12 ม.ค.2487 รำลึก “บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด”
ท่าน คือผู้ที่ได้รับยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็น “มรณสักขี” และได้รับการประกาศเป็น “บุญราศี” ผู้มีความรักที่ให้อภัยต่อทุกคน!
ถ้าเอ่ยชื่อ “บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” โดยเฉพาะชาวไทยที่นับถือคริสต์ศาสนาจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี
เพราะท่านคือ ผู้ที่ได้รับยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็น “มรณสักขี” และได้รับการประกาศเป็น “บุญราศี” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม โดย “สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2”!! หรือนับจากวันที่ท่านได้เสียชีวิตไปถึง 56 ปี!!
โดยในวันที่ 12 ม.ค. 2587 หรือวันนี้เมื่อ 74 ปีก่อน “บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” ได้สิ้นลมในเรือนจำบางขวาง จากอาการวัณโรค ขณะอายุได้ 49 ปี
และต่อมาคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 มกราคม ของทุกปีเป็นวันระลึกถึงบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง
ถึงตรงนี้ หลายคนอยากทราบเรื่องราวของ“บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” อีกครั้ง
“บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” เป็นบาทหลวงชาวนครปฐม สังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เมื่อรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงแล้วได้ทำงานแพร่ธรรมในหลายจังหวัด
แต่เมื่อเมืองไทย เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้น บาทหลวงบุญเกิด ถูกตำรวจจับในข้อหา "กบฏภายนอกราชอาณาจักร" โดยศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปีที่เรือนจำกลางบางขวาง แต่ในที่สุดท่านก็ถึงแก่กรรมด้วยวัณโรคหลังจากติดคุกได้ 3 ปี
บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2438 ที่จังหวัดนครปฐม มีนามเดิมว่า "ชุนกิม" เป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดามารดาชื่อ ยอแซฟ โปชัง และ อักแนส เที่ยง กฤษบำรุง ได้รับศีลล้างบาปที่โบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน ได้รับศาสนนามว่า “เบเนดิกโต”
ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลในจังหวัดนครปฐม แล้วย้ายไปเรียนที่เซมินารีพระหฤทัยของพระเยซู บางช้าง เป็นเวลา 8 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยกลาง เมืองปีนังอีก 6 ปี
ช่วงนั้น ท่านได้รับอนุกรมน้อยขั้นอุปพันธบริกร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2468 และเป็นพันธบริกรเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน แล้วกลับมารับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2469 ขณะมีอายุได้ 31 ปี
ทั้งนี้ บาทหลวงบุญเกิดได้ปฏิบัติศาสนกิจในหลายท้องที่ เช่น เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์บางนกแขวก (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก) (2469-2471), เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์เซนต์นิโกลาส พิษณุโลก (2472-2473), เป็นมิชชันนารีแพร่ธรรมที่ภาคเหนือของประเทศไทย (2473-2480), เป็นอธิการโบสถ์โคราช (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา) และโบสถ์นักบุญเทเรซา โนนแก้ว (2480-2481)
ระหว่างนั้นเอง เมืองไทยได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นกับประเทศฝรั่งเศส ว่ากันว่า สังคมไทยเวลานั้น ถ้าพูดถึงคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย ถึงขนาดมีการการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ
และในที่สุด “บาทหลวงบุญเกิด” ซึ่งทำงานแพร่ธรรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2484 โดยตั้งข้อหาเป็น แนวที่ 5 ของฝรั่งเศส ในที่สุด ท่านถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหากบฏภายนอกราชอาณาจักร ที่เรือนจำกลางบางขวาง
วัดบุญราศี นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เขาใหญ่ ซึ่งเป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกและแห่งเดียวที่เขาใหญ่ ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ และติดตามอ่านได้จากลิงค์นี้ https://www.thairath.co.th/content/897362
ภายในวัดบุญราศี นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เขาใหญ่ ซึ่งเป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกและแห่งเดียวที่เขาใหญ่
ขอบคุณภาพจากอบคุณภาพจากไทยรัฐ และติดตามอ่านได้จากลิงค์นี้ https://www.thairath.co.th/content/897362
อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในคุก ท่านยังคงทำงานแพร่ธรรมแก่นักโทษ จนสามารถโปรดศีลล้างบาปแก่นักโทษได้ถึง 66 คน กระทั่งถูกย้ายไปอยู่แดนผู้ป่วยวัณโรค จนติดวัณโรค และถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487
ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ที่วัดบางแพรก ซึ่งอยู่ใกล้กับเรือนจำ ต่อมาพระคุณเจ้าเรอเน แปรอส ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ได้ขอนำศพท่านมาฝังที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ (ปัจจุบันร่างของท่านถูกนำไปเก็บไว้ที่สักการสถานบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม)
และต่อมา มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้ยื่นเรื่องการเป็นมรณสักขีของบาทหลวงบุญเกิดต่อสันตะสำนักในปี พ.ศ. 2535 การสอบสวนดำเนินมาจนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 บาทหลวงบุญเกิดจึงได้รับการประกาศเป็น “บุญราศี” โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน กรุงโรม
แน่นอน ที่เรื่องของท่านได้รับการกล่าวขานไปทั่ว ไม่เฉพาะหมู่ชาวคริสต์ เพราะท่านได้ดำเนินหนทางตามคำสอนของพระเยซูเจ้าโดยแท้ในนเรื่องของ “ความรัก”
คือ ความรักที่สามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ที่เกิดขึ้น ความรักที่เรียนรู้ที่จะยอมรับสถานการณ์ต่างๆ นั้น ความรักที่ไม่ซ้ำเติมผู้ใดหรือสิ่งใดๆ คือความรักที่ให้อภัยต่อทุกคน
ย้อนไปในเก่าๆ ข้อมูลจาก https://storylog.co/story/57a8047aeb428a862a78b644 เล่าว่า
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยบาทหลวงยุโรปหลายชาติ นำโดยโปรตุเกส แต่ในยุคนั้น บาทหลวงโปรตุเกสแทบหาไม่ได้มาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 แล้ว
นิกายโรมันคาทอลิกในไทยก็ถูกผูกขาดโดยบาทหลวงฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยที่เป็นบาทหลวง พอมีอยู่บ้าง แต่ยังไม่เยอะเท่าไหร่ ส่วนบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ระดับบิชอปที่ทำหน้าที่ปกครองบาทหลวง ก็ล้วนแต่เป็นคนฝรั่งเศส จนคนไทยยุคนั้นพากันเรียกว่า ศาสนาฝรั่ง(เศส)
สักการสถาน บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด สักการสถาน บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด ที่ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ต่อมาช่วงที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ในขณะที่ยังมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ศาสนาฝรั่ง ก็ต้องถูกทางการไทยเพ่งเล็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เวลานั้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บาทหลวงฝรั่งเศสหลาย ๆ ท่าน ก็เลยมีอันต้องหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรชั่วคราว
แต่คนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จะหนีตามบาทหลวงฝรั่งเศสไปก็ไม่ได้ ตอนนั้นมีข้อมูลระบุว่า มีชาวคริสตังไทย 7 คนที่ยอมตาย เพราะไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา จนถูกวิสามัญฆาตกรรมที่สองคอน มุกดาหาร และได้รับเกียรติจากศาสนจักร ยกย่องขึ้นเป็นบุญราศีมรณสักขีทั้ง 7 แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา
ความหมายของ “บุญราศี” ภาษาอังกฤษเรียกว่า blessed คือคนที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกถือว่าอยู่บนสวรรค์กับพระเจ้าแล้ว แต่ยังไม่นับว่าเป็นนักบุญหรือ saint ถ้าจะให้นับเป็น saint ก็ต้องมีเรื่องอัศจรรย์ที่เกี่ยวข้องกับบุญราศีท่านนั้น (เช่น หายป่วยแบบปาฏิหาริย์เพราะอธิษฐานขอให้บุญราศีท่านนั้นช่วยวิงวอนพระเจ้าให้) และศาสนจักรรับรองอีก 1 เรื่อง (ซึ่งใช้เวลานานเป็นปี ๆ) ถึงจะนับให้ว่าเป็นนักบุญ
ส่วน “มรณสักขี” ภาษาอังกฤษเรียกว่า martyr คือคนที่ยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อรักษาศรัทธาไว้ พูดง่ายๆ คือยอมตายไม่ยอมทิ้งพระเจ้า ศาสนจักรโรมันคาทอลิกถือว่าการเป็นมรณสักขีเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนๆ นั้นดีพอจะไปอยู่บนสวรรค์กับพระเจ้าได้เลย ดังนั้น ใครที่เป็นมรณสักขี ก็มักจะได้เป็นบุญราศีไปด้วยพร้อมๆ กัน
และแน่นอนที่ บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ได้เป็นทั้งสองสิ่ง และยังเสมือนว่าได้สร้าง "โบสถ์คริสต์วัดบางขวาง" ขึ้นมาโดยไม่มีไม้กางเขนสักอัน ท่านดำเนินการเช่นนี้มายาวนานถึง 2 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง เมื่อเกิดล้มป่วยด้วยวัณโรคปอด และถูกย้ายไปแดนผู้ป่วย
กระทั่งคุณพ่อได้ทำพิธีล้างบาปให้เพื่อนนักโทษที่กำลังจะสิ้นใจถึง 68 คน จากนั้นไม่กี่เดือนท่านก็ลาโลกไปสู่อ้อมอกแห่งพระผู้เป็นเจ้า
/////////////////////
ขอขอบคุณ ข้อมูล และภาพประกอบ จาก "บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ในคุก ตามจินตนาการของอิฏฐสิทธิ์ ทองระอา" จากเว็บไซต์หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ www.catholichaab.com
และ https://storylog.co/story/57a8047aeb428a862a78b644