สังคมเข้มแข็ง

'วราวุธ'​ เร่งคลอดกม.สภาพภูมิอากาศ​ คุมเอกชนปล่อยก๊าซเรือนกระจก​

'วราวุธ'​ เร่งคลอดกม.สภาพภูมิอากาศ​ คุมเอกชนปล่อยก๊าซเรือนกระจก​

30 มี.ค. 2566

'วราวุธ​ ศิลปอาชา'​ รมว.ทรัพยากรฯ​ เร่งคลอดกฎหมายคุมคาร์บอน​ภายในปีนี้ เดินหน้า​ 'Go​ Green'​ ร่วมเอกชนคือทางรอด เชื่อศักยภาพคนไทย​ ถ้าร่วมมือกันทำได้

"นายวราวุธ ศิลปอาชา" รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​  กล่าวปาฐกถาพิเศษ​ "Go​ Green​ : Thailand Roadmap" บนเวทีสัมมนา "Go Green" 2023 : Business Goal to the Next Era  จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเครือเนชั่น​ กรุ๊ป

 

นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

"นายวราวุธ" ​ เล่าด้วยสีหน้าจริงจัง​ และท่าทางกระฉับกระเฉง​ ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ (Climate​ Change)​  ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม​ ทั้งปัญหาน้ำท่วม แห้งแล้ง สลับน้ำท่วม แล้งมาก​ (เอลนิโญ่)​  น้ำมาก​ (ลานีญ่า)​ ในเวลาอีก 2 ปีข้างหน้ารัฐบาลที่จะเข้ามา​ เป็นการแก้ปัญหาภัยแล้ง หลังจากนั้นเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม​

 

 

"ประเทศไทยมีความเปราะบาง เป็นประเทศที่ปล่อย​"ก๊าซเรือนกระจก" อันดับ 19 ของโลก​ แต่ได้รับผลกระทบในเรื่องภัยพิบัติติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก​ ทั่วโลกให้ไทยลดก๊าชเรือนกระจกให้ได้ภายใน​ปี​ 2608  (ค.​ศ.​ 2065)​ หรืออีก 42​ ปี​ เราพยายามขอถึงปี​ 2633  (ค.ศ.2090)​ แต่เขาไม่ให้" นายวราวุธ กล่าว

 

 

นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ บนเวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era  จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเครือเนชั่น​ กรุ๊ป

 

 

ทว่า​ภายในปี​ 2573 ต้องลดให้ได้​ 40% หมายความว่า​ จากนี้ไปอีก 7 ปี ภาคพลังงานและภาคขนส่งต้องเจอภาระหนักสุด ซึ่งภาคพลังงานมีไม่ถึง 10 บริษัท แต่ภาคการเกษตรมีที่นา 60 ล้านไร่ ตั้งเป้า​ "ลดคาร์บอน" 1 ล้านตัน​ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนโฉมการทำนา เปลี่ยนเป็นแบบเปียกสลับแห้ง หมายถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF)​ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมส่งภารกิจลดภาระเรือนกระจก​

 

 

“อุบัติการณ์ของ​ "คาร์บอนเครดิต" ที่เกิดขึ้น กับคำถามที่ว่าฟอกเขียวหรือเปล่า ฟอกเขียวแล้วไง บริษัทใหญ่ๆ  สร้างขึ้นทั้งนั้น มาถึงวันนี้ก็ต้องจ่าย ต้องมาชดเชยให้เกษตรกร เพราะเขาได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมของพวกคุณจะว่าฟอกเขียวอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องมาช่วยกัน”  นายวราวุธ​ กล่าว

 

 

สภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร

 

"นายวราวุธ" ​ ย้ำอีกว่า​ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Low Carbon Society ไม่ใช่ภาระ แต่คือโอกาสทางธุรกิจ คือวิธีที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดไปถึงศตวรรษต่อไปได้​

 

 

หลังจากนี้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ​การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎหมายเปลี่ยนจากภาคสมัครใจ มาเป็นภาคบังคับ มีกำหนดร่างเสร็จเดือนเมษายน พร้อมเสนอปลายปีนี้​

 

 

"เราไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่เปลี่ยนวิธีทำ ต่อให้เลือกตั้งเปลี่ยนผู้นำกี่ครั้งก็จะยังไม่ไปไหน ผลักดันทั้งภาครัฐและเอกชน ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน​ (BOI)​ ในการอำนวยความสะดวกทางภาษี มีกองทุนปกป้อง​"สภาพภูมิอากาศ" ระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต่อประเทศไทย"  นายวราวุธ​ กล่าว

 

 

อีกทั้ง​ จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 545 คน โดยไม่จ้างคนเพิ่ม ไม่ใช้งบเพิ่ม เป็นการจัดสรรภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

"Go  Green​ จะเอามาเปลี่ยนโลกใบนี้​ ไทยทำได้แน่นอน​ ถ้าทำไม่ได้​ ตายแน่นอน ​"Go Green​"  คือทางรอดของประเทศไทย​ ผมเชื่อในศักยภาพคนไทย​ แค่เปลี่ยนวิธีคิด​ เปลี่ยนวิธีทำ​ ถ้าทำด้วยกันทำได้แน่นอน" นายวราวุธ​ กล่าวในที่สุด​