8 พ.ค.2549 กำเนิดตุลาการภิวัฒน์
วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน อาจนับได้ว่าเป็นวันที่คำว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ถือกำเนิดเกิดขึ้น ส่วนที่มา และ การสร้างความหมายของคำนี้ คืออะไรกันแน่?
คนบางคน อาจจะมองคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” อย่างหัวร้อน! เพราะคำนี้ถูกคนกลุ่มหนึ่งใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองรูปแบบหนึ่งมาตลอด
ดังนั้น ถ้าจะให้หัวร้อนอย่างมี “สติ” และนำไปพูดต่ออย่างถูกต้อง มาทราบที่มาของคำนี้กันก่อน
นักวิชาการและผู้รู้มากมาย ยืนยันตรงกันว่า คำว่าตุลาการภิวัฒน์ หมายถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย ที่เกิดขึ้นใน วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน!!
นั่นก็คือ เหตุการณ์ที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อ 2 เม.ย. 2549 หรือแม้แต่การเลือกตั้งที่จัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ!
เหตุที่เป็นเช่นนั้น คงต้องย้อนไปว่ากันตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549
กล่าวคือ ช่วงเวลานั้นรัฐบาลทักษิณ ที่เพิ่งทำงานในสมัยที่ 2 เกิดปัญหาทางการเมืองมากมายจนต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549
จากนั้นก็ปฏิบัติหน้าที่ “รักษาการ” จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป และได้ประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549
แต่เรื่องราวไม่ง่ายอย่างนั้นสิ!!
เพราะข้างฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์มองว่า การยุบสภาครั้งนี้ ไม่ถูกต้อง เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีความผิดอะไรและฝ่ายนิติบัญญัติมิได้มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝ่ายบริหาร จนเป็นเหตุให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
นอกเสียจากว่ารัฐบาลทักษิณ มีเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป
มากไปกว่านั้น การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย 2549 ก็ไม่ชอบธรรมไม่เสมอภาคต่อพรรคอื่น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในกรณีที่มีการยุบสภา กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน “60 วัน” จะทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งได้
แต่ กกต. กลับเสนอให้รัฐบาลออก พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ภายใน 37 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป ไม่เป็นธรรมต่อพรรคฝ่ายค้าน
ทีสุด พรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรค ซึ่งมี พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน รวมพลังกันไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 แต่การเลือกตั้งก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยพรรคไทยรักไทย ส่งคนลงเพียงพรรคเดียวในหลายเขตเลือกตั้ง
ถ้าใครจำได้ช่วงเวลานั้น การเมืองไทยร้อนแรงเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด มีเหตุการณ์สำคัญ และเป็นหน้าประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย
ไล่ตั้งแต่ 3 พรรคฝ่ายค้านร่วมคว่ำบาตรการเลือกตั้ง, รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงแนวทางการดื้อแพ่ง
และ ยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต ใช้ไม้จิ้มฟันแทงที่นิ้วหลายครั้ง และนำเลือดมาใช้ในการกาบัตรเลือกตั้ง เพื่อเป็นการแสดงแนวทางอารยะขัดขืน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการเลือกตั้งอื่นตามมาเพียบ เช่น ผู้สมัครจำนวนหลายสิบเขต ที่ชนะเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ได้ กลับน้อยกว่าคะแนนไม่เลือกใคร แต่ก็ได้รับเลือกด้วยเกณฑ์ร้อยละยี่สิบ และเกณฑ์กรณีมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน
แถมยังมีประเด็นเรื่อง “คูหาเลือกตั้ง” ที่หันหลังออก ทำให้เกรงว่าอาจจะทำให้สามารถมองเห็นการลงคะแนนได้โดยง่าย, มีการร้องเรียนว่ามีการนำรายชื่อผู้สมัครไปติดไว้ในคูหาเลือกตั้ง ฯลฯ
แน่นอนที่ เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 ผลจะออกมาว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง
ส่วนเขตที่หลังจากการเลือกตั้ง 2 เม.ย. พบว่ายังมีผู้สมัครบางเขตที่มีคะแนนเสียงไม่เกินร้อยละ 20 ตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง กกต.จึงจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เม.ย. 2549 จำนวน 40 เขตเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้
แต่การเลือกตั้งรอบนี้ก็ยังคงมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งมีผู้ฉีกบัตรเลือกตั้ง เพื่อประท้วงการเลือกตั้ง ในหลายเช่น สงขลา, ภูเก็ต, ยะลา, นครศรีธรรมราช, ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
และมีผู้ประท้วงการเลือกตั้ง โดยลงชื่อและรับบัตรเลือกตั้ง แล้วส่งบัตรเลือกตั้งคืนให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยไม่มีการกาเครื่องหมายใดๆ ที่จังหวัดพัทลุง
ในที่สุดนำมาซึ่งการร้องขอให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และการเลือกตั้งหลังจากนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เป็นเหตุให้ต่อมาในวันที่ 8 พ.ค. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นั่นเอง
ถึงตรงนี้ ถามว่าทำไมถึงเรียกเหตุการณ์ที่ศาลมีคำตัดสินดังกล่าว ว่าเป็น “ตุลาการภิวัฒน์”
หากพูดภาษาชาวบ้านแค่ให้นึกภาพออก อาจใช้คำว่า “ศาลเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง” แต่หากอ้างอิงจากนักวิชาการที่เคยอธิบายคำนี้ เช่น
“...ในขณะที่ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ในประเทศไทยนั้น เมื่อศาลขยายแดนไปข้องเกี่ยวกับ “การเมือง” แล้ว กลับมีการสร้าง “เกราะคุ้มกัน” การตอบโต้ศาลขึ้นมา เกราะคุ้มกันเหล่านี้ปรากฏในรูปของกลไกกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตลอดจนผู้พิพากษาในฐานะส่วนตัวได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลอื่นในความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งหลายเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันและปราบปรามการตอบโต้ศาลในยามที่ศาลตัดสินคดีที่ส่งผลกระทบทางการเมือง...” (ปิยบุตร แสงกนกกุล โลกวันนี้ 4 ก.ย.2560)
“...ตุลาการภิวัฒน์ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย และไม่ได้ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยเสมอไป แต่ถือเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ...”
“...ตุลาการภิวัฒน์ที่เหมาะสม คือการให้โอกาสแก่รัฐบาลในการทำงานบริหารประเทศ และคอยตรวจสอบนโยบายและกฎหมายต่างๆ ว่ามีข้อใดขัดหรือละเมิดต่อรัฐธรรมนูญหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศหรือไม่ แต่ไม่ควรใช้วิจารณญาณจากผู้พิพากษาเพียงไม่กี่คนในการคาดเดาหรืออ้างความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง มาด่วนตัดสินนโยบายหรือกฎหมายที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยตั้งอยู่บนรากฐานของ "ความน่าจะเป็น" แต่เพียงอย่างเดียว...” (ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก www.voicetv.co.th/read/43794)
“...กระบวนการตุลาการภิวัตน์มองอย่างกว้างที่สุดก็คือ กระบวนการที่อำนาจตุลาการปรับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตวินิจฉัยของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองปฏิบัติภาระหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของยุคสมัยได้ดี ไม่ใช่เป็นการปรับตัวภายใต้การกำกับของอำนาจอื่น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ต้องเป็นการปรับตัวเพื่อภารกิจของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง...” (ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์)
แต่ในเมื่อ ตุลาการภิวัฒน์เกิดขึ้นมาแล้ว หลังคำวินิจฉัยดังกล่าวของของศาลรัฐธรรมนูญ คำนี้จึงยังคงมีการหยิบยกนำมาใช้อีกหลายครั้ง เช่น ข้อมูลจากประชาไทยนำเสนอไทม์ไลน์ตุลาการภิวัตน์ (สะกด “ต์”) ไว้หลังจากภาค 1 ไว้ดังนี้ (https://www.prachatai.com/journal/2017/08/72959)
ตุลาการภิวัตน์ภาค 2 หลัง เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่ได้มีการยุบพรรคพลังประชาชน ตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2
ตุลาการภิวัตน์ภาค 3 คือหลังเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาสู่การทำ รัฐประหารโดย คสช.ช่วงเดือน พ.ค.2557
และ ตุลาการภิวัตน์ภาค 3.1 ยุค คสช. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 และวันตัดสินคดีจำนำข้าว
ใครคิดเห็นยังไงลองค้นข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ประกอบ แต่ถึงตอนนี้ หลายคนอาจเข้าใจคำนี้มากขึ้น
ทั้ง ที่มา เหตุผล และ การสร้างความหมายของแต่ละฝ่ายที่มองว่า “ตุลาการภิวัตน์” คืออะไรกันแน่?