สรุปแผนแก้ปัญหา 'การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' ปี 2573 คาร์บอนต้องลด
สรุปแผนแม่บทแก้ปัญหา 'การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' ตั้งเป้า 9 ปีต้องลดปล่อยคาร์บอนเหลือ 19% เป้าระยะยาวปี 2593 ต้องเป็น 0%
วิกฤต "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ และพร้อมใจที่แก้ปัญหาเพื่อให้ไม่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จนกระทบต่อสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์บนบก และในน้ำ จนในที่สุดอาจจะนำมา ซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวิภาพ (Biodiversity)
ที่ผ่านมา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ได้เริ่มส่งสัญญาณมายังโลกใบนี้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุณภูมิอากาศที่ร้อนจัดจนเกิดคลื่นความร้อน monster heat wave asia หรือความรุนแรงของพายุที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่ จึงต้องมีการกำหนดแผนเพื่อลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองหลวงที่มีอัตรามลภาวะทางอากาศสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยมีการกำหนดแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้
- ประชุมถกแก้ปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" นัดแรกในปี 2566
โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เริ่มประชุมคณะทำงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 - 2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Plan on Climate 2021 – 2030) โดยมีการรายงานความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 พร้อมกับความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจำด้วยแบบจำลอง Asia-Pacific Integrated Model (AIM) และรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Carbon Footprint for Organization: CFO) นอกจากนี้เป็นการพิจารณากรอบเนื้อหาสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมหานคร (Bangkok Energy Action Plan) และการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573
- ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 19% ในปี 2573
กรุงเทพมหานครมีแผนแม่บทอยู่แล้วที่จะทำในปี 64 ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ปี 2573 พยายามลดให้ได้ 19% ของ Business as usual หรือ BAU เทียบแล้วประมาณ 13 เมตริกตันต่อปีของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปัจจุบันเราปล่อยอยู่ประมาณ 43 ล้านเมตริกตันต่อปี เป้าหมายจะลดคือจะลด 19% ภายในปี 2573 และปี 2593 จะให้เป็นศูนย์ โดยจะมีกิจกรรมจำนวนมากที่ต้องเร่งดำเนินการ หลักๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมาจาก 4 ส่วน คือการใช้พลังงานทั้งในอาคาร การขนส่ง เรื่องขยะกับน้ำเสีย โดยเราจะชดเชยด้วยต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ก็จะมีทุกภาคส่วน ตั้งแต่เรื่องการจราจร การขนส่งระบบทางราง การขนส่งทางเลือก ทางเดินถนนต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้พลังงานในอาคาร ซึ่งจะอยู่ในมาตรการสนับสนุนให้ใช้อาคารสีเขียว การลดการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ เรื่องขยะมีกระบวนการ เช่น การแยกขยะ การทำโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน
- ชูนโยบายสวน 15 นาที ปลูกต้นไม้ล้านต้น ลดภาวะโลกร้อน
ส่วนเรื่องพื้นที่สีเขียวมีนโยบายการเพิ่มสวนสาธารณะ การปลูกต้นไม้ล้านต้น การทำสวน 15 นาที การดำเนินการเรื่อง Climate Change หรือว่าโลกร้อน ที่มีการร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดัน ทั้งนี้มีกิจกรรมเร่งด่วนที่ กทม. จะต้องดำเนินการ คือ การคำนวณว่าในกรุงเทพมหานคร ในหน่วยงานของเรา มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ที่ผ่านมามีการทำมาตรการใน 3 เขต คือ เขตดินแดง เขตบางขุนเทียน และเขตประเวศ เพื่อที่จะได้รู้ว่าในแต่ละปีกรุงเทพมหานครปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ หากเราสามารถถ้าวัดได้จะช่วยให้ประเมินความสำเร็จได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็มีผลในการทำ เพราะว่าหลายๆ เรื่องเป็นนโยบายรัฐบาลใหม่ เช่น การติดโซล่าเซลล์ตามหลังคาในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมากขึ้น
- นโยบายรัฐบาลชุดใหม่เป็นแนวทางสำคัญ
นโยบายของรัฐบาลใหม่น่าจะเป็นตัวสำคัญ ตอนนี้ต้องมีการเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อหารือกับรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ ที่จะร่วมมือกันในหลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องที่มาจากนโยบายภาพรวมด้วย การใช้รถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาของเรื่อง PM2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยในเมืองเรา แล้วก็ปัญหาเรื่องของพลังงานไฟฟ้าที่เราต้องใช้มากขึ้นในกรณีที่ความร้อน จะเห็นว่า กทม. ก็เจอ Heat Wave ทำให้อุณหภูมิขึ้นสูงมากการทำงานของแอร์ก็จะมากขึ้น เรื่องมาตรการที่จะทำให้กรุงเทพฯ เย็นลง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ทุกคนก็ต้องมาแก้ไขร่วมกัน กทม. มีแผนที่ทำต่อเนื่องมา และก็มีแผนที่ทำต่อเนื่องไป เรื่องสวน 15 นาที และต้นไม้ล้านต้นจึงมีการเพิ่มเติมเข้าไป แต่ต้องมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง และมีการวัดผลเพื่อให้ทราบความก้าวหน้าต่อไป
- วิธีดำเนินการตามแผนแม่บทแก้ปัญหาและรับมือ "climate change"
การดำเนินการในส่วนของเขต ไม่ใช่แค่สำนักงานเขต แต่เป็นเขตพื้นที่ปกครองเลย อย่างเช่น เขตดินแดง การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารแห่งนี้ ของศูนย์อนามัย ของสนามกีฬาเวสน์ คือทั้งหมดตั้งที่อยู่ในเขตนั้น ตั้งเป้าหมายประมาณ 1 ปีถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละพื้นที่มีรูปแบบที่แตกต่างกัน บางพื้นที่อยู่ชายขอบบางพื้นที่อยู่ในตัวเมืองแต่กทม.จะต้งเร่งดำเนนิการให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นนายชัชชาติเห็น่าจะต้องเริ่มที่หน่วยงานของกทม.ก่อน หากสามารถทำข้อมูลได้ว่าปล่อยก๊าซจากไหนการกำกับดูแลก็จะไม่ยาก ส่วนของเอกชนอาจจะมีแรงจูงใจ เช่น เรื่องผังเมือง เรื่องกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น ถ้าเราใช้อาคารสีเขียวอาจจะให้มีเครดิตโบนัส ปัจจุบันมีอยู่แล้วในกฎหมายผังเมือง แต่คนยังไม่ค่อยชอบใช้เพราะว่าการขออนุญาตน่าจะไม่ง่าย ต้องมีการพิสูจน์ว่าประหยัดพลังงานได้จริง