วันนี้ในอดีต

26 มี.ค.2520 เหตุการณ์ที่นำมาสู่ การประหารชีวิตกบฏคนสุดท้าย!

26 มี.ค.2520 เหตุการณ์ที่นำมาสู่ การประหารชีวิตกบฏคนสุดท้าย!

26 มี.ค. 2561

วันนี่ของ 41 ปีก่อนเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองเรา และทำไมต้องประหารชีวิตบุคคลผู้นี้!!

                วันนี้เมื่อ 41 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เป็นวันที่มีกลุ่มก่อการพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการแต่งตั้งและการสนับสนุนของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

                และผู้นำการก่อการนั้นคือ  พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ที่ได้นำนายทหารกลุ่มหนึ่ง และกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

                หากดูปี พ.ศ.แล้ว ชัดเจนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการจลาจลและรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผ่านมาได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

                โดยระหว่างนั้นภาครัฐก็มีความวิตกกังวลและตรึงเครียดอยู่แล้วว่า อาจจะมีการรัฐประหารซ้อนขึ้นมาจากทหารกลุ่มที่ไม่ใช่ทหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น (สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) จนกระทั่งเกิดขึ้นจริง ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 นั่นเอง!

                เหตการณ์นี้เริ่มต้นขึ้น เมื่อทหารกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย พล.อ.ฉลาด ซึ่งเป็นอดีตรองผู้บัญชาการทหารบกที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ จำนวน 300 นาย จาก กองพันทหารราบที่ 19 พัน 1, 2 และ 3 ออกมาพร้อมอาวุธปืน เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังที่ปรากฏข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนบัญชาการในกรุงเทพมหานคร

                ต่อมาในเวลาสาย คณะผู้ก่อการที่นำโดย พล.อ.ฉลาด (หรือ เรียกกันว่า เสธ.หลาด) ได้ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียงเป็นแถลงการณ์ อ้างถึงความเสื่อมโทรมด้านต่าง ๆ และอ้างเหตุของการยึดอำนาจ โดยมีใจความว่า

                “ทั้งนี้เพื่อเป็นแกนกลางของบรรดาผู้รักชาติที่จะร่วมมือกันที่จะแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้น และเพื่อสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด”

                 ทั้งนี้ ใครที่ติดตามประวัติศาสตร์และเคยอ่านหนังสือ "กอดคอเข้าคุก" มีการบอกเล่าสาเหตุที่ "เสธ.หลาด" ต้องคิดการใหญ่ นั้นก็สืบเนื่องมาจากแรงแค้นส่วนตัวที่ถูกกระทำจากคณะปฏิรูปการปกครอง 2519 ที่มีคำสั่งปลด "พล.อ.ฉลาด" ออกจากตำแหน่งประจำการกองบัญชาการทหารสูงสุด

 

26 มี.ค.2520 เหตุการณ์ที่นำมาสู่ การประหารชีวิตกบฏคนสุดท้าย!

พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ

 

               แต่ในที่สุดวันก่อการนั้น เสธ.หลาดได้ยังอ้างว่า แถลงการณ์ยึดอำนาจฉบับนี้ลงนามโดย พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งเป็นนายทหารที่บรรดากำลังพลในกองทัพให้ความเคารพนับถืออยู่ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียง 2 คน เข้าร่วมด้วย คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ และ พ.ท. สนั่น ขจรประศาสน์

                จากแถลงการณ์นี้ทำให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลท่านหนึ่งที่อยู่ที่ต่างจังหวัด ถึงกับคิดว่ารัฐบาลถูกยึดอำนาจไปแล้วเรียบร้อย รีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ และคืนรถประจำตำแหน่งและกลับบ้านพักของตัวเอง

                ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้รวมตัวกันและออกแถลงการณ์ตอบโต้ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

                โดยยืนยันว่า กองกำลังทหารและตำรวจยังยืนอยู่ “ข้างรัฐบาล” และอ้างว่า พล.อ.ประเสริฐ ถูกบังคับให้ลงนามโดยที่ไม่เต็มใจ และได้ร่วมกันปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ โดยเข้าปิดล้อม จนนำไปสู่การเจรจา และฝ่ายผู้ก่อการยอมมอบตัวและขอให้ผู้นำการปฏิบัติการครั้งนี้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

               โดยตอนนั้น รัฐบาลออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคล 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.ฉลาด, พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ (ทหารคนสนิทของ เสธ.หลาด), พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์, พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ และพ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ (ลูกชายของ เสธ.หลาด) ให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่สองคน

              พอถึงสนามบินดอนเมือง พล.อ.เกรียงศักดิ์ไม่ทำตามข้อตกลง ทำให้ผู้ก่อการทั้งหมดกลายเป็นกบฏในทันที และนำมาสู่การที่ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการถูกจับและถูกดำเนินคดี ด้วยการถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ในวันที่ 21 เมษายน ปีเดียวกันนั้น นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้

               อย่างไรก็ตาม ในที่สุด พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จในวันที่ 20 ตุลาคม ปีเดียวกับกบฏครั้งนี้ หรืออีก 7 เดือนต่อมานั่นเอง

///////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F_26_%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2520