
ปิ๊กเชียงใหม่ “ทักษิณ” วางกลยุทธ์ “พิชัย-อัศนี” ตอกเสาเข็มท้องถิ่นต่อยอด สส.
หยุดพรรคสีส้ม “ทักษิณ” กระชับเชียงใหม่ “พิชัย-อัศนี” คู่ขนาน อบจ.และเทศบาลนคร ปูทางสู่เลือกตั้ง สส.ปี 2570
ปิ๊กบ้านเจียงใหม่ ทักษิณ กระชับอำนาจท้องถิ่น พิชัย-อัศนี คู่ขนาน อบจ.และเทศบาลนคร ปูทางสู่เลือกตั้ง สส.ปี 2570
ย้อนสมรภูมิเทศบาลเจดีย์ขาว จากประชาสันติ ยุคพ่อเลิศ สู่เพื่อไทยนครเชียงใหม่ ทักษิณหวังฟื้นศรัทธามหาชน
วันที่ 26 เม.ย. 2568 ทักษิณเดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัว และช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ “ไม่ใช่แค่บ้านเกิด แต่คือหัวใจของผม” อดีตนายกฯทักษิณ เคยกล่าวไว้ในอดีต ฉะนั้น นับแต่กลับเมืองไทยเมื่อกลางปี 2566 ทักษิณปิ๊กบ้านแล้วหลายครั้ง
ช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ทักษิณมาขึ้นเวทีปราศรัยที่เชียงใหม่ 2 รอบ เพื่อช่วย “นายกฯก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร จนได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ สมัยที่ 2
นายกฯ ก๊อง จึงเป็นแม่งานพิธีสระเกล้าดำหัวบายศรีสู่ขวัญล้านนาแก่อดีตนายกฯทักษิณ ที่สวนสาธารณะรถไฟ อบจ.เชียงใหม่
วันที่ 15 เม.ย. ปีที่แล้ว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเจ้าภาพจัดพิธีสระเกล้าดำหัวบายศรีสู่ขวัญล้านนาให้อดีตนายกฯทักษิณ ที่บ้านพักเจ๊แดง ในหมู่บ้านกรีนวัลเล่ย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ปีนี้ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร บอกว่า ไม่ได้เน้นพิธีการ เป็นงานมหาชน จึงจัดในสวนสาธารณะรถไฟฯ แต่ก็มีนักการเมือง ข้าราชการมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และคนเสื้อแดงแห่เข้าคิวรดน้ำดำหัวอดีตนายกฯทักษิณ
เหนืออื่นใด ภารกิจกลับเชียงใหม่หนนี้ ไม่ใช่อยู่ที่การรดน้ำดำหัว แต่เป็นการรับบทผู้ช่วยหาเสียง อัศนี บูรณุปกรณ์ ในสมรภูมิเทศบาลนครเชียงใหม่
ตอกเสาเข็มท้องถิ่น
สองปีมานี้ บริบทการเมืองเชียงใหม่เปลี่ยน ไม่ใช่เมืองหลวงภาคเหนือของพรรคเพื่อไทยเหมือนช่วงปี 2544-2562
เมื่อพรรคประชาชน ได้รับความนิยมจากคนเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เพื่อไทยชนะประชาชนแค่หลักหมื่น
ดังนั้น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเยาวภา ชินวัตร จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็น อัศนี บูรณุปกรณ์ เพราะเกรงว่าจะแพ้ผู้สมัครจากพรรคประชาชน
เดิมที อัศนี บูรณุปกรณ์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดตัวลงสนามในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมไปแล้ว แต่เจ๊แดงและนายกฯก๊อง ได้เจรจาขอให้สวมเสื้อเพื่อไทย
ด้วยเหตุนี้ อดีตนายกฯทักษิณ จึงจะขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วย อัศนี บูรณุปกรณ์ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส ช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 27 ม.ค. 2568
พรรคเพื่อไทยได้บริหาร อบจ.เชียงใหม่แล้ว หากได้ดูแลเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็จะเป็นการตอกเสาเข็มการเมืองท้องถิ่น เพื่อต่อยอดในการทวงคืนเก้าอี้ สส.เชียงใหม่จากพรรคประชาชน
ชินวัตรกับการเมืองเชียงใหม่
คำว่า “เชียงใหม่ไม่ใช่แค่บ้านเกิด แต่คือหัวใจผม” ของทักษิณ ยังหมายถึงเส้นทางการเมืองตระกูลชินวัตร ที่เริ่มจากท้องถิ่นเทศบาลเชียงใหม่เช่นกัน
ก่อนปี 2510 เลิศ ชินวัตร บิดาของทักษิณ ขยับจาก อ.สันกำแพง เข้ามาทำธุรกิจในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมหุ้นทำโรงหนังศรีวิศาล และโรงหนังชินทัศนีย์ พร้อมกับซื้อกิจการรถเมล์ในเมืองเชียงใหม่
เลิศ ชินวัตร กับปรีดา พัฒนาถาบุตร ยังร่วมมือกันก่อตั้งกลุ่มประชาสันติ ส่งผู้สมัคร สท.และเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่
ปี 2511 เลิศยังได้เข้าร่วมกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ เจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ และ ปรีดา พัฒนถาบุตร เป็นเลขานุการฯ
การเลือกตั้งท้องถิ่นหนนั้น กลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้าประสบความสำเร็จ เลิศ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขต อ.สันกำแพง และเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่
การเลือกตั้ง 12 ม.ค. 2512 เลิศ ชินวัตร ได้ลงสมัคร สส.เชียงใหม่ ในนามผู้สมัครอิสระ
ปี 2519 เลิศวางมือทางการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ โดยสังกัดกลุ่มประชาสันติ
เยาวลักษณ์ ชินวัตร ถือว่าเป็นทายาทคนแรกของพ่อเลิศ ที่ลุยสนามการเมือง ก่อนที่ทักษิณ เยาวภา พายัพ และยิ่งลักษณ์ จะเดินตามพี่สาวในช่วงทศวรรษ 2540