วันนี้ในอดีต

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

6 ก.พ.2548 ในความทรงจำสีจางๆ

06 ก.พ. 2562

จำได้หรือไม่ ที่การเมืองไทยถูกบริหารงานโดย "รัฐบาลพรรคเดียวแบบพรรคเด่นพรรคเดียว (single party government)" โดยพรรคไทยรักไทย

          มาถึงวันนี้ทั้งที จะไม่ให้กล่าวถึงหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทยฉากนี้ ก็คงพลาดเต็มทีละ

          ยิ่งช่วงนี้กลิ่นอายเลือกตั้งใกล้เข้ามา หลายคนก็หวนคิดถึงบรรยากาศการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มใบที่เราเคยสัมผัสกันบ้าง ไม่มากก็น้อย

           มันเหมือนความทรงจำสีจางๆ ที่ค่อยๆ จางหายไปพร้อมกับฝุ่นควันเวลานี้

           เพราะวันนี้เมื่อ 14 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 คือ วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 23 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

           และผลคือ พรรคไทยรักไทยยังคงชนะเลือกตั้ง และเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้!!

 

ปรากฏการณ์ซ้อนสองชั้น

           ย้อนกลับไปนิดหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจากการชนะการเลือกตั้งฯ ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 และเริ่มบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 มาจนครบวาระ 4 ปี

          ครั้งนั้นว่า พีคแล้ว ตรงที่พรรคไทยรักไทย ได้ทำให้ประเทศไทยเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยสามารถบริหารประเทศได้ครบวาระ”!! (อ่าน 5 มกราคม 2548 ครั้งแรก และครั้งเดียว! http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/308145)

 

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

 

          แต่ที่พีคหนักเข้าไปอีกคือ จนเมื่อได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นตามกติกา ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 23 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ผลปรากฏว่า  พรรคเดิมยังสร้างปรากฏการณ์ตามมาอีก "ไทยรักไทย" ยังคงชนะเลือกตั้ง และเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

           จนมีนักวิชาการ กล่าวว่านี่เป็นช่วงที่การเมืองไทยถูกบริหารงานโดย “รัฐบาลพรรคเดียวแบบพรรคเด่นพรรคเดียว (single party government)” โดยพรรคไทยรักไทย  (http://wiki.kpi.ac.th)

           สำหรับชัยชนะครั้งที่สองนั้น พรรคไทยรักไทยได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 377 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคการเมืองหมด เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเพียง 96 ที่นั่ง, พรรคชาติไทย 25 ที่นั่ง และพรรคมหาชน 2 ที่นั่ง และส่งผลให้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านไปโดยทันที

           ที่สุด พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคการเมืองเดียว ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องอีกหนึ่งสมัย ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2548

           ถามทำไม พรรคนี้ถึงมาได้ไกลขนาดนี้ คงจำกันได้กับความทรงจำแต่เก่าก่อนที่คนไทยส่วนใหญ่มีให้กับพรรคนี้ กับบรรดานโยบายประชานิยม ผ่านโครงการต่างๆ ที่เคยหาเสียงไว้ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

 

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

เจ้าตำรับผ้าขาวม้าการเมือง

       Thailand Only

           แต่การเมืองแบบ Thailand Only มาไกลขนาดนี้นับว่าเก่งแล้ว เพราะปรากฏว่าภายหลัง ปัญหาคลื่นแทรกทางการเมืองเข้ามาถาโถม มีการพบว่าหลายโครงการมีปัญหาในการดำเนินการ และมีคำถามเรื่องความโปร่งใส และความพร้อมตรวจสอบ

          ที่สุด คณะรัฐมนตรีคณะนี้ ก็สิ้นสุดลงด้วยการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 โดยครั้งนั้น รัฐบาลทักษิณยังคงปฏิบัติหน้าที่ “รักษาการ” จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป และมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ต่อ

          แต่เนื่องจาก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทย วันที่  2 เมษายน พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์เช่น 3 พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

          รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงแนวทางการดื้อแพ่ง
          นายยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ใช้ไม้จิ้มฟันแทงที่นิ้วหลายครั้งและนำเลือดมาใช้ในการ กาบัตรเลือกตั้งและยืนยันว่าเป็นการผิดกฎหมาย ในเขตลาดพร้าว เพื่อเป็นการแสดงแนวทางอารยะขัดขืน แบบหนึ่ง (อ่าน 2 เม.ย.2549 3 พรรคคว่ำบาตรเลือกตั้ง 1 อาจารย์ฉีกบัตรในคูหา http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/318918)

 

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

 

          และปัญหาด้านอื่นๆ อีกมากมาย เกี่ยวกับข้อวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในยุคนั้น

          ที่สุด การเลือกตั้งหนนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน จึงวินิจฉัยให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ 

          พูดง่ายๆ ว่าถูกประกาศให้เป็นโมฆะ คณะรัฐมนตรีชุดนี้จึงต้องรักษาการต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประกาศว่าจะเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549

          แต่แล้ว ก่อนจะถึงการเลือกตั้งก็ได้เกิดการก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) จึงทำให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้สิ้นสุดลง

          และนำมาสู่การที่ พรรคไทยรักไทย ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ถูกวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 5 ปี ด้วยมติ 6 ต่อ 3 เสียง (อ่าน 30 พ.ค. 2550 ‘ยุบพรรคไทยรักไทย’ http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/279742)

 

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

 

          ถือเป็นการปิดฉากพรรครัฐบาลที่ทำสถิติสำคัญๆ ไว้กับประเทศไทยในที่สุด

         

ความหวังเหรียญทอง 24 มี.ค.

          อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น เมืองไทยก็ยังคงสลับสับเปลี่ยน ราวกับเก้าอี้ดนตรี โดยมีรัฐบาลจากขั้วอื่นขึ้นมาบริหารประเทศ และกลับมาที่ขั้วของอดีตพรรคไทยรักไทยอีกครั้งในปี 2554 แต่จนแล้วจนรอด ก็ตามมาด้วยการทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

          แต่ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ทั้งเลือกตั้ง และตั้งเอง ไม่เคยอยู่จนครบสมัยเลย ดังนั้น ในความทรงจำของคนไทยหัวใจประชาธิปไตย ก็มิอาจลืมได้ว่า เมืองไทยเราก็เคยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และสามารถอยู่จนครบเทอมได้เหมือนกัน และนั่นคือ "รัฐบาลทักษิณ 1"!

          มาถึงวันนี้ แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คนไทยรอมานานหลายปี กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะถึง หลายคนอดตั้งความหวังวันฟ้าใสไม่ได้ แต่หลายนก็อาจคิดไปไกลว่า จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ กลัวว่า น่าจะตามรอยรัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ซะมากกว่า

 

6 ก.พ.2548  ในความทรงจำสีจางๆ

 

         แต่บางคนบอกเลย "ไม่แน่" เพราะภายใต้กติกาการเลือกตั้งหนนี้ ล้วนผ่านการ คิด วางแผน เขียน "พิมพ์เขียว" มาอย่างดีแล้วว่า จะไม่ให้ “เสียของ” อีกเด็ดขาด!!

         ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับว่าฝ่ายไหนจะชนะเลือกตั้ง...แค่นั้นเอง

/////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก 

http://wiki.kpi.ac.th/