8 ม.ค.2550 ครูจูหลิง เธอตาย เพราะ “ความรัก”
หรือจะเป็น “ความรักในอาชีพครู” ความรักและความเป็นห่วงเด็กๆ ที่ไม่มาเรียน แม้กระทั่งเดินออกจากที่ปลอดภัย เพื่อไปเจอกับมัจจุราช เธอก็ไม่ได้หวาดหวั่น!
จำกันได้ดี สำหรับ แม่พิมพ์ของชาติที่ชื่อ จูหลิง ปงกันมูล หรือ "จุ้ย" ข้าราชการครู ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
เพราะชีวิตของเธอมีจุดจบที่ช่างน่าโศกสลด จากการถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549
และแม้ว่าในที่สุด เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงออกมาได้ และนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
แต่ในที่สุด เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เธอจึงเสียชีวิต ในวันที่ 8 ม.ค. 2550 หรือวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน
ถามว่าเกิดอะไรขึ้น! เธอจึงถูกจับตัวไปกระทำการเหี้ยมโหดขนาดนั้น
เอาเข้าจริงๆ คำตอบที่ชัดเจนยังไม่เคยมีสักครั้ง นอกจากอธิบายกว้างๆ ว่า เป็นผลพวงจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครูจูหลิงโชคร้ายที่ตกไปเป็นหนึ่งในเหยื่อจากอีกหลายพันคนที่ต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างกันในพื้นที่แห่งนี้!
แต่ที่น่าเศร้าใจคือ คนที่จับเธอไปก็คือคนที่น่าจะเห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน!!
ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ วันที่ดูแล้วไม่น่าจะมีเหตุร้ายอะไร ราวช่วงเที่ยงของวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ขณะที่ ครูจูหลิง กับ ครูสิรินาถ ถาวรสุข ออกพบปะผู้ปกครองนักเรียน เนื่องจากต้องการไปสอบถามสาเหตุที่วันนั้นผู้ปกครองเด็กเล็กชั้นอนุบาลไม่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน
ระหว่างนั้น ทั้งสองได้แวะรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านตรงข้ามมัสยิดประจำหมู่บ้าน แต่หลังจากกินข้าวเสร็จก็มีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้กรูเข้าจับตัวครูทั้งสองไปกักขังไว้ในที่อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิด พร้อมกับมีการโรยตะปูเรือใบและตัดต้นไม้ขวางทางป้องกันการเข้ามาของเจ้าหน้าที่
โดยต่อมา ทั้งสองเพิ่งมารู้ภายหลังว่า เหตุที่ทำให้ชาวบ้านกระทำเช่นนี้ เพราะช่วงเช้าวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย บุกเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 10 จุด ในพื้นที่ ม.4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ พร้อมกับจับกุม 2 ผู้ต้องหาไว้ได้ 2 คนแล้วนำตัวไปสอบสวน
เหตุดังกล่าวทำให้กลุ่มแนวร่วมในหมู่บ้าน ได้ปลุกระดมให้ชาวบ้านรวมตัวเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัว 2 ผู้ต้องหาดังกล่าว ที่มีรายงานว่าเป็นแกนนำกลุ่มโจรอาร์เคเค ซึ่งมีคดีใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.สถานีรถไฟบ้านลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และรุมสังหาร 2 นาวิกโยธิน
เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของคนไทยเป็นอันมากว่า เพื่อแลกกับ 2 ผู้ต้องหา ถึงกับใช้ครูสาวสองคนมาเป็นตัวประกันกันเชียวหรือ?
ที่สุดเหี้ยมโหดคือ พวกชาวบ้านมิได้กักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ธรรมดา แต่ยังมีการรุมทำร้ายสองครูสาวด้วย แล้วก็ไม่ใช่จากใคร กลับเป็นบรรดาชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงหลายสิบคน ที่ฮือเข้ารุมทุบตี ทำร้ายเธอและเพื่อน อย่างสุดจะคิดว่านี่หรือคนที่เคยเห็นหน้ากันมา
กว่าที่ครูทั้งสองจะหลุดจากเงื้อมมือปิศาจในร่างคน ทั้งคู่ก็ถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนไร้สติไปแล้ว โดยถูกนำส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันต่อมา โดยเฉพาะครูจูหลิง ที่มีอาการหนักจนน่าเป็นห่วง
แต่แล้ว หลังจากนอนเป็นเจ้าหญิงนิทรามาเข้าเดือนที่ 8 โดยทีมแพทย์รายงานว่า สมองของครูจูหลิงไม่สามารถทำงานได้ 100% และหมดโอกาสที่จะฟื้นกลับมามีชีวิตตามปกติ
เพื่อนครูที่ตกในนรกเดียวกัน สามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้ แต่ครูจูหลิงไม่มีโอกาสมีชีวิตต่อ เพราะเธอได้สิ้นลมเพราะอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน ในเวลา 16.15 น.วันที่ 8 มกราคม 2550 หากจำกันได้ วันนั้นท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยสายฝนราวกับร่ำให้กับการจากไปอย่างไร้ความยุติธรรมของเธอ
เรื่องราวของครูจูหลิงได้รับการกล่าวขานต่อไป โดยเฉพาะความรักในวิชาชีพครูที่เธอใฝ่ฝัน
ครูจูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของ สูน และ คำมี ปงกันมูล เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยพ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย"
เธอเป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2545
ครูจูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ ช่วงเรียนจบเธอเป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2546
ภาพจากhttp://oknation.nationtv.tv/blog/jonat/2008/03/28/entry-1
และยังเป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ ของวัดเดียวกัน
จิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือครูจูหลิง ปงกันมูล จาก http://culture.skru.ac.th
สำหรับอาชีพครู ครอบครัวรู้กันดีว่า เป็นความตั้งใจแรงกล้าที่จะเป็นครู เธอจึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้
โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็ก ๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" จนได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงลือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
ภาพจากhttp://www.baanjompra.com/webboard/thread-9183-1-1.html
ทีนี้รู้แล้วใช่มั้ยครูจูหลิงเธอตายเพราะอะไร หรือจะเป็น “ความรักในอาชีพครู” ความรักที่ต้องการมีส่วนช่วยสังคมให้มีครูสอนหนังสือ ความรักและความเป็นห่วงเด็กๆ ที่ไม่มาเรียน แม้กระทั่งเดินออกจากที่ปลอดภัย เพื่อไปเจอกับมัจจุราช เธอก็ไม่ได้หวาดหวั่น!
เชื่อว่าสวรรค์จะต้องต้อนรับคนอย่างเธอ ครูจูหลิง!