วันนี้ในอดีต

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

6 มี.ค.2225 สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

06 มี.ค. 2562

ตำนานนี้จริงเท็จอันใด สุดแท้จะยืนยัน นอกจากภายหลังมีการออกมาเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับ แหล่งท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ที่เป็น "บ่อน้ำจืดกลางทะเล" !!

         

 

*************************

 

 

          วันนี้มีเรื่องราวสุดอัศจรรย์ จนไม่แปลกใจว่าเหตุใดคนไทยจึงเลื่อมใสศรัทธา “หลวงปู่ทวด” เป็นอันมาก

 

          หลวงปู่ทวดในที่นี้ ไม่ใช่เกจิองค์ไหนเลย นอกจาก “สมเด็จเจ้าพะโคะ” หรือ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” หรือ “หลวงปู่ทวด วัดช้างให้” ที่เรารู้จักคุ้ยเคยกันดี

 

          โดยเฉพาะรูปปั้นหลวงปู่องค์ใหญ่ที่ “วัดห้วยมงคล” เป็นวัดที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านห้วยคต อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวไทยพุทธน้อยคนจะไม่เคยไปกราบไหว้สักการะบูชา

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

ภาพจาก http://www.chillnaid.com/30250/

 

 

          หากแต่ถ้าย้อนไปไกลมากกว่านี้ ยังมีเรื่องเล่าขานปาฏิหาริย์ถึงหลวงปู่ทวด หรือ “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” อีกมากมาย แม้จะเป็นตำนานท้องถิ่น ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง แต่อันเรื่องความเลื่อมใสศรัทธาของเราคนไทยพุทธแล้ว คือของจริงแท้แน่นอน!!

 

          วันนี้เมื่อ 337 ปีก่อน หรือ ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 คือวันที่ "หลวงปู่ทวด" หรือ “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์” มรณภาพจากไป ขณะพำนักที่ ไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย

 

          สำหรับเรื่องราวประวัติที่ปรากฏทั่วไประบุว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลของ “สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช”

 

          หลวงปู่ทวดมีนามเดิมว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู และ นางจัน ชาวบ้านวัดเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าบิดามารดาของเด็กชายปูนั้นเป็นทาสในเรือนเบี้ย (ทาสทำงานใช้หนี้) ของเศรษฐีคนหนึ่งที่มีชื่อว่า “ปาน” อีกด้วย

 

          ส่วนวันเดือนปีเกิดของเด็กชายปู หลักฐานยังขัดแย้งกันมากมีผู้สันนิษฐานไว้หลายกระแส หากแต่ที่ตรงกันคือท่านเกิดในเดือนมีนาคม และช่วงปี 2125 เป็นข้อมูลที่พบตรงกันมากที่สุด

 

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าว่าขณะท่านเกิด มีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด

 

          จนเมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้ว นายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน

 

          แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น ก็ยังมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว บิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนา ซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร

 

          ที่นาแห่งนั้นมีดงตาล และมะเม่าเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ “นาเปล” ในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร

 

          บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่าน ซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้น และก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น

 

          พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่ หรือ “งูบองหลา” ที่ชาวภาคใต้เรียกกัน

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

 

 

          งูนั้นได้พันที่รอบเปลของลูกชาย นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมาก จึงเรียกสามีซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาช่วยไล่งู แต่จะไล่ยังไงงูนั้นนั้นก็ไม่ยอมไปไหน

 

          ทั้งสองจึงตั้งสัตยาธิฐานว่า ขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้น ก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่า ทั้งคู่จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใดๆ

 

          แต่ที่สุดอัศจรรย์คือ มีเมือกแก้วขนาดใหญ่ ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปู เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวเป็นมาก และต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว (ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ)

 

          แต่เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้า ก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอามาเป็นของตน แต่ภายหลังได้เกิดเภทภัยต่างๆ แก่ครอบครัวของเศราฐีปาน ทั้งการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู ทั้งยังยกหนี้สินให้แก่สองผัวเมียด้วย ที่สุดทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาส และก็มีฐานะดีขึ้นๆ เช่นเดียวกับเศรษฐีปาน ที่กลับมามีฐานะดีขึ้นดังเดิม

 

          ต่อมา เมื่อเด็กชายปูมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ ช่วงปี พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปเล่าเรียนหนังสือที่ “วัดกุฎีหลวง” หรือ “วัดดีหลวง” ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้บ้านท่าน โดยท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่

 

          เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดี สามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่อมีอายุ 15 ปี จึงได้บวชเป็นสามเณรที่วัดนี้เอง ว่ากันว่าตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป

 

          และแน่นอน ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ท่านสมภารจวง จึงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้น (สมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง)

 

          สมภารจวงนำไปฝากเรียนไว้กับ “สมเด็จพระชินเสน” ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาเป็นเจ้าอาวาส “วัดสีคูยัง” หรือ “วัดสีหยัง” ในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

 

 

 

          และเช่นเคยที่ สามเณรปูจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น

 

          ที่นครศรีธรรมราช ท่านมาพำนักอยู่ที่ “วัดเสมาเมือง” โดยที่นี่มี “สมเด็จพระมหาปิยะทัสสี” เป็นเจ้าอาวาส

 

          จนเมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านจึงได้บรรพชาอุปสมบทให้สามเณรปูเป็นพระสงฆ์ จากนั้นก็ได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้งเป็นที่เลื่องลือ 

 

          โดยเฉพาะที่ได้ยินกันมากคือ ปาฏิหาริย์เหยียบน้ำทะเลจืด มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ โดยคาดการณ์กันว่า เวลนั้น ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ

 

          วันหนึ่งท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไปด้วย

 

          เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน

 

          ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น ทุกคนเดือดร้อนเป็นอันมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลง แล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล ท่ามกลางสายตาของโจรจีนทั้งหมด

 

          เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเล ท่านก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่ม พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อ ก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางเลือกแล้ว ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดกลับกลายเป็นรสชาติจืด ดื่มได้เป็นที่อัศจรรย์!! 

 

          กลุ่มโจรจีน ได้เห็นแก่สายตาเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป ทั้งหมดจึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษ แล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งกลับมา

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

 

 

 

          ตำนานนี้จริงเท็จอันใด สุดแท้จะยืนยัน นอกจากภายหลังมีการออกมาเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับ แหล่งท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ที่เป็น “บ่อน้ำจืดกลางทะเล” หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ที่เกาะนุ้ย

 

          ซึ่งเกาะนุ้ย นี้เป็นเกาะเล็กๆ ไม่ห่างจากชายฝั่ง ตั้งอยู่ที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม บ่อน้ำจืดนี้มีมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 70 ซม. มีลักษณะเป็นบ่อธรรมชาติขนาดเล็กซึ่งจะปรากฏให้เห็นต่อเมื่อเวลาน้ำทะเลลดระดับลง

 

          มีความมหัศจรรย์คือแม้จะอยู่กลางทะเล แต่ก็เป็นบ่อกลายเป็นน้ำจืด ชิมแล้วมีรสชาติจืดถึงกร่อย เกิดจากรอยแตกของชั้นหินที่ต่อกับตาน้ำจืดใต้พื้นดิน เมื่อยามน้ำลดน้ำจืดจะดันตัวนำน้ำทะเลออกจนหมดเหลือแต่น้ำจืด ส่วนชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่า บ่อน้ำจืดนี้คือบริเวณที่ “หลวงปู่ทวด” เคยมาเหยียบน้ำทะเล ให้กลายเป็นน้ำจืดตามตำรา

 

          ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าบ่อน้ำที่เห็นบนเกาะนุ้ยนี้เป็นรอยเท้าที่เกิดจากท่านได้เหยียบไว้ในตำนาน สถานที่นี้จึงกลายเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณยอดเขาของเกาะนุ้ยจึงมีหลวงปู่ทวดประดิษฐานอยู่ให้กราบไหว้ โดยเดินขึ้นตามทางบันไดหินไม่กี่ขั้น ส่วนนักท่องเที่ยวจึงมักนิยมเก็บน้ำในบ่อน้ำจืดนี้ไปบูชาเสมือนเป็นน้ำมนต์

 

 

          แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเล่า แต่เรามิอาจปฏิเสธว่า ท่านเป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์ ช่วยเทศนาสั่งสอนธรรม ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา

 

          ทั้งนี้ ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จาก “สมเด็จพระเอกาทศรศ” ในครั้งสุดท้ายในราชทินนาม “สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์”

 

          ช่วงหนึ่ง เมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่ วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ครั้งหนึ่งท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่า เมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต่อไปสถานที่ข้างหน้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้คนมาเที่ยว

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

วัดช้างให้ จ.ปัตตานี

 

 

          ที่สุดในวันที่ 6 มีนาคม 2225 ท่านได้มรณภาพลงเมื่ออายุกาลครบ 100 ปี ที่ "เมืองไทรบุรี" ซึ่งเดิมเคยเป็นหัวเมืองทางใต้ของไทย แต่ตกเป็นของอังกฤษตามสนธิสัญญาที่ทำกันเมื่อปี พ.ศ.2451 พร้อมๆ กับอีก 3 หัวเมือง รวมเป็น 4 หัวเมือง คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ต่อมาคือหัวเมืองและรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย

 

          หากแต่ข้อมูลบางแหล่งยังระบุว่า มี "วัดหลวงปู่ทวด" ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองเล่งกง อ.กริ๊ก รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ที่นี่เคยถูกบันทึกไว้ว่าเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ทวดมรณภาพเช่นกัน โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำสุไหงบ๊ะห์ และ สุไหงเกอร์นาริงค์ ต.เกอร์นาริงค์ อ.กริ๊ก มีชื่อเรียกว่า “สมีมาตี” (Sami Mati) และมีการสร้างสถูปหลวงพ่อทวดไว้ที่ริมแม่น้ำเกอร์นาริงค์

 

 

 

6 มี.ค.2225  สิ้นหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ตำนานเหยียบน้ำทะเลจืด

สถานที่ซึ่งระบุว่าเป็นที่ละสังขารของหลวงปู่ทวดที่ มาเลเซีย แต่ช่วงหลายปีก่อนถูกกลุ่มคนทุบทำลายเป็นข่าวดัง

 

 

 

          อนึ่ง ภายหลังท่านมรณภาพจากไป ลูกศิษย์ลูกหาก็ได้ทำตามสิ่งที่หลวงปู่ได้สั่งเสียไว้ จึงมีการเคลื่อนย้ายสังขารหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมาจนถึง จ.ปัตตานี โดยผ่านเส้นทางพักการเคลื่อนย้าย จากมาเลเซียถึงปัตตานีถึง 18 จุด ด้วยกัน

 

          เช่น จุดที่ 1 สถานที่มรณภาพริมฝั่งน้ำสุไหงเกอร์ และสุไหงเกอร์นาริง รัฐเปรัค, จุดที่ 4 สถานที่พักศพโคกเมรุ อำเภอบาลิง รัฐเคดะห์, จุดที่ 16 สถานที่พักศพบ้านถ้ำตลอด ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

 

          จุดที่ 17 สถานที่พักศพบ้านช้างไห้ตก วัดบันลือคชาวาส ต.ช้างให้ตก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ จุดที่ 18 สถานที่ฌาปนกิจศพวัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

 

          แน่นอนปัจจุบันวัดช้างให้ ก็ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ปัตตานี ตามคำทำนายของหลวงปู่จริงๆ  ทั้งนี้ปัจจุบันวัดช้างให้ คือ "วัดราษฎร์บูรณะ" นั่นเอง

 

          ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ที่มีตัวตนจริง

 

 

****************************