เกณฑ์วัดไฟฟ้าดับแบบใหม่ 1 ปีดับไม่เกิน 0.7 วัน รับ 'รถยนต์ไฟฟ้า' พลังงานสะอาด
สนพ.หนุนใช้เกณฑ์ LOLE วัดความมั่นคงไฟฟ้า รองรับความต้องการชาร์จ "รถยนต์ไฟฟ้า" พลังงานสะอาด กพช.เห็นชอบเกณฑ์ไฟดับไม่เกิน 0.7 วัน/ปี หรือ 16.8 ชั่วโมง/ปี
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือ รถEV ในประเทศมากขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในปี 2566 คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ใกล้เคียงกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เนื่องจากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19
กระทรวงพลังงาน ได้มีการเตรียมความพร้อมในหลายด้านเพื่อให้การผลิตไฟฟ้าในประเทศสามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคประชาชนโดยเฉพาะความต้องการใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า" และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ โดยในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ (พีดีพี 2030) ที่จะใช้ในปี 2566 –2580
ดังนั้นกระทรวงพลังงานได้มีแนวคิดในการนำเอาดัชนีโอกาสเกิด ไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation) หรือ LOLE มาใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ แทนเกณฑ์เดิมที่เคยใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากรูปแบบการผลิตและใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยไม่เหมาะสมที่จะนำเอาค่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมาใช้ในการวัดความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศอีกต่อไป
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ LOLE อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรูปแบบการใช้และการผลิตไฟฟ้าคล้ายกับประเทศไทยในอนาคต เช่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
สำหรับข้อดีของ LOLE คือสามารถที่จะใช้วัด ความมั่นคงด้านไฟฟ้า ของประเทศได้ทุกช่วงเวลาตลอดทั้งปี มีค่าที่กำหนดชัดเจนที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเห็นถึงความมั่นคงของระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศซึ่งทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันผ่านการพิจารณาทั้งทางเทคนิคและวิชาการ ซึ่งค่า LOLE ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานจะสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างไม่ว่ารูปแบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยจะเริ่มมีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้ามากขึ้นทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งลม แสงอาทิตย์ ซึ่งมีความผันผวนของการผลิตพลังงานในแต่ละช่วงเวลา ขณะเดียวกันในส่วนของพฤติกรรมของผู้ใช้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต เช่น ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมบางสาขาที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% ในการผลิตไฟฟ้า เช่น ธุรกิจดาต้าเซนเตอร์
รวมทั้งการใช้ รถEV ของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีความต้องการชาร์จ "รถยนต์ไฟฟ้า" ในช่วงเวลากลางคืน มากขึ้น ซึ่งทำให้ช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) นั้นเปลี่ยนไปอยู่ในช่วงกลางคืนก็จะไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าในภาพรวม เนื่องจากมีการกำหนดค่า LOLE ที่สามารถวัดความมั่นคงไฟฟ้าได้อย่างเป็นมาตรฐานตลอดเวลา ต่างจากการใช้การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีความไม่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลาสูง
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการเสนอแนวทางการใช้ LOLE เป็นค่ามาตรฐานในการวัดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจะใช้ในการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยหลักเกณฑ์นี้ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้ว โดยดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่ กพช.เห็นชอบนั้นอยู่ที่ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือเท่ากับ 16.8 ชั่วโมงต่อปี หรือว่าอัตราการเกิด ไฟฟ้าดับ ทั้งประเทศรวมกันภายในหนึ่งปีแล้วต้องไม่เกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้
ซึ่งตัวเลขในระดับที่กำหนดไว้ถือว่ามีความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศเพียงพอ และสามารถช่วยสร้างความมั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และประชาชนที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและดำเนินชีวิตประจำวัน