คอลัมนิสต์

การทูตเพื่อนเก่า "ทักษิณ" พบ "มินอ่องหล่าย" ฟื้นสันติภาพพม่า KNU ส่งสัญญาณรบ

การทูตเพื่อนเก่า "ทักษิณ" พบ "มินอ่องหล่าย" ฟื้นสันติภาพพม่า KNU ส่งสัญญาณรบ

17 เม.ย. 2568

การทูตแบบ "ทักษิณ" เจอเพื่อนเก่า "มินอ่องหล่าย" ฟื้นสันติภาพพม่า ฝ่ายต่อต้าน NUG-KNU เปิดสัญญาณรบ

การทูตแบบ ทักษิณ นัดเจอเพื่อนเก่า มินอ่องหล่าย ฟื้นเจรจาสันติภาพ ฝั่งรัฐบาลเงา NUG จับตาวงดินเนอร์ 3 ผู้นำ

 

ก่อนบินมาไทย มินอ่องหล่าย ปล่อยตัวนักโทษเกือบ 5 พันคน ฉลองปีใหม่พม่า ขณะที่กะเหรี่ยง KNU เปิดยุทธการตัดขาดเมียวดี

ค่ำวันที่ 17 เม.ย. 2568 ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ได้พบปะหารือกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน

โดยมีแขกพิเศษเข้าร่วมวงดินเนอร์ด้วย คือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)

ก่อนเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้ง “มิน อ่องหล่าย” ได้ลงนามในนามรัฐบาลทหารนิรโทษกรรมนักโทษ 4,893 คน เพื่อเข้าร่วมกระบวนการสร้างชาติ เพื่อฉลองเทศกาลปีใหม่ของประเทศเมียนมา

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารยังลดโทษลง 1 ใน 6 สำหรับนักโทษทั่วไป ยกเว้นผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรง และการก่อการร้าย

การทูตเพื่อนเก่า


ย้อนไปต้นเดือน มี.ค. 2564 ทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ วู้ดซั่ม ได้พูดคุยผ่านคลับเฮาส์ว่าด้วยการดีลกับรัฐบาลทหารเมียนมา

“ผมรู้จักมักคุ้นกับทหารมานาน เพราะตันฉ่วยเป็นเคาเตอร์พาร์ทมาหลายปี ขอความร่วมมือก็ยอมทุกอย่าง พวกนี้กลัวเช็คบิลก็เลยสืบทอดอำนาจ เหมือนบ้านเรานี่แหละ..”

อดีตนายกฯ ทักษิณ มีสัมพันธ์อันดีกับคณะทหารเมียนมา มาตั้งแต่สมัยนายพลตันฉ่วย จนมาถึงยุคนายพลมินอ่องหล่าย

ช่วงที่ใช้ชีวิตในต่างแดน เมื่อ 18 เม.ย. 2556 ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ได้เข้ารดน้ำปีใหม่พม่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่บ้านพักในเมืองปยินอูลวิ่น (เหม่เมี้ยว)

เมื่อกลับเมืองไทย อดีตนายกฯ ทักษิณ ได้เกมการทูตใต้ดิน เพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยพูดคุยหารือกับตัวแทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) รวมถึงตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่ม

ถ้ายังจำกันได้ ทักษิณใช้จังหวะที่ไปเยี่ยมบ้านเกิดเชียงใหม่ช่วงสงกรานต์ปี 2567 นัดพบกับตัวแทนพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

ต่อมา ทักษิณนัดคุยกับตัวแทนสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่กรุงเทพฯ

เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดปากพูดเป็นครั้งแรกว่า ได้คุยกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC เพราะอยากเห็นความสันติสุขเกิดขึ้นในเมียนมา

“ผมก็ได้บอกกับทุกประเทศมหาอำนาจว่า ประเทศไทยอยากเห็นเมียนมายุติความขัดแย้ง และหากไม่มีการพูดคุยกัน ก็ไม่สามารถเปิดหนทางในการเจรจาได้”

อดีตนายกฯ ทักษิณ ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเปิดเวทีให้มีการเจรจาสันติภาพในเมียนมา

ภาพเก่า ในวันที่ทักษิณ พบกับมินอ่องหล่าย ที่บ้านพักเมื่อปี 2556

กะเหรี่ยงชิงรบยึดเมียวดี


ทันทีที่มีข่าว “มินอ่องหล่าย” จะเดินทางมาพบทักษิณ และนายกฯ อันวาร์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) ร่วมกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ อาทิเช่นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ,พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) ชิงออกแถลงการณ์ด่วนเรื่อง พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย จะมาพูดคุยกับนายกฯอันวาร์ในเมืองไทย

“เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งที่ผู้นำอาเซียนได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้นำกองทัพภายใต้ข้อ อ้างในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บุคคลผู้นี้รับผิดชอบต่อการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทุกวัน”

รัฐบาล NUG อ้างว่า รัฐบาลทหารเมียนมา เหลือพื้นที่ควบคุมเพียง 22% ของทั้งประเทศเท่านั้น

เวลาเดียวกันนั้น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ได้เข้าโจมตีทหารพม่า บก.ควบคุมยุทธการที่ 12 บริเวณพื้นที่ อ.กอกาเร็ก จ.กอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยง

อ.กอกาเร็ก จ.กอกาเร็ก เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์บนเส้นทางหลวงเอเชีย (AH-1) โดยกะเหรี่ยง(KNU) มีเป้าหมายยึดถนนสายนี้ เพื่อตัดขาดเมืองเมียวดี และป้องกันทหารพม่าบุกมายึดคืนในอนาคต