“วันสุนทรภู่” กวีเอกของไทย
วันนี้ในอดีต 26มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสุนทรภู่” กวีเอกกรุงรัตนโกสินทร์และยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก
วันนี้ในอดีต 26 มิถุนายน 2560 ย้อนไปเมื่อพ.ศ.2530
นับแต่นั้นเมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงสุนทรภู่ในสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม ที่จังหวัดระยอง บ้านเกิด ตลอดจนกิจกรรมเชิดชูเกียรติ การประกวดแต่งคำกลอน ส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึง และในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสุนทรภู่ ร่วมรำลึก “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์” ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แสดงความกตัญญูกตเวทิตาแด่สุนทรภู่ ร่วมกันภาคภูมิใจและตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทยได้อย่างสร้างสรรค์เจริญรอยตามมหากวีแห่งรัตนโกสินทร์
โดยกิจกรรมมีทั้งนิทรรศการเชิดชูเกียรติสุนทรภู่ เรียนรู้ประวัติและผลงาน การแสดงต่างๆ ที่สร้างสรรค์จากวรรณกรรมของสุนทรภู่ อาทิ การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะนาฏยบูรพา เรื่อง สิงหไตรภพ ตอนปราบเพชรพญาธร การแสดงหุ่นกระบอกไทย คณะบ้านตุ๊กตุ่น หุ่นกระบอกไทย เรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ เรื่อง พระอภัยมณี ตอน สุดสาครผจญภัย การแสดงหุ่นสาย คณะช่อชะคราม เรื่อง พระอภัยมณี ตอน สินสมุทรตามหาพ่อ การแสดงลิเก คณะรจรินทร์ เรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ส่วนภาคบ่าย พบการแสดง ชุด ร้อยกรองกลอนตามคำสอน “สุนทรภู่” โดย ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ (ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย)
สุนทรภู่ เมื่อวัยเด็ก-20 ปี (พ.ศ.2329-2349) พระสุนทรโวหาร (ภู่) นามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น. ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง คลองบางกอกน้อย (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน)
หลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
"สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี เมื่อรุ่นหนุ่ม เกิดรักใคร่ชอบพอ กับนางข้าหลวง ในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึง กรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน
อายุ 21-30 ปี (พ.ศ.2350 -2359) หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ในช่วงนี้ สุนทรภู่ก็สมหวังในรัก ได้แม่จันเป็นภรรยา แต่งงานได้ไม่นาน ก็เกิดระหองระแหงกับแม่จัน ยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้อง ตามเสด็จพระองค์เจ้า ปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในวันมาฆบูชา สุนทรภู่ ได้แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน 3 ปี พ.ศ.2350
สุนทรภู่มีบุตรกับแม่จัน 1 คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอก ทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2350-2359 ก่อนเข้ารับราชการ ไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อกันว่าท่าน หนีความเศร้าออกไป เพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง
อายุ 30-38 ปี (พ.ศ.2359- 2367) รับราชการครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของ พระองค์ ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ขึ้นใหม่อีกถึง 7 เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น
อายุ 38- 56 ปี(พ.ศ.2367 - 2385) ออกบวช ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ด้วยมีเหตุการณ์ต่างๆ และด้วยความอาลัยเสียใจ สุนทรภู่ จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนอง พระมหากรุณาธิคุณ โดยออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นเมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ
อายุ 56-69 ปี (พ.ศ.2385-2398) รับราชการครั้งที่ 2 เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรง พระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตา อุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่อง สิงหไตรภพถวายกรมหมื่น อัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง
แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก 2 เรื่องคือ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ ได้ ๖๕ ปีแล้ว ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2398 รวมอายุได้ 69 ปี
ผลงานบางส่วนของสุนทรภู่
นิราศ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง ช่วงต้นปี.2350 , นิราศพระบาท ช่วงปลายปีพ.ศ.2350 , นิราศภูเขาทอง ช่วงปี 2371 นิราศเมืองสุพรรณ (โคลง) ช่วงปี 2384 นิราศวัดเจ้าฟ้า ฯ ช่วงปี 2375 นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร ในช่วง 2388-2392
นิทาน ได้แก่ เรื่องโคบุตร แต่งราวรัชกาลที่ 1 เรื่องพระอภัยมณี แต่งราวรัชกาลที่ 2-3 เรื่องพระไชยสุริยา แต่งราวรัชกาลที่ 3 เรื่องลักษณวงศ์ เรื่องสิงหไตรภพ แต่งราวรัชกาลที่ 2
สุภาษิต ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และ สุภาษิตสอนหญิง
บทละคร ได้แก่ เรื่องอภัยณุราช
บทเสภา ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม ในรัชกาลที่ 2 และเรื่องพระราชพงศาวดาร แต่งในรัชกาลที่ 4
บทเห่กล่อม ได้แก่ เห่เรื่องจับระบำ, เห่เรื่องกากี , เห่เรื่องพระอภัยมณี และ เห่เรื่องโคบุตร