
เอกเขนกดูหนัง:'Cinderella'
20 มี.ค. 2558
'Cinderella' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ด้วยสถานะหนังฮิตเรื่องล่าสุดจากค่ายดิสนีย์ ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแนะกระแหนว่า เจ้าหญิงรองเท้าแก้วฉบับ 2015 นอกจากจะไม่มีการตีความขบคิดแง่มุมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับเทพนิยายคลาสสิกเรื่องนี้แต่อย่างใด แล้ว ซ้ำร้ายหนังยังเดินตามรอยต้นฉบับการ์ตูนแบบเป๊ะๆ ชนิดฉากต่อฉาก ตัวละครแต่ละตัว รายละเอียดแทบจะทุกเม็ด กระทั่งเสื้อผ้ายังมีลวดลายเดียวกัน สีสันก็ยังคล้ายคลึง เป็นซินเดอเรลล่า ที่ไม่ได้มีความแปลกใหม่ชวนให้ค้นหาหรือน่าสนใจไปจากแอนนิเมชั่นฉบับดั้งเดิมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
เอาเข้าจริง ดิสนีย์อาจจะคิดถูก ที่ตัดสินใจเดินหน้าโปรเจคนี้ด้วยการเคารพต้นฉบับมากที่สุด เพราะหากเรื่องราวไม่ดีจริง คงไม่อยู่ในความรงจำของผู้คนมานานร่วม 65 ปีเป็นแน่ การเล่นแบบเพลย์เซฟปลอดภัยไว้ก่อนของดิสนีย์ ไม่เพียงการันตีความสำเร็จให้กับหนังในเบื้องต้นเท่านั้น (ซึ่งก็จริงตามที่คาดไว้ซะด้วย) แม้จะพาตัวเองไปอยู่ในฐานะหนังฮิตได้สำเร็จ แต่ดิสนีย์ ยังคงพยายามทดลองโยนหินถามทางแนวคิดใหม่ๆ ออกค้นหาคนดูกลุ่มใหม่ๆ ด้วยการฉายหนังสั้น Frozen Fever ปะหัวซินเดอเรลล่าในทุกๆ โรงฉายทั่วโลก
ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน ไม่เพียงเม็ดเงินจากดอกผลแห่งความนิยมชมชอบที่มีต่อหนังแอนนิเมชั่นพี่น้องสองสาวต้องมนต์น้ำแข็งอย่าง Frozen เท่านั้น ความสำเร็จอีกประการที่หนังได้รับท่วมท้นไม่แพ้เม็ดเงินคือเสียงแซ่ซ้องชื่นชม ทั้งในแง่ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ความกล้าหาญในการข้ามพรมแดนไปสู่กลุ่มคนดูวัยรุ่นรวมทั้งการสำรวจประเด็นรสนิยมทางเพศที่แฝงนัยยะเอาไว้อย่างแยบยลท่ามกลางคนดูกลุ่มใหญ่ที่รู้สึกได้ถึงสารดังกล่าวและต่างพากันตีตั๋วเข้าดูอีกไม่ต่ำกว่าหนึ่งรอบเพื่อค้นหาและตั้งตาถอดสัญญะซ้อนเร้นดังกล่าวอย่างสนุกสนาน การตัดสินใจเดินหน้าสานต่อองค์ประกอบเหล่านั้นก็เกิดขึ้นในหนังสั้น Frozen Fever ที่แม้เวลาจำกัดในฐานะหนังสั้นจะไม่ค่อยช่วยขยับขยายพื้นที่ทางความคิดดังกล่าวออกไปแต่การวางพล็อตสนุกๆ ที่ต่อยอดมาจากครั้งก่อนก็ทำให้ Frozen Fever สนุกสนานไม่แพ้เวอร์ชั่นเดิม เป็นสัญญาณว่า Frozen ภาคที่สองคงจะตามมาอีกไม่นาน และประเด็นเพศสภาพอาจจะชัดเจนหรือไม่ก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างจริงจัง จริงใจ มากขึ้น แน่นอนว่าดิสนีย์ยังคงเจาะจงกลุ่มเป้าหมายไปหาคนดูวัยรุ่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถ้า Frozen Fever เน้นความสัมพันธ์สองพี่น้อง เอลซ่าและอันนา ในลักษณะอ่อนโยนห่วงใยกันฉันพี่น้อง มากกว่าจะสร้างพล็อตเรื่องแล้วแทรกสอดประเด็นเฟมินิสต์หรือรักร่วมเพศ อย่างที่เวอร์ชั่นต้นฉบับใส่รหัสสัญญะเอาไว้ แต่ถัดจากนั้นมาคือซินเดอเรลล่า คงพอสังเกตว่า ฉบับปี 2015 ‘นางซิน’ ทศวรรษนี้ หาได้เป็นสาวน้อยผู้อ่อนหวาน เรียบร้อยงดงามตามขนบเทพนิยายหรือการ์ตูนดั้งเดิมไม่ นางซินเวอร์ชั่นนี้ เธอเป็นหญิงสาวที่มีความเข้มแข็ง ยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์แนวคิดที่ผู้เป็นแม่ปลูกฝังถ่ายทอดไว้ให้ก่อนตายว่า จงกล้าหาญและมีเมตตา (Courage and Be Kind)ทำให้เอลล่า หาได้เป็นสาวน้อยอมทุกข์ จ่อมจมอยู่กับความเศร้า ชวนให้สงสารเวทนา ทว่าเธอเป็นสาวน้อยที่ภายนอกสดใสร่าเริงผู้เก็บซ่อนความเศร้าไว้ภายในและเปลี่ยนเป็นพลังเข้มแข็งแทน
หากลองสังเกตกันอีกนิด อันนา และ เอลซ่า สองสาวมั่นใน Frozen ชื่อก็ดูช่างละม้ายคล้ายเคียง เอลล่า ชื่อเดิมของนางซิน ก่อนจะถูกแม่เลี้ยงใจร้ายตั้งชื่อให้ใหม่ด้วยความเย้ยหยัน แต่ก็กลับกลายเป็นเจ้าหญิงผู้โชคดีไปในที่สุด แม้ทั้งสองเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่ก็เหมือนมีความเชื่อมโยงกันบางอย่างทั้งคาแรกเตอร์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร ชื่อเรียก และการนำหนังแอนิเมชั่นสั้น มาฉายแปะหัวหนังไลฟ์แอ็กชั่นซึ่งไม่ค่อยเป็นธรรมเนียมที่ดิสนี่ย์เคยทำแบบนี้มาก่อน นอกจากฉายหนังแอนิเมชั่นสั้นก่อนหน้าหนังแอนิเมชั่นขนาดยาวแทบจะทุกเรื่องไป
ท่ามกลางการดำเนินเรื่องไปอย่างเรียบง่ายไม่สลับซับซ้อนเช่นเดียวกับต้นฉบับการ์ตูนเมื่อปี 1950 นอกเหนือจากการสร้างเลือดเนื้อและชีวิตให้กับตัวละครทุกตัวให้กับซินเดอเรลล่าแล้ว ความวิจิตรของงานด้านภาพ ดูเหมือนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ดิสนีย์ให้ความสำคัญและใส่ใจในทุกกระเบียดนิ้ว ขนาดเสื้อผ้าของสองพี่น้องดริสเซลล่ากับอนาสตาเซีย ลูกติดของแม่เลี้ยงใจร้าย ยังถอดแบบและลวดลายมาจากต้นฉบับการ์ตูนแทบไม่ผิดเพี้ยน ทุกๆ องค์ประกอบศิลป์ที่ปรากฎในหนัง ไม่เพียงฉาก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเท่านั้น งานวิชวลกราฟฟิกที่ถูกขับเน้นเป็นพิเศษในฉากสำคัญๆ ก็ทำได้อย่างตะลึงพรึงเพริดจนน่าทึ่ง โดยเฉพาะฉากนางฟ้าเสกรถม้าฟักทอง รองเท้าแก้ว และบ่าวไพร่ สรรพสัตว์น้อยใหญ่ในสวนของซินเดอเรลล่า ไม่เพียงสร้างภาพความตื่นตาเร้าใจมากกว่าฉากอื่นๆเท่านั้น หนังยังให้เวลากับฉากๆ นี้ มากพอที่เราะรู้สึกอิ่มเอมไปกับมัน ซึ่งเชื่อแน่ว่านี่จะเป็นฉากในดวงใจของเด็กๆ ไปอีกนานเลยทีเดียว
ไม่เพียงสยายปีกแนวทางการทำหนังออกไปอย่างกว้างไกลเท่านั้น ดิสนีย์ยังพยายามขยับขยายออกไปหาผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ถ้าเด็กๆ ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มใหญ่ของดิสนีย์ผ่านหนังแอนิเมชั่น หนังซูเปอร์ฮีโร่มากมายที่กำลังจะตามมาภายใต้ชายคามาร์เวล ก็ดูเหมือนดิสนีย์จะทำสำเร็จสำหรับการกวาดตลาดคนดูกลุ่มใหญ่ในวงกว้างทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่ดูเดหมือนหัวหาดที่ดิสนีย์จะพยายามยึดครองให้ได้ก็คือกลุ่มวัยรุ่น ที่คงไม่ลงทุนทำหนังวัยรุ่นให้สุ่มเสี่ยงก่อเม็ดเงินลงทุน(เพราะรสนิยมการดูหนังของวัยรุ่นทางการตลาดถือว่าผันผวนและคาดเดาได้ยากลำบากที่สุด) การแทรกประเด็นและเสริมเนื้อหาที่เหมาะกับกลุ่มคนดูวัยนี้ต่างหากที่ดิสนีย์กำลังพยายามทำอยู่และดูเหมือนว่ามาถูกทางแล้วด้วย
.......................................
(หมายเหตุ 'Cinderella' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)