10 พ.ย.2531 คนไทยเฮ ต้อนรับทับหลังฯ กลับบ้าน
ย้อนรอย "ทับหลัง" ที่บินไกลไปครึ่งค่อนโลกยังถิ่นแคว้นแดนมะกัน จนคนไทยต้องทวงคืนกันอยู่นาน กว่าที่จะหวนสู่มาตุภูมิอีกครั้ง เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2531!!
จำได้หรือไม่กับเรื่องราวของ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ประติมากรรมล้ำค่า ที่อันตรธานหายไปจากบ้านเมืองเราหลายสิบปี!
จนภายหลังได้รู้กันว่า ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปครึ่งค่อนโลกยังถิ่นแคว้นแดนมะกัน จนคนไทยต้องทวงคืนกันอยู่นาน กว่าที่จะหวนสู่มาตุภูมิอีกครั้ง เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2531 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีก่อน!
วันนี้ในอดีต ขอนำผู้อ่าน เดินทางย้อนรอยเส้นทางศิลาโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้กัน!
ตามข้อมูลจากคมชัดลึกช่วงวันที่ 7 มีนาคม 2552 บอกเล่าไว้ว่า จากหลักฐานที่พอจะสืบค้นได้ อนุมานได้ว่า ประมาณปี 2507-2508 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งแน่นอน ที่กรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลจะได้พยายามค้นหา
กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2508 ได้มีรายงานว่ามีการพบชิ้นส่วนด้านซ้ายที่ร้านค้าของเก่า “Capital Antique” แถวราชประสงค์ กรุงเทพฯ จึงยึดไว้ แต่ก็ไม่พบชิ้นส่วนที่เหลือ
ครั้งนี้ ดร.สรเชต วรคามวิชัย กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ อดีตอาจารย์วิชาโบราณคดี ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโบราณสถานในพื้นที่เชื่อว่า เกิดจากฝีมือนักค้าวัตถุโบราณชาวกรุงเก่า ว่าจ้างคนในพื้นที่กลุ่มหนึ่ง ขนย้ายทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ลงมาจากปราสาทหินพนมรุ้ง หลังจากได้รับออเดอร์จากลูกค้าชาวอเมริกันว่า ต้องการทับหลังชิ้นนี้กลับไปโชว์ที่ต่างประเทศ
"สมัยก่อนบริเวณปราสาทหินพนมรุ้งยังไม่มีถนนตัดผ่าน โบราณสถานยังไม่ได้รับการบูรณะเหมือนปัจจุบัน ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้า เมื่อไม่มีถนนการขนย้ายทับหลังนารายณ์ฯ จึงเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องใช้คนจำนวนมากช่วยกันใช้คานหามและนำใส่เกวียนบรรทุกลงมาพื้นราบ แล้วส่งต่อให้พ่อค้าวัตถุโบราณที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อคนกลุ่มนี้ส่งทับหลังไปแล้วกลับไม่ได้เงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ เป็นเหตุให้มีการตามฆ่าล้างแค้นและตามทวงหนี้ในเวลาต่อมา
ต่อมา ช่วง ปี 2516 ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ดร.ไฮแรม วูดเวิร์ด จูเนียร์ อดีตอาสาสมัครสันติภาพที่เคยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ไปพบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์โดยบังเอิญที่สถาบันศิลปะนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในสภาพลวดลายขอบขวาของทับหลังถูกกระเทาะออกไปครึ่งหนึ่ง
ที่สุดจึงสอบถามจนทราบว่าทางสถาบันศิลปะนครชิคาโก ได้ยืมมาจาก “เจมส์ อัลสดอร์ฟ” มหาเศรษฐีชาวอเมริกันและประธานมูลนิธิอัลสดอร์ฟ เพื่อนำมาตั้งโชว์
จากนั้นจึงทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการว่า ควรจะขอคืน !?!
ต่อมาระหว่างปี 2516-2521 กรมศิลปากรได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทั้งทำหนังสือและส่งหลักฐานยืนยันถึงรัฐบาลสหรัฐ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยในอเมริกา ถึงผู้ว่าอำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเอเชียของยูเนสโก ประเทศญี่ปุ่น และถึงเลขาธิการสภาพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก
แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากขณะนั้น ไทยเรายังไม่ได้เข้าร่วมภาคีแห่งอนุสัญญาขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ที่สุดระหว่างที่กรมศิลปากร ได้บูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ควบคู่ไปกับการติดตามทวงคืนทับหลังนารายณ์ฯ และเกิดเป็นกระแสทวงคืนทับหลังในหมู่คนไทยจำนวนมาก
ปรากฏว่า ปี 2530 เมื่อเห็นว่าการบูรณะเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว กรมศิลป์ จึงเริ่มกระบวนการติดตามทวงคืนอีกครั้ง กระทั่งมีหนังสือตรงจาก ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน แต่กรมศิลปากรยืนยันจะไม่มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอันขาด
กระทั่ง มีนาคม 2531 มารุต บุนนาค รมว.ศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืน ได้เจรจากับสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก แต่ไม่สำเร็จ จนผ่านมาสามเดือนผ่านกลับไปเจรจาอีกครั้ง ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
แต่แล้วเหมือนโชคช่วย เพราะต่อมาในการประชุมสภาเมืองชิคาโกเรื่องทับหลังฯ ปราปฏว่ามีผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยจำนวนมาก ทั้งที่กรรมการเป็นบุคคลภายนอก เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอเมริกันด้วยกันเอง
ด้วยแรงกดดันเหล่านี้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก จึงยอมส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนให้แก่รัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 ในพระนาม ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
และวันที่ 10 พฤศจิกายน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง โดยสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ โดยมีชาวบุรีรัมย์นับพันคนเดินทางมารอรับที่สนามบินจำนวนมาก
โดยภายหลังกรมศิลป์ได้นำกลับไปประดิษฐานไว้ยังที่เดิมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 โดยมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
000
อย่างไรก็ดี มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมมาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นเครื่องเคียง
เพราะอีกมุมหนึ่งในท่ามกลางกระแสทวงคืนทับหลัง คนไทยคงจำกันได้กับประโยค “เอาไมเคิล แจ็กสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา”
ประโยคนี้เป็นท่อนหนึ่งในเพลง “ทับหลัง” ในอัลบั้มชื่อเดียวกันของวงคาราบาว ภายใต้สังกัดแว่วหวาน ที่วางตลาด 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 หรือก่อนทับหลังกลับถึงไทยเพียงวันเดียว
น่าสนใจตรงที่ว่า อัลบัมนี้กำหนดเดิมออกจำหน่าย คือ ่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทางวงคาราบาว คาดการณ์ว่าทับหลังจะไม่ถูกส่งกลับมาไทย เหมือนที่การเจรจาล้มเหลวมาตลอดทุกครั้ง!
แต่แล้วพลิกล็อค เมื่อทางสถาบันศิลปะนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ยินยอมให้นำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน
อัลบั้มก็ได้เลื่อนวันจำหน่ายเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน และนำเพลง “แม่สาย” ขึ้นมาเป็นเพลงนำร่องอีกเพลงหนึ่งแทน
ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ทั้งลุ้น ตื่นเต้น ระทึก แต่ก็่ยังมีรอยยิ้มในตอบจบจนได้!!
000
สำหรับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดับอยู่ที่ประตูทางเข้ามณฑปปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์ สี่กร บรรทมตะแคงขวา บนหลังพญาอนันตนาคราชซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร พระหัตถ์ขวาหน้ารองรับพระเศียร พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา
ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์ ที่ปลายพระบาทของพระนารายณ์ เป็นภาพพระนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระนารายณ์ แกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภีองค์พระนารายณ์ ภายในดอกบัวแกะสลักเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร พระหัตถ์ทั้งสี่ไม่สามารถระบุได้ว่าทรงถืออะไร
ภาพทั้งหมดจัดไว้กึ่งกลางทับหลัง ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเป็นรูปครุฑ ข้างครุฑเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง และภาพลิงอุ้มลูก ส่วนด้านใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว การออกแบบลวดลายและการแกะสลักประณีต จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
//////////////////
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/buriram/2008/04/03/entry-1
และวิกิพีเดีย