'บ้านวังน้ำดำ' วันที่ไร้สารเคมี กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บ้านวังนำดำ จ.ชลบุรี อีกหนึ่งวิถีชุมชนที่หนีจากสารเคมีในการทำเกษตร ก้าวเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสนใจ และสิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือสุขภาพที่ดีขึ้นในวันที่ไร้สารเคมี
ถ้าเอ่ยถึงจ. ชลบุรี คนทั่วไปมึงนึกถึงท้องทะเลและชายหาด แต่น้อยคนนักที่จะได้ไปเรียนรู้วิถีชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่เรียบง่ายค้นพบความสุขในชีวิตจากวิถีเกษตรพอเพียงตามรอยพ่อหลวง อย่างชุมชน 'บ้านวังน้ำดำ' หมู่ 4 ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
'บ้านวังน้ำดำ' เป็นแหล่งท่องเที่ยวแนววิถีธรรมชาติและเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สามารถไปร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนได้ไม่ว่าจะเป็นปลูกผักสลัด ด้วยตนเองในกระถาง กิจกรรมชั่งให้ดี ชั่งให้โดน กิจกรรมโยนข้าว และ เรียนรู้ลักษณะควายสวยงามและควายมงคล ควายไทยสายพันธ์ชลบุรีแท้แต่โบราณ นอกจากนี้ยังสามารถเดินชมสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เรียกได้ว่า 1วัน ได้เรียนรู้วิถีเกษตรอย่างเต็มอิ่ม
นายวิทยา ดำจับ ชาวบ้านในชุมชนบ้านวังน้ำดำ ผู้ริเริ่มนำความรู้เกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในครัวเรือน บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ตนเองเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเก่าหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ว่า เท้าความกลับไปในอดีตครอบครัวตนเองได้ทำธุรกิจฟาร์มไก่ เลี้ยงไก่เป็นหลักหมื่นตัว และปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นร้อยไร่ ต่อมาในปี 2547 เกิดวิกฤตไข้หวัดนกระบาด ทำให้ธุรกิจฟาร์มไก่หยุดชะงักลง จึงได้เริ่มไปศึกษาดูงานกับอ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และได้รับโอกาสเข้าไปศึกษาดูงานในวังสวนจิตรลดา จึงตัดสินใจไม่กลับไปทำฟาร์มไก่ และเกษตรเชิงเดี่ยว เนื่องจากเห็นถึงความสุ่มเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนแรงงาน ราคาปุ๋ย ยา ที่สูงขึ้น ราคาพืชผลตกต่ำ และไม่มีความสุขในการทำเกษตรแบบเดิม จึงมีความคิดริเริ่มที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
ในเริ่มแรกต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งความลังเลใจของตนเอง ทั้งครอบครัว ทั้งชาวบ้านที่มองว่าไม่น่าไปรอด อีกทั้งระแวกชุมชนไม่มีใครทำจึงทำให้กลายเป็นแปลกแยกจากชาวบ้านในชุมชน แต่ด้วยจุดมุ่งหมายในใจที่จะลงมือทำ ที่จะตามรอยพ่อหลวงจึงเป็นแรงใจให้ฮึดสู้ต่อ แม้จะท้อบ้างเพราะรายได้หายไปค่อนข้างมาก เงินที่ได้จากฟาร์มไก่แต่ละครั้งเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก แต่พอมาทำตรงนี้จำนวนรายได้ลดลงมากในตอนเริ่มต้น ต้องขายของเก่าในบ้านมาเป็นทุนต่อยอดกว่าจะเริ่มกลับมาได้ดังเดิม ผ่านความท้อแท้มานับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะมาถึงจุดนี้ใช้เวลานานถึงกว่า 5 ปี
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ในการฝ่าฟัน ชาวบ้านเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของพืชผลที่งอกงาม เริ่มแวะเวียนมาสอบถามขอแบ่งปันปันปุ๋ยอินทรีย์ มูลควายไปจนถึงกิ่งพันธ์เพื่อไปทดลองใช้ และก็เกิดผลที่ตามมาอย่างน่าพอใจจึงกลายเป็นกระแสปากต่อปากออกไปในชุมชน แต่ตนเองก็ยังคงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจากปราชญ์ชาวบ้านที่เก่งๆ เพื่อมาเป็นความรู้และถ่ายทอดไปยังชางบ้านในชุมชนที่เริ่มสนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพราะต้นทุนดำและที่สำคัญช่วยปรับโครงสร้างของดินให้สมบูรณ์
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของชุมชน บ้านวังน้ำดำ คือปัญหาเรื่องสุขภาพที่มาจากการใช้สารเคมี จึงหันมาเรียนรู้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักจากธรรมชาติมากขึ้น หันมาปลูกผักอินทรีย์กันมากขึ้นปรับใช้ตามความเหมาะสมของครัวเรือน
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ความสุขที่เกิดขึ้นแม้จะช้าหน่อย แต่ก็ยั่งยืน ทุกวันนี้มีความสุขในแบบวิถีพอเพียง มีรอยยิ้มในครอบครัว ในชุมชน ไม่ต้องแข่งขันกับใคร นับเป็นความภูมิใจที่วันนั้นตัดสินใจเดินมาทางนี้
ไม่เพียงแค่พี่วิทยาเท่านั้น ที่ค้นพบความสุขจากเกษตรอินทรีย์ในชุมชนนี้ยังมี อร่อยฟาร์ม ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100% โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว
ป้าติ๊ว ขวัญเรือน นูแป เป็นอีกหนึ่งครัวเรือนใน บ้านวังน้ำดำ ที่เปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี หันมาหาการเกษตรแบบอินทรีย์ 100 % เนื่องจากสามีล้มป่วยผลมาจากมีสารเคมีในเลือดสูง นอกจากนี้คนในครอบครัวก็ล้มป่วยด้วย และต้องใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร จึงเปลี่ยนการทำเกษตรปลูกผักแบบใช้สารเคมีมาใช้อินทรีย์แทน
เริ่มเดิมทีป้าติ๊วและครอบครัวเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองในครอบครัว และเริ่มศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์ตามที่ต่างๆ และเริ่มรวมกลุ่มในชุมชนหันมาทดลองทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมกลุ่ม 25 ราย แต่ด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และเห็นผลช้า จิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในการมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปจึงทำให้สมาชิกในกลุ่มบางรายท้อใจและเลิกทำไป
ป้าติ๊วและลุงวิทยา เริ่มแบ่งปันความรู้และวัตถุดิบในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ และเป็นจุดเริ่มต้นในการทำชุมชนท่องเที่ยวนวัตรวิถี บ้านวังน้ำดำ โดยป้าติ๊วทำฟาร์มผักปลอดสารพิษ อร่อยฟาร์ม เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัววิถีเกษตรอินทรีย์ ส่วนลุงวิทยาเป็นแหล่งเรียนรู้อนุรักษ์ควายไทย เปิดให้นักท่องเที่ยวสัมผัสเรียนรู้ควายไทยพื้นบ้าน และท่องเที่ยวสวนป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง นอกจากนี้ชาวชุมชนยังนำสินค้ามาร่วมขายกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว
ไม่เพียงแค่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสุขภาพเท่านั้นที่ดีขึ้น แต่การทำเกษตรอินทรีย์ยังส่งผลให้ป้าติ๊ว มีความสุขและภูมิใจในสิ่งที่ทำด้วยความรัก ยังส่งต่อถึงคนในชุมชนในด้านเศรษฐกิจชุมชน การแบ่งปันการเอื้อเฟื้อกันในชุมชนอีกด้วย
ชมคลิปรายการส่องความเจริญ :: ที่นี่