'วันช้างไทย' 13 มี.ค. TSPCA จัดตรวจสุขภาพ 'ช้าง' และจัดส่งยาในพื้นที่ห่างไกล
13 มี.ค. 'วันช้างไทย' สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) นำโดย ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ จัดโครงการตรวจสุขภาพดูแลรักษา 'ช้าง' จัดยาส่งให้กับช้างที่อยู่จังหวัดห่างไกล
สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้มุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อสาธารณกุศลตลอดมาจวบจนวาระครบรอบ 30 ปี ใน พ.ศ.2567 นี้ และเนื่องในโอกาส “วันช้างไทย” ซึ่งตรงกับ 13 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งจัดตั้งเพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของ ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติและเพื่อให้เกิดจิตสำนึกช่วยกันอนุรักษ์ ช้างไทย TSPCA จึงได้ดำเนินโครงการ “การตรวจสุขภาพและการดูแลรักษาช้าง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดย ดร.น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นผู้นำในการออกตรวจสุขภาพและรักษา ช้างไทย ในจังหวัดต่างๆ
ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 ดร.น.สพ.อลงกรณ์ ได้ทำการรักษาช้างของชาวบ้านรวมทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง จาก ช้าง จำนวนประมาณ 300 เชือก ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งจะหมุนเวียนมาให้คุณหมอรักษาเดือนละ 60-100 เชือก ตามความสมัครใจของควาญช้าง นอกจากนี้ยังได้จัดยาส่งให้กับ ช้างไทย ที่อยู่จังหวัดห่างไกลอื่นๆ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือและปรึกษาอาการความเจ็บป่วยของช้างในการดูแลอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนยาประเภทต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการรักษาช้างจาก บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด เพื่อให้ช้างมีสุขภาพที่แข็งแรง และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพ ช้างไทย รักษา ช้าง ที่เจ็บป่วย ให้ยาป้องกันโรคติดต่อแก่ช้าง ให้ยาถ่ายพยาธิและยาฆ่าเหาช้าง รวมทั้งยาบำรุงสุขภาพช้าง ดังนี้
- มกราคม จำนวน 82 เชือก
- กุมภาพันธ์ จำนวน 112 เชือก
- มีนาคม จำนวน 124 เชือก
- เมษายน จำนวน 98 เชือก
- พฤษภาคม จำนวน 101 เชือก
- มิถุนายน จำนวน 132 เชือก
- กรกฎาคม จำนวน 107 เชือก
- สิงหาคม จำนวน 126 เชือก
- กันยายน จำนวน 94 เชือก
- ตุลาคม จำนวน 75 เชือก
- พฤศจิกายน จำนวน 63 เชือก
- ธันวาคม จำนวน 84 เชือก
สรุปตลอดทั้งปี 2566 ดำเนินการช่วยเหลือช้างไปทั้งสิ้น 1,198 ครั้ง
ในการดำเนินการตรวจรักษานั้น ดร.น.สพ.อลงกรณ์ เน้นการให้ยาป้องกันโรค เนื่องด้วยต้องการเน้นเรื่องการป้องกันโรคเป็นหลักเพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่แต่ถ้าเจ็บป่วยจะใจเสาะยิ่งกว่ามนุษย์และสุนัข การป้องกันโรคที่ดีก็คือ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพในแต่ละเชือก และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันในหมู่ช้าง 300 เชือก ที่ได้ดูแลอยู่ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้จากประสบการณ์กว่า 40 ปี ตั้งแต่ในอดีตที่คุณหมอได้รักษาช้างเร่ร่อนและได้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา โดยมีการปรับปรุงตัวยานำมาปรับเป็นสูตรใช้รักษาอาการช้างแต่ละเชือกอย่างเหมาะสมและต้องใช้เข็มฉีดยา จนทำให้ร่างกายของช้างตอบสนองได้ค่อนข้างดี ซึ่งโรคที่อันตรายและต้องเฝ้าระวัง คือ Avian flu (H5N1) SARS MERS โรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อเฉียบพลัน หรือ EEHV ยาฉีดที่ให้ช้างจะเน้นไปทำให้อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลืองเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคและป้องกันการเกิดโรคติดต่อในระยะยาว ฤทธิ์ยาจะไปเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อเมือกที่บุภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เส้นเลือด และทางเดินอาหาร ทำให้ยากต่อการที่เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายได้ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสมรณะ (EEHV)
ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ช้างที่อยู่ในพื้นที่จำนวนประมาณ 300 เชือก ไม่พบว่ามีอาการของโรคไวรัสมรณะตัวนี้ ส่วนโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ โรคคอบวม หรือ โรคโลหิตเป็นพิษ (HS) ก็ไม่พบว่ามีการติดต่อในช้างเช่นกัน สุขภาพของช้างโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี