทิ้งระเบิดโจมตีภูมิภาคที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ทั้งที่ไม่มีการสู้รบ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

อย่าง ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ ที่กองทัพเมียนมายังคง ทิ้งระเบิดในขณะที่ประชาชนกำลังพยายามช่วยกู้ภัยผู้คน หลังเกิดแผ่นดินไหว”

ผู้แทน UN ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมินอ่องหล่าย หยุดปฏิบัติการทางทหาร “ใครก็ตามที่มีอิทธิพลต่อกองทัพ จำเป็นต้องเพิ่มแรงกดดันและย้ำให้ชัดเจนว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”