น้อมรำลึก “สมเด็จหญิงน้อย” ราชเลขานุการิณี องค์ในหลวง ร.5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสเรียกพระองค์ว่า "หญิงเล็กนิภา" และชาววังเรียกพระองค์ว่า "สมเด็จหญิงน้อย" ที่รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณีในพระองค์
เนื่องในวันนี้เมื่อ 131 ปีก่อน คือวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาองค์ที่ 3 ขององค์ในหลวงรัชการที่ 5
จึงใคร่ขอน้อมรำลึกถึงพระองค์ ผู้ไม่เพียงเป็นพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นราชเลขานุการิณีในสมเด็จพระราชบิดา ที่ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างสูง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2429 พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อแรกประสูติมีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านิภานภดล" โดยเมื่อปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติ แต่พระอรรคชายาเธอขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ดังนั้น พระองค์จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล"
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามาภิไธยสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี" จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี"
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสเรียกพระองค์ว่า "หญิงเล็กนิภา" และชาววังเรียกพระองค์ว่า "สมเด็จหญิงน้อย"
"สมเด็จหญิงน้อย" พระองค์มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินี ที่ประสูติร่วมพระมารดาอีก 3 พระองค์ โดยทั้งหมดมีพระนามที่คล้องจองกัน ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร, สมเด็จเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี, สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา และสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล
นอกจากนี้ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2450 ก็มีพระราชหัตถเลขามาถึงพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ ซึ่งพระราชหัตเลขาเหล่านั้นได้นำมารวมรวบเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในเวลาต่อมา
แต่หลังจากมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หลังจากมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ซึ่งในขณะนั้น ถือได้ว่าพระองค์ทรงอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว เนื่องจากพระมารดา พระเชษฐา และพระเชษฐภคินีต่างสิ้นพระชนม์ลงหมด
เริ่มแต่ สมเด็จเจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา นั้นทรงประชวรเป็นไข้และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 สิงหาคม 2432 ขณะที่สิริพระชันษา 5 ปี 118 วัน หรือขณะที่ สมเด็จหญิงน้อย เพิ่งมีพระชันษาเพียง 3 พรรษาเท่านั้น
ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา หรือพระเชษฐภคินี นั้น ทรงพระประชวรด้วยพระโรควักกะ พระอาการทรุดลงและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2467 ณ วังสวนสุนันทา สิริรวมพระชนมายุได้ 39 พรรษา
ต่อมา พระมารดา หรือ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2472 สิริพระชนมายุ 67 พรรษา
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล ซึ่งเป็นพระเชษฐา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2475 สิริพระชนมายุ 50 พรรษา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับครอบครัวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา และเสด็จสิ้นพระชนม์ที่นั่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2478 ขณะพระชนมายุ 49 พรรษา
อย่างไรก็ดี สำหรับพระราชกรณียกิจ พระองค์ทรงร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พระเชษฐภคินีของพระองค์ บริจาคทุนทรัพย์สร้างเครื่องใช้สำหรับ "ตึกเยาวมาลย์อุทิศ" โรงเรียนเทพศิรินทร์
นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนม์ได้ 28 พรรษา เสมอด้วยพระชนมพรรษาแห่งสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัยยิกาเจ้าของพระองค์ พระองค์จึงทรงได้สร้าง "ตึกนิภานภดล" ถวายแก่วัดเทพศิรินทราวาส สำหรับเป็นโรงเรียนสอนปริยัติธรรมเพื่ออุทิศพระกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
นอกจากนี้พระชนนีของพระองค์ยังทรงสร้างโรงเรียนนิภาคารขึ้นในพระตำหนักวังสวนสุนันทา ถือเป็นสถาบันศึกษานอกระบบแห่งแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2467 เพื่อชุบเลี้ยงเด็กและข้าหลวงให้มีการศึกษาที่ดีขึ้น
หลังพระมารดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงเป็นทั้งผู้อำนวยการและพระอาจารย์ มีการจ้างครูชาวไทยและฝรั่งมาช่วยสอน ครั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เจ้านายได้หนีราชภัยไปต่างประเทศบ้างต่างเมืองบ้าง โรงเรียนนิภาคารจึงยุบเลิกโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ในคำนิยามพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ว่า “น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า”
พร้อมทั้งทรงสรรเสริญว่า “ทรงพระคุณอย่างเป็นขัติยนารีแท้ทุกสถาน ทรงพิสูจน์ให้ปรากฏแล้ว ทั้งในเวลาที่มีความสุข และในเวลาได้รับความทุกข์ยาก สมควรกับที่ทรงสร้อยพระนามกรมว่า “ขัติยนารี” เป็นอนุสรณ์อยู่กับพระนามตลอดไป”