"บ้านหมุน" อาการที่ไม่ควรมองข้าม อาจนำไปสู่โรคร้าย
"บ้านหมุน" อาการที่ไม่ควรมองข้าม อาจนำไปสู่โรคร้าย
อาการเวียนศีรษะ "บ้านหมุน" เป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยปรับการทรงตัวและสมดุลของร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นจึงทำให้มีอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกโลกหมุน ผู้ป่วยเองจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุนรอบ ๆ ตัวเองหรือตัวเองหมุนหรือรู้สึกโคลงเคลง บางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหู ร่วมด้วยได้ โดยอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ บางคนอาจมองอาการ บ้านหมุน เป็นเรื่องธรรมดาของช่วงวัย แต่บางครั้งอาการเวียนศีรษะก็เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นให้ทราบถึงโรคอื่น ๆ ได้
อาการ บ้านหมุน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
เกิดความผิดปกติของอวัยวะการรับรู้ในหูชั้นในจากโรคต่าง ๆ พบว่าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการเวียนศีรษะ เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำและแรงดันที่อยู่ภายในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ และการได้ยินลดลง โรคประสาทการทรงตัวอักเสบ หรือประสาทหูชั้นในอักเสบ เป็นภาวะของประสาทหูชั้นในอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งการอักเสบของหูชั้นรอบ ๆ เส้นประสาทนี้จะส่งผลต่อระบบการทรงตัวของร่างกาย เป็นต้น ส่วน สาเหตุอื่นของอาการบ้านหมุนที่พบได้ไม่บ่อย เช่น การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน การบาดเจ็บที่ศีรษะและบริเวณคอ โรคไมเกรน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการ บ้านหมุน
เนื่องจากอาการบ้านหมุนมีความซับซ้อน แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย สอบถามอาการ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด มีการตรวจหู ตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตาในลักษณะต่าง ๆ ตรวจระบบการทรงตัวของร่างกาย หรือทดสอบการทำงานของอวัยวะการทรงตัวด้วยการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แพทย์อาจตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม ทั้ง ตรวจการได้ยิน , ตรวจการทรงตัว , ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน และ ตรวจสมอง เพื่อหาสาเหตุของอาการบ้านหมุน ด้วยวิธีต่าง ๆ
เมื่อเริ่มมีอาการ บ้านหมุน สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้
- เคลื่อนไหวศีรษะอย่างช้า ๆ และระมัดระวังขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
- เมื่อเริ่มมีอาการเวียนศีรษะควรนั่งพักทันที
- นอนโดยให้ศีรษะยกขึ้นสูงเล็กน้อยหรืออาจใช้หมอนหนุน 2 ใบ
- นอนพักผ่อนในห้องที่เงียบและมืดสนิทเพื่อบรรเทาอาการเวียนศีรษะ
- หากตื่นนอนขึ้นกลางดึกควรเปิดไฟค่อย ๆ ลุกออกจากเตียงอย่างช้า ๆ
- หลังตื่นนอน โดยอาจนั่งพักที่ขอบเตียงสักครู่ก่อนลุกขึ้นยืน
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงในการเดินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เพราะความวิตกกังวลอาจทำให้อาการบ้านหมุนแย่ลงได้
- ไม่เงยศีรษะมากเกินไปขณะเอื้อมหยิบของที่อยู่สูง
- ไม่โน้มตัวลงเพื่อก้มเก็บของ โดยอาจค่อย ๆ นั่งย่อตัวลงเพื่อเก็บของแทน
นอกจากนี้ เราควร หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ซึ่งมีสารที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในได้น้อยลง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ไม่รีบร้อนหรือทำอะไรที่รวดเร็วเกินไป ระวังการลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุรุนแรงกับศีรษะและสมอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่ควบคุมระบบการทรงตัวภายในหูชั้นใน และไม่ควรรับประทานอาหารที่เค็มมากเกินไป เนื่องจากความเค็มอาจส่งผลให้มีน้ำคั่งในร่างกาย และในหูชั้นในมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้