วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 13 ก.ค. 2436 ‘วิกฤตการณ์ปากน้ำ’ 

วันนี้ในอดีต 13 ก.ค. 2436 ‘วิกฤตการณ์ปากน้ำ’ 

13 ก.ค. 2560

วันนี้ในอดีต 13 ก.ค. 2436  เกิดเหตุการณ์การรบขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา  จากการรบในครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดน

           วันนี้ในอดีต 13 ก.ค. 2436 (ร.ศ. 112) เกิด“การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา”(The Naval Action at Paknam)หรือที่เรียกว่า ‘วิกฤตการณ์ปากน้ำ’ 

            สืบเนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ (Inconstant) และเรือโคแมต (Comete) เข้ามายังประเทศไทย เพื่อรวมกับ‘เรือลูแตง’ที่มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว 1 ลำ รวมเป็น 3 ลำ  รัฐบาลไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ต่างประเทศนำเรือของตน เข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพ ฯ เกิน 1 ลำ ในยุคที่มีการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก เป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัยสำหรับประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธฝรั่งเศสไป ทำให้ทางฝรั่งเศสไม่พอใจ

            ในวันที่ 13 ก.ค. 2436 กองทัพฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำคือ เรือแองคองสตังค์(Inconstant)และเรือโคแมต(Comete) โดยมีเรือสินค้า“เจ. เบ. เซย์”(Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา หมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย เรือรบของฝรั่งเศสจึงยิงตอบโต้ โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นายและบาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บอีก 3 นาย  จากนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง การรบได้ดำเนินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษก็ยุติลง

            ผลจากการปะทะกันครั้งนี้ ‘ฝรั่งเศส’ ได้รับชัยชนะและได้บังคับให้สยามลงนามใน“สนธิสัญญาสันติภาพ”ในวันที่ 3 ตุลาคมปีเดียวกัน สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวกำหนดให้สยามชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,560,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น) รวมทั้งบังคับให้รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่า 10 ปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ ผลจากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสครั้งนี้ทำให้สยามต้องเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 2  

             นักวิชาการในรุ่นหลังเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเหตุให้สยามจำต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ คือ การขาดแผนที่ซึ่งระบุเขตแดนของประเทศไว้อย่างชัดเจน ฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป อีกทั้งกองทัพเรือของสยามเพิ่งเริ่มต้นขึ้นจึงต้องจ้างทหารต่างชาติมาช่วย ส่วนทหารของสยามสมัยในสมัยนั้นยังขาดวินัยของทหาร และขาดความช่ำชองในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยจากตะวันตก แม้จะมีกำลังอาวุธที่พอจะต่อต้านกองกำลังฝรั่งเศสได้ก็ตาม

             และจากเหตุการณ์การสู้รบครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณา เห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับการเรือ ไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้นั้น ต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดี จึงจะใช้การได้ จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการ ทั้งในด้านการปกครอง การทหารบก ทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป