สังคมเข้มแข็ง

ปมร้อน "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ผังนี้เอื้อนายทุนหรือใครได้ประโยชน์?

ปมร้อน "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ผังนี้เอื้อนายทุนหรือใครได้ประโยชน์?

10 ม.ค. 2567

สรุปปมร้อน "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ปรับผังใหม่ครั้งนี้เจอครหาเอื้อนายทุน กับข้อสังเกตหลายจุดประชาชนหรือใครกันแน่ได้ประโยชน์ ดราม่านี้ ชัชชาติ พูดเอง ไม่อยากให้เป็นวาทกรรม

กลายเป็นประเด็นร้อนไปแล้วสำหรับ"ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ หลังจากที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการปรับผังเมืองใหม่ซึ่งจะต้องดำเนินการทุกๆ 5 ปี  ปัจจุบันการดำเนินการปรับ "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ แต่ปมที่ทำให้เกิดความดราม่า คือ  นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ จากพรรคก้าวไกล ได้มีการออกมาแถลงข้อสังเกตเกี่ยวกับ "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ในครั้งนี้ว่ามีหลายจุดที่ไม่สอดคล้องกับความเจริญของเมือง และมีผังเมืองบางประเภทที่ส่อว่าจะเอื้อแก่นายทุน และไม่แก้ปัญหาความเจริญที่กระจุกตัวอยู่แค่พื้นที่ชั้นในเท่านั้น

สำหรับเรื่องราวปมดราม่า "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ในครั้งนี้ คมชัดลึก สรุปให้ ดังนี้ 

 

 

1.กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนผังเมืองฉบับใหม่ หรือที่เรียกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) 2566 เพื่อจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาในปี 2562 ได้มีพระราชบัญญัติการผังเมืองใหม่ ซึ่งกำหนดให้ผังเมืองรวมมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผังเป็น 6 แผนผัง ประกอบด้วย แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำ จึงต้องมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 

 

ผังเมืองใหม่ กทม.

2.ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่ 5 คือการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน จากทั้งหมด 18 ขั้นตอนก่อนที่จะมีการสรุป และประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในราชกิจจานุเบกษา "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ในปี 2568 

 

 

3.ข้อสังเกตุทั้งหมด 6 ข้อจาก นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ จากพรรคก้าวไกล สรุปได้ดังนี้   การรับฟังความเห็นจากประชาชนที่จะต้องมีการแสดงตัวเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางวาจา หากไม่มีการแสดงไว้จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆหลังจากนี้ได้   การวางผังเมืองตามหลังรถไฟฟ้า การเปลี่ยนผังเมือง กทม. ในครั้งที่ 4 หลักการเป็นเพียงเรื่องของการ Upzoningไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่วางผังเมืองหลังจากที่เมืองเจริญเติบโตไปก่อน ผังเมืองสีเขียวมีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และพื้นที่เกษตรกรรม หรือผังสีเขียวฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา, ตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ แต่หากเทียบกับฝั่งตะวันออกยังคงเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเท่านั้น การออกแบบผังเมืองครั้งนี้ไม่มีการกำหนดยุทธสาสตร์ระดับจังหวัด บางพื้นที่มีความย้อนแย้ง การให้เงื่อนไขการให้ FAR Bonus ไม่สร้างประโยชน์ที่ตอบโจทย์พื้นที่ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home), หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะหรือการทำพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอย เพื่อแลกกับ FAR ที่สูงขึ้น  

ผังคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ แลของกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการตัดถนนใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับแผนของกระทรวงคมนาคม ที่ดินทหารเป็นที่ผังสีขาว มีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายผังเมือง ตามผังเมืองกำหนดให้พื้นที่ทหารใน กทม. กว่า 12,900 ไร่ บางส่วนเป็นผังสีขาว ซึ่งหมายถึงสถานะที่อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง ไม่มีเงื่อนไขกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่อย่างใด 

กำหนดพื้นที่สีแดงอย่างไม่มีหลักการ ร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันกำหนดพื้นที่สีแดง (พื้นที่สำหรับการพาณิชย์) กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ที่ได้ผังสีแดงไปนั้น กลับไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย (Sub CBD)  

ผังที่โล่งถูกนับรวมกับสนามกอล์ฟ ผิดเงื่อนไขการใช้ที่ดิน ผังเมืองกำหนดให้ผังที่โล่ง และผังสีเขียวของกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การรับน้ำให้กับพื้นที่ในเมือง เป็นต้น แต่ผังที่โล่งในปัจจุบันได้ไปนับรวมกับพื้นที่ของเอกชนอย่างสนามกอล์ฟเข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างชัดเจน

ผังเมืองใหม่สร้างให้ความเจริญของเมืองเกิดการกระจุกตัว ไม่สามารถลดความแออัดของสังคงเมืองได้ โดยเฉพสะในพื้นที่ชั้นใน และไม่มีแผนรองรับการกระจายคามเจริญ 

 

 

4. กทม.ได้ออกมาชี้แจงว่า "ผังเมืองรวม กทม." ฉบับใหม่ ไม่มีเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด ที่ผ่านมามีการพัฒนา ฟื้นตัว และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโยบายหลักที่อยากทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เมืองที่ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ฯลฯ การปรับผังเมืองจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำสิ่งที่เราอยากให้มีบรรจุในผังเมืองใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนกลุ่มใด หากมีการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับผังสีจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

 

5.ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า ไม่อยากให้ใช้คำว่า ผังเมืองเอื้อประโยชน์นายทุน เพราะเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ขอให้คุยกันด้วยเหตุผลเราพร้อมจะฟังทุกเหตุผล ผังเมืองที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นทำกันมาต่อเนื่อง และพยายามทำให้ดีขึ้น และทุกอย่างที่เพิ่มเติมนักวางผังเมืองต้องมีคำอธิบายว่าทำไมถึงเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้น ฉะนั้นขออย่าให้ใช้คำว่าเอื้อนายทุนเพราะคนที่มีบุญคุณกับเราคือประชาชน เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชนเลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับผังเมืองนั้น การดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง การแก้ผังเมืองสีแดงจุดเดียวไม่ได้ทำให้คนทั้งกรุงเทพฯ ดีขึ้น