รู้จักเจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ ผู้จากไปกับ เลาดาแอร์
หลังจาก 'เทคออฟ' ได้ไม่นาน เครื่องยนต์ก็ขัดข้องและระเบิดกลางอากาศ เสียชีวิตหมดทั้งลำ หนึ่งในนั้นมีคนไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมชั้นสูงรวมอยู่ด้วย!
คนไทย หลายคนน่าจะยังได้ดี กับข่าวคราวของ เมื่อ 27 ปีก่อน ช่วงวันที่ 26 พ.ค.2534 เครื่องบินโบอิ้ง 767-3Z9ER ของสายการบิน ‘เลาดา แอร์’ สัญชาติออสเตรีย ประสบอุบัติเหตุระเบิดกลางอากาศ และตกลงในป่า ที่อุทยานแห่งชาติพุเตย อ. ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
เครื่องบินลำนี้เป็นเที่ยวบิน NG 004 ระหว่าง ฮ่องกง-เวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างทางได้แวะพักที่สนามบินดอนเมือง
และหลังจาก ‘เทคออฟ’ ได้ไม่นาน เครื่องยนต์ก็ขัดข้องและระเบิดกลางอากาศ ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งลำรวม 223 คน
หนึ่งในนั้น เป็นคนไทยที่มีชือ่เสียงในแวดวงสังคมชั้นสูง คือ คุณหญิง เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ยังความโศกเศร้าเสียใจแก่คนไทยเป็นอันมาก (อ่าน 26 พ.ค. 2534 ‘เลาดา แอร์’ระเบิดกลางอากาศ http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/279049)
วันนี้ในอดีต จึงขอรำลึกถึงเจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ผุ้นี้อีกครั้ง ด้วยประวัติและผลงาน
คุณหญิง เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน มีสกุลเดิมว่า ณ เชียงใหม่ เกิดเมือวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2469 หรือวันนี้เมื่อ 92 ปีก่อน
เป็นธิดาของพลตรี เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) เจ้าราชบุตรองค์สุดท้ายแห่งจังหวัดเชียงใหม่ กับเจ้าภัทรา ณ เชียงใหม่ (สกุลเดิม: ณ ลำพูน)
มีน้องสาวร่วมบิดามารดา คือ เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล และมีพี่สาวต่างมารดาคือ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี
นอกจากนี้ เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ยัง เป็นพระนัดดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่คนสุดท้าย
เจ้าพงศ์แก้ว สมรสกับเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน โอรสในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนคนสุดท้าย มีบุตรสี่คน เป็นชายสามและหญิงหนึ่งคน ได้แก่
คุณ เจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน
เจ้าพัฒนพงศ์ ณ ลำพูน สมรสกับศรัณยา ณ ลำพูน
เจ้าวงศ์จักร ณ ลำพูน สมรสกับสุวรีย์ ณ ลำพูน
เจ้าศักดิ์ขจร ณ ลำพูน สมรสกับวันเพ็ญ ศักดาธร
เครดิตภาพจากเฟซบุค "เจ้านายฝ่ายเหนือ"
ข้อมูลต่างระบุตรงกันว่า คุณหญิง เจ้าพงษ์แก้ว ณ ลำพูน เป็นสตรีผู้ซึ่งสิริโฉมงดงาม ถือกำเนิดในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน หรือ ทิพย์จักราธิวงศ์ อันสูงศักดิ์ เพรียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกประการ
เจ้าพงศ์แก้ว เป็นผู้บุกเบิกกิจการผ้าไหมในภาคเหนือ และถวายการดูแลผ้าไหมในฉลองพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งหอการค้าจังหวัดลำพูน
โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากแม่เจ้าส่วนบุญ จนสามารถเป็นสืบทอดการทอผ้ายกดอกที่เก่าแก่สวยงาม และเปิดโรงงานทอผ้าขึ้นในคุ้มหลวงลำพูน
รวมถึงฝึกสอนชาวบ้านเพื่อนำไปประกอบอาชีพจนแพร่หลายในจังหวัดลำพูน
เจ้าพงศ์แก้ว ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ถวายการดูแลผ้าไหมในฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นอกจากนี้ ท่านยังมีส่วนในการส่งเสริมกิจการของรัฐ อาทิ การบริจาคที่ดินบริเวณตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน เพื่อสร้างสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ. 2525
และเจ้าพงศ์แก้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นนายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 ถึงปี พ.ศ. 2517 และวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2522
สำหรับการถึงแก่อนิจกรรม ตามที่เกริ่นไปข้างต้น เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ถึงแก่อนิจกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องบิน เลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004 เครื่องยนต์ขัดข้อง และตกที่บริเวณอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 หลังจากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เพียง 22 วัน สิริอายุได้ 65 ปี
ภาพเจ้าพงศ์แก้ว จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ท.จ.
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ หีบทองสาลสลัก ฉัตรเบญจาตั้งประดับเกียรติยศ ปี่กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์บำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมแก่ศพ เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน เป็นเวลา 7 วัน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาวางหน้าศพ
และในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไปในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ และศพ เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ณ เมรุชั่วคราววัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย