วันนี้ในอดีต 17 พ.ค.2535 กำเนิด‘พฤษภาทมิฬ’
วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ ‘ พฤษภาทมิฬ’ ซึ่งผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ในขณะนั้น
วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว...17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’(Black May) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ระหว่างวันที่17-24 พฤษภาคมพ.ศ. 2535 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ มีมูลเหตุมาจาก คณะ รสช. ซึ่งมี พล.อ. สุจินดา รวมอยู่ด้วย ได้ทำการรัฐประหาร‘รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ' ต่อมาได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่านายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้คะแนนมากที่สุด แต่สุดท้ายไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐขึ้นบัญชีดำ ทำให้ พล.อ.สุจินดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเป็นการตระบัดสัตย์ที่เคยให้สัญญาไว้ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากผลดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่พอใจการขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประท้วงทั้งการอดอาหาร การเดินขบวน
โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม นักศึกษาและประชาชนราว 500,000 คน ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่เวลา 15.00 น. เพื่อเรียกร้องให้พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา เวลา 21.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าตำรวจและทหารสกัดกั้นไว้ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผู้ชุมนุมพยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ให้เปิดทางแต่ได้รับการปฏิเสธ บางส่วนจึงเริ่มรื้อรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่จนน้ำหมด แล้วสูบน้ำจากคลองรอบกรุงซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นฉีดใส่ฝูงชน จากนั้นก็ได้เกิดความโกลาหล ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ก็ตอบโต้ด้วยการทุบตีทำร้ายประชาชน
เวลา 00.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชายหัวเกรียนสวมเสื้อเกราะในราชการสงคราม บุกเข้าทำลายและเผา สน. นางเลิ้ง โดยรัฐบาลได้ระบุว่าเป็นฝีมือของนักศึกษารามคำแหงและธรรมศาสตร์ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้แผนไพรีพินาศขั้นที่ 3 คือปราบปรามขั้นเด็ดขาด เวลา 15.00 น. ทหารและตำรวจกว่า 6,000 นายพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะได้เข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายร้อยคน สูญหายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จากการแถลงของทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน
เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ภาพเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้รอดชีวิตบางส่วนได้ย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วันที่ 20 พฤษภาคม ช่วงค่ำกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00 น.-04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน เวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้นำมวลชน และ พล.อ. สุจินดา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน
วันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ. สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง และวันต่อมา 24 พฤษภาคม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เหตุการณ์สงบลง