วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต  'ศิริราช' รักษามะเร็ง ผ่าตัดเก็บเต้านม

วันนี้ในอดีต 'ศิริราช' รักษามะเร็ง ผ่าตัดเก็บเต้านม

23 ส.ค. 2560

วันนี้ในอดีต 23 ส.ค. 2556  'ศิริราช' แถลง รักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ไม่เสียทรง

          วันนี้ในอดีต 23 ส.ค. 2556  คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เรื่อง"ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยได้ผลดี"โดยระบุว่า  ปัจจุบันมะเร็งเต้านมมีอัตราการเกิดจำนวนมากแซงมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศและที่ผ่านมาทางทีมแพทย์ศิริราชพยาบาลมีทีมแพทย์ที่สนใจในเรื่องนี้ มีการวินิจฉัยรักษามะเร็งเต้านม และพบว่ามีเทคนิคใหม่ที่ทำให้คนไข้ได้รักษาที่ดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน อาการข้างเคียง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีใหม่นี้ ไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีใหม่ครั้งแรกของโลกหรือของประเทศไทย แต่เป็นแนวทางที่ทางศิริราชพยาบาลได้คิดขึ้น เพื่อให้รักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น
           นอกจากนี้ โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ1 ในสุภาพสตรีทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติของสถานวิทยามะเร็งศิริราช พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยเรื่องมะเร็งเต้านมมากกว่า 1,000 รายหรือ ประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมาตรฐานการรักษาจะเป็นแบบสหสาขาวิชา คือ มีทั้งการผ่าตัด ฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และฮอร์โมนบำบัดผสมผสานกัน ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดยังใช้เป็นการรักษาหลักอยู่ มีทั้งการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดและการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา

            การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมเป็นที่นิยมมาก หลักการ คือ ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานนมไว้ นับเป็นเทคโนโลยีในการผ่าตัดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยยังคงความเป็นหญิงไม่สูญเสียเต้านม และนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

           ทั้งนี้ จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบเก็บเต้านมอย่างเดียว จะทำให้อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงขึ้น จำเป็นที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกหลังการผ่าตัดแล้วเป็นจำนวน 25-30 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้สร้างความลำบากให้แก่ผู้ป่วยและยังทำให้การบริการทางรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่เทคโนโลยีใหม่นี้ เป็นการผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งเต้านมพร้อมฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัด ได้ผลดีในการรักษาหายเทียบเท่ากับการรักษาด้วยฉายรังสีหลายครั้ง
            อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมะเร็งแนวใหม่นี้ จะเลือกคนไข้ที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกรายที่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ แพทย์ผู้รักษาต้องเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยรายได้สมควรที่จะได้รับการฉายรังสีในห้องผ่าตัด รายใดไม่สามารถทำได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เหมาะสมรักษาวิธีนี้ จะต้องเป็นมะเร็งของท่อน้ำนมชนิดลุกลาม มีอายุเท่ากับ 55 ปี หรือ 55 ปีขึ้นไป เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น ขนาดก้อนเล็กกว่า 2 ซม.ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง มีก้อนมะเร็งก้อนเดียว และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง โดยการผ่าตัดนั้นจะเริ่มผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ จากนั้นผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก ตามด้วยการฉายรังสีรักษาครั้งเดียวในห้องผ่าตัดและเนื่องจากการฉายเหลือเพียงครั้งเดียวและทำในห้องผ่าตัดทีเดียวและเนื่องจากบริเวณฉายแสงเล็กลง จึงทำให้ผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด หัวใจ เนื้อเยื่อเต้านม บริเวณอื่นๆ และผิวหนังลดน้อยลงไปด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสหายจากโรค

         นอกจากนั้นยังพบว่า ภาวะความสวยงามของเต้านมภายหลังการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมากถึงดีเลิศ อีกทั้งได้มีการใช้แบบสอบถามที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งเต้านม พบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่พึงพอใจกับการรักษาและรู้สึกพึงพอใจที่ไม่มีการสูญเสียเต้านมภายหลังการผ่าตัด