สังคมเข้มแข็ง

"ก๊าซเรือนกระจก" วิกฤตสิ่งแวดล้อม เดินหน้า คาร์บอนเครดิต สู้โลกร้อน

"ก๊าซเรือนกระจก" วิกฤตสิ่งแวดล้อม เดินหน้า คาร์บอนเครดิต สู้โลกร้อน

27 พ.ย. 2565

"ก๊าซเรือนกระจก" วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกกับภาระ Net Zero ไทยปักหมุดเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน 30 ปี เดินหน้าส่งเสริม คาร์บอนเครดิต สู้โลกร้อน

ในสภาวะที่โลกกำลังถูกทำร้าย เกิดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ออกไปบนชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจกับการออกมาตรการ และกำหนดแนวทางร่วมกันในการลดการเกิด "ก๊าซเรือนกระจก" โดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บออนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ 

 

สำหรับประเทศไทย มีนโยบายและเป้าหมายในการลดภาวะการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ที่กำลังกลายเป็นปัญหาหลักของโลก โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุข้อมูล และแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีตัวการคือคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ ว่า แนวทางที่จะดำเนินการนั้น เป็นแนวทางที่ได้นำเสนอในที่ประชุม COP 27 ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศอียิปต์  

 

 

มีการประกาศจุดยืนร่วมมือประชาคมโลก ควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) ในที่ประชุมมีทั้งหมด 93 ประเทศ ที่พร้อมจะทำ Net Zero คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ 

 

โดยในที่ประชุมไทยประกาศเจตจำนง พร้อมกับเป้าหมายที่จะลดการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ได้แก่ 

 

1. ยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ เช่น 

 

  • เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด เดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) (เร็วขึ้น 5 ปี) 
  • เป็นกลางทางคาร์บอน เดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) (เร็วขึ้น 15 ปี) 
  • ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็น ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) (เร็วขึ้น 35 ปี) รวมทั้งการระบุประเด็นที่ไทยต้องการรับการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่มี และความช่วยเหลือในเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

 

2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เช่น เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลง ร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนประเด็นการดำเนินงานของไทย มีการเพิ่มเติมรายงานข้อมูล การปล่อย/การดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ และเพิ่มเติมผลสำเร็จเรื่องอื่น 

 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม COP 27 ประเทศภาคีเครือข่ายยังได้มีการหารือในเรื่องการทำ คาร์บอนเครดิต โดยมีแนวทางคือการแลกเปลี่ยน คาร์บอนเครดิต กันระหว่างประเทศ หากประเทศใดมี คาร์บอนเครดิตเหลือ ก็สามารถแบ่งให้แก่ประเทศอื่นได้ รวมไปถึงการตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

climate change
 

สำหรับประเทศไทยเอง ที่ผ่านมาได้มีแนวทางการทำ Net Zero ที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการทำ คาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างมาก ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคพลังงาน เริ่มหันมาให้ความสนใจการทำ คาร์บอนเครดิต กันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก"

 

ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม แต่จะต้องไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีการทำ คาร์บอนเครดิต เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายภาคอุตสาหกรรม เริ่มดำเนินการทำ คาร์บอนเครดิต  โดยการปลูกต้นไม้ และเก็บสะสม คาร์บอนเครดิตเอาไว้กันเอง 

 

climate change

 

ในอนาคต ประเทศไทยต้องการที่จะส่งเสริมกลไกลการลงทุนในการทำ คาร์บอนเดรดิต ให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคพลังงานบริการต่าง ๆ โดยการส่งเสริมให้ระดับระดับท้องถิ่นสามารถทำ คาร์บอนเครดิต ให้เพียงพอความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากขณะนี้ การทำคาร์บอนเครดิตยังมีอยู่น้อยมาก ประชาชนทั่วไปไม่สามารถดำเนินการเองได้ เนื่องจากการทำคาร์บอนเครดิต จะต้องมีการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบปริมาณเนื้อไม้ ปริมาณคาร์บอนเครดิต ที่สามารถทำได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

 

ดังนั้น ทาง อบก.จึงจะต้องมีแนวทางในการสนับสนุนการทำ คาร์บอนเครดิต ในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนต่อไป รวมไปถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำ Net Zero 

 

ปลูกต้นไม้

 

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

 

คาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ "ก๊าซเรือนกระจก" สู่สิ่งแวดล้อมเนื่องจากการที่บุคคล หรือองค์กรได้ดำเนินโครงการ หรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้ สามารถวัดปริมาณ และสามารถนำไปซื้อขาย ในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิด 

 

โดยที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ได้ ซึ่งขณะนี้ราคา คาร์บอนเครดิต ตามโครงการ T-VER เฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะช่วยในการจูงใจภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย ให้หันมาลดการปล่อยก๊าซแต่พอดี ในกระบวนการผลิตสินค้าของตนเอง ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้ด้วย