วันนี้ในอดีต

22 มี.ค.2277  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เสด็จพระราชสมภพ

22 มี.ค.2277 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จพระราชสมภพ

22 มี.ค. 2562

ในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "พระเจ้าตากสิน"

          แม้กรณีวันพระราชสมภพ ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือที่เราคนไทยคุ้นเคยเรียกขานพระนามกันว่า พระเจ้าตาก จะยังเป็นที่ถกเถียง โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยใช้การคำนวณย้อนหลังจากวันเสด็จสวรรคตตามที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุโหรว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ 48 ปี 15 วัน และตามหลักฐานของชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า ทรงถูกประหารชีวิตในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2325 และวันพระราชสมภพคือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277  

 

22 มี.ค.2277  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เสด็จพระราชสมภพ

          แต่หากถือตามหลักฐานฝ่ายไทยซึ่งบันทึกว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2356 วันพระราชสมภพก็คือ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิธ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ไทยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2277

          ก็นับว่าวันนี้เมื่อ 285 ปีก่อน คือวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพนั่นเอง

          อย่างไรก็ดี แม้จะยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ แต่เรื่องราวของอดีตกษัตริย์ไทยพระองค์นี้ ยังเป็นที่สนใจของเราชาวไทยเสมอมา

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ (นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้) และ นางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

          ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทย

          บวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310

           ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี

          สำหรับผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน ที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วแคว้นสยามและเพื่อนบ้านใกล้เคียง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยได้สำเร็จ   

 

    22 มี.ค.2277  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เสด็จพระราชสมภพ

http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/307326

 

         โดยในปีพุทธศักราช 2308 -2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าประมาณ 3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป

          จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถ ตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ๆ พากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียง ไว้ในอำนาจ หลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายสุดจินดาซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่หนึ่ง

          หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เนื่องจากทรงเห็นว่ามีชัยภูมิดี ประกอบกับ กรุงศรีอยุธยาเสียหายหนัก จนยากแก่การบูรณะ ให้เหมือนเดิม

          ต่อมาในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “พระเจ้าตากสิน” ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้โปรดให้มีการ สร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

 

22 มี.ค.2277  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เสด็จพระราชสมภพ

 

          หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้อง สิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 ปี ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร

          เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบ ดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

///////////////////////////////

ขอขอบคุณที่มา

วิกิพีเดีย

และ เวบไซต์ www.wangdermpalace.com