
วันนี้ในอดีต15 มิ.ย.‘ศาลโลก’ชี้ขาดข้อพิพาท'ปราสาทพระวิหาร'
วันนี้ในอดีต 15 มิ.ย. 2505 ‘ศาลโลก’ตัดสินให้ ‘ปราสาทพระวิหาร’ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์
วันนี้ในอดีต เมื่อ 55 ปีที่แล้ว 15 มิ.ย. 2505 ‘ศาลโลก’ หรือ ‘ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ’ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาด‘ คดีปราสาทพระวิหาร’ ให้ ‘ปราสาทพระวิหาร’ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา
‘คดีปราสาทพระวิหาร’ เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย ด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษและชายแดนกัมพูชา ด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ ‘ศาลโลก’
ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 2088-2136 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า “เปรี๊ยะ วิเฮียร์” (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพนมดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย
แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา เนื่องจากปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502
คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี 2447 - 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น
ต่อมาในปี 2450 ทางการ‘สยาม’ได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดนฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการจัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอา‘ปราสาทพระวิหาร ’ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า “แผนที่ผนวก 1” (Annex I map))
แต่‘สยาม’ ไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี 2452 โดยใช้ ‘แผนที่ผนวก 1 ’นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน
ปี 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าวและในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่าง สยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว
และแม้ในระหว่างปี 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป
เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือ‘ปราสาทพระวิหาร’เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย‘หลักกฎหมายปิดปาก’ ปี 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้‘แผนที่ผนวก 1’ เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน
การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด เมื่อ 15 มิ.ย. 2505 ‘ศาลโลก’ก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามวันที่ 13 ก.ค. ปี 2505 หลังจาก ‘ศาลโลก’ตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดยนายถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น ได้มีหนังสือไปยังนายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก โดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย
หลังจากแพ้คดี ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชาเหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา ‘ปราสาทพระวิหาร’ก็ถูก ปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งนี้‘ปราสาทพระวิหาร’นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีของ‘ศาลโลก’ในครั้งนั้น ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน