
ศึกสี่แคว "ธนาธร" ฝันเทศบาลสีส้มล้ม “จิตตเกษมณ์” สะท้านบ้านใหญ่ปากน้ำโพ
ศึกมังกร 2 สีสี่แคว "ธนาธร" ตั้งเป้าล้ม "จิตตเกษมณ์" ทายาทถาวรฟาร์ม ที่ยึดเทศบาลปากน้ำโพ นานกว่า 40 ปี
ศึกปากน้ำโพ ธนาธร สานฝันเทศบาลสีส้ม ตั้งเป้าล้ม จิตตเกษมณ์ หยุดการผูกขาดนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์
ย้อนรอยมังกรปากน้ำโพ ค่ายถาวรฟาร์ม จากรุ่นสู่รุ่น ยึดเทศบาลนครสวรรค์ ยาวนานกว่า 40 ปี
สมรภูมิเลือกตั้ง “เทศบาลนคร” พรรคประชาชน ส่งผู้สมัครนายกฯ 16 แห่ง และเทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นสนามที่ผู้นำจิตวิญญาณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คาดหวังสูง
มังกรแซ่จึง เลือก “เฮียซัว” วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ลงสนามชน “นายกตูบ” จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ อดีตนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ 4 สมัย
จากปี 2523 จนถึงปี 2568 เทศบาลนครนครสวรรค์ ตกอยู่ใต้การบริหารของบ้านใหญ่ถาวรฟาร์ม หรือตระกูล “นิโรจน์” เป็นเวลา 45 ปี
การเลือกตั้งนายกเล็กปากน้ำโพ ในวันที่ 11 พ.ค. 2568 จะให้คำตอบว่า มังกรถาวรฟาร์ม หรือมังกรสีส้ม จะเป็นผู้ชนะ
มังกรส้มปากน้ำโพ
การเลือกตั้ง สส.นครสวรรค์ เมื่อ 14 พ.ค. 2566 เฉพาะเขต 1 อ.เมืองนครสวรรค์ “ป๊อป” กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี พรรคก้าวไกล หักปากกาเซียนชนะ ภัทราวดี นิโรจน์ ทายาท ภิญโญ นิโรจน์ อดีต สส.นครสวรรค์ หลายสมัย
ช่วงหาเสียง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มาเปิดเวทีปราศรัยหลายครั้ง และได้สร้างปรากฏการณ์หัวคะแนนธรรมชาติ ทำให้ “ป๊อป” เป็นมังกรส้มปากน้ำโพคนแรก
ก่อนจะเล่นการเมือง ป๊อปได้ก่อตั้ง หจก.นครสวรรค์อินเตอร์โฮม ทำธุรกิจจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จภายใต้ชื่ออินเตอร์โฮมคอนกรีต
ชัยชนะของพรรคสีส้มในเขต อ.เมืองนครสวรรค์ ส่งผลสะเทือนถึงการ เมืองท้องถิ่น แม้เลือกตั้งนายก อบจ.นครสวรรค์ พรรคประชาชนไม่พร้อมส่งผู้สมัคร แต่สนามนายกเล็ก มีความพร้อมเต็มที่
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาเปิดตัว “เฮียซัว” วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ในนามทีมเทศบาลประชาชนที่ ร้านอาหารเซ่งฮะ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568
ภายในงานวันนั้น ธนาธรย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเมืองร่วมกับภาคธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจนครสวรรค์
จะว่าไปแล้ว ธนาธรให้ความสนใจในสนามการเมืองท้องถิ่นนครสวรรค์ ตั้งแต่นำคณะก้าวหน้าลุยเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2563 ซึ่งสนามปากน้ำโพ ก็มีผู้สมัครคณะก้าวหน้าลงสนาม แต่พ่ายแพ้
จะว่าไปแล้ว ต้นทุนพลังสีส้มที่ธนาธร มาลงทุนลงแรงไว้ ได้ผลิดอกออกผลในการเลือกตั้ง สส.นครสวรรค์ ปี 2566 และธนาธรก็คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งนายกเล็กปากน้ำโพ
การปรากฏตัวของธนาธร ก่อให้กระแสข่าวทำนองว่า “อย่าเลือกพรรคสังกัดเลย เดี๋ยวถูกครอบงำ..คนจากกรุงเทพฯ จะเข้าใจปัญหาในพื้นที่จริงหรือ”
มังกรรุ่นเก่า-ถาวรฟาร์ม
60 กว่าปีที่แล้ว ถาวร นิโรจน์ ทำมาค้าขายอยู่ในตลาดปากน้ำโพ และมีกิจการเดินรถ สายตลาดปากน้ำโพ-ลาดยาว จากนั้น ได้มาทำฟาร์มเลี้ยงไก่ “ถาวรฟาร์ม” และพัฒนามาเป็นบริษัทถาวรฟาร์ม สัมปทานวิ่งรถโดยสารทั่วภาคเหนือ
ปี 2523 ถาวร นิโรจน์ รวมทีมการเมืองท้องถิ่นเป็น “กลุ่มพัฒนาบ้านเมือง” ลงสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครสวรรค์ โดยชนะยกทีมติดติดกัน 5 สมัย
ปี 2547 ถาวร นิโรจน์ วางมือ(ถาวร เสียชีวิตเมื่อปี 2551) ได้ส่งต่อให้ลูกชาย จิตตเกษม นิโรจน์ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลเป็น จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ แต่คนปากน้ำโพรู้จักในนาม “นายกตูบ”
ปี 2564 การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครสวรรค์ และสมาชิกสภาเทศบาลฯ “นายกตูบ” จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ ชนะคู่แข่งขาดลอย พร้อมนำลูกทีมพัฒนาบ้านเมือง ชนะยกทีม ทั้ง 4 เขต
สำหรับการเลือกตั้งนายกเล็กปากน้ำโพหนนี้ “นายกตูบ” ต้องออกแรงหาเสียงอย่างหนัก ทั้งออกเดินเคาะประตูบ้าน และใช้สื่อใหม่ เพราะต้องสู้กับคนรุ่นใหม่ พรรคประชาชน
เหนืออื่นใด “เฮียซัว” วรวุฒิ ตันวิสุทธิ์ จากค่ายสีส้ม ก็เป็นคนกันเอง เคยทำงานร่วมกันมาก่อน
สนามนายกเล็กปากน้ำโพ จึงเป็นการต่อสู้ของการเมือง 2 แนวทางคือ “ท้องถิ่นนิยม” และ “เทศบาลประชาชน”