1 เม.ย.2524 42 กองพันยังสู้ไม่ได้ กบฏยังเติร์ก "วันโกหกโลก"
การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์
*******************
หลายคนคงกำลังเล่นเกม “วันโกหกโลก” หรือ “April fool day” หรือ หลายคนเรียกว่า “เมษาหน้าโง่” ในวันนี้อยู่แน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อวันนี้ของ 38 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 1 เมษายน 2524 ได้เป็นวันเริ่มต้นของ การพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาล ที่เรียกว่า “กบฎยังเติร์ก” หรือ กบฏเมษาฮาวาย
วันนี้มาย้อนความจำกันอีกครั้ง ข้อมูลจากวิกิพีเดียให้รายละเอียดว่า กบฎยยังเติร์กเป็นความพยายามรัฐประหารระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
จะว่าไปการก่อการครั้งนี้ มีจุดเด่นหลายประการ จนคิดไม่ถึงว่าท้ายที่สุดจะโดนเรียกว่า “กบฏเมษาฮาวาย” จากสื่อมวลชนไปจนได้
ในส่วนของจุดเด่น เช่นว่า กลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จรป.7) หรือรุ่น “ยังเติร์ก” ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังต่างๆ อยู่ในกองทัพบก
พันเอก มนูญกฤต รูปขจร
สำหรับผู้ก่อการที่เป็นรุ่นยังเติร์ก ได้แก่ พันเอก มนูญกฤต รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.; ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร), พันเอก ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโท พัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอก ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอก แสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอก บวร งามเกษม (ป.11), พันเอก สาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมีพลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ
นอกจากนี้ การกบฏครั้งนี้ ยังมีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย!! ที่แรงคือ แทบจะไม่มีกองพันเหลืออยู่ข้างรัฐบาลเลย!
โดยสาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้ ถูกระบุว่ามาจากความไม่พอใจของพลเอกสัณห์ที่มีต่อพลเอกเปรม เนื่องจากทางกองทัพบกได้มีการต่ออายุราชการให้กับพลเอกเปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ออกไปอีก 1 ปี ทำให้พลเอกสัณห์ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบกหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกจึงได้รวบรวมนายทหารสาย จปร.7 ก่อการในครั้งนี้
สำหรับลำดับเหตุการณ์ เริ่มต้นขึ้นโดยคณะผู้ก่อการที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการสภาปฏิวัติ” เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน โดยจับตัวพลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ซึ่งภายหลังได้แจ้งว่าเข้าร่วมเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง), พลโท หาญ ลีนานนท์, พลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรี วิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ ใจความว่า
“เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคล ”ที่ไม่หวังดี“ ต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน”
พร้อมกับได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง พร้อมกับ “เปิดเพลงปลุกใจ” ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดเวลา
ขณะที่ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมีการตั้งบังเกอร์ กระสอบทราย และมีกำลังทหารพร้อมอาวุธรักษาการณ์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งมีการอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นสัญลักษณ์ด้วย
ทางฝ่ายรัฐบาล โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น)
การตอบโต้กลับของทางรัฐบาล เริ่มต้นด้วยการโดยส่งเครื่องบินเอฟ-5อี บินเข้ากรุงเทพเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย มีทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน
ที่สุด การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเป็นเวลา 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนจบ
ขณะที่แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ โดยพันเอก มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ต่อมาคณะนายทหารเหล่านี้นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศน์ บ้านพัก ในวันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่พลเอกสัณห์ เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ
อนึ่ง การกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีบางข้อมูลระบุว่า ในเย็นก่อนเกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางหนึ่งในฝ่ายผู้ก่อการ คือ พันเอกประจักษ์ได้เข้าพบพลเอกเปรมถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วม โดยให้เป็นหัวหน้าคณะและจะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เพื่อขจัดอิทธิพลของนักการเมือง แต่พลเอกเปรมไม่ตอบรับ พร้อมกลับเข้าบ้านพักและหลบหนีออกไปได้ บางแหล่งระบุว่าพล.อ.เปรม กระโดดออกทางหน้าต่างด้วยซ้ำ!!
แน่นอนการก่อการที่ล้มเหลวจะถูกเรียกว่า "กบฎ" แต่กบฏครั้งนี้ยังถูกสื่อมวลชนเรียกว่า "กบฏเมษาฮาวาย" ด้วย โดยมีการอธิบายเหตุผล ซึ่งยังไม่ม่การยืนยันว่าเพราะเหตุอันใด เช่นว่าการก่อการเกิดขึ้นในหน้าร้อน ผู้คนจึงนึกถึงเกาะฮาวาย, หรือเหตุผลที่มีผู้ให้ไว้ในกระทู้หนึ่งของเวบไซต์พันทิป (https://pantip.com/topic/35206814) โดยอธิบายไว้ดังนี้
"การกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า กบฏเมษาฮาวาย ปล.สรุปมันคือคำดูถูกประมาณ มวยล้มต้มคนดูถูกครับ"
ขณะที่ยังมีผู้ให้เหตุผลเพิ่เติมอีกว่า "มันเป็นชื่อการประกวดนางงามที่ดังมากในยุคนั้น ประกวดตอนเมษาใส่ชุดฮาวาย เพชรา เชาวราชก็ดังมาจากการประกวดนี้ พอปฏิวัติช่วงเมษาก็เรียกกันมาเพราะเป็นคำติดปาก"
"สมัยก่อนนิยมใส่เสื้อฮาวายกันช่วงเดือนเมษา สงกรานต์ จนกลายเป็นธรรมเนียมว่า ต้องใส่ชุดลายดอกในวันสงกรานต์ เพราะอิทธิพลของหนังเอลวิส"
และอีกคนให้เหตุผลว่า "มันเป็นการดูถูกกบฏครับ เพราะก่อการช่วงเมษา ที่มีการประกวดนางงามฮาวาย ในขณะที่การกบฏล้มเหลม โดยยังไม่ทันจะรบเลย ก็แพ้แล้ว แพ้แบบชิวๆ งงๆ สบายๆเหมือนบรรยากาศจัดประกวดนางงามคือประมาณสบประมาทว่า กบฏมีน้ำยาเท่านี้เหรอ"
จะเพราะเหตุใดก็ตาม แต่ผู้นำการก่อการครั้งนี้ อย่าง พันเอก มนูญกฤต รูปขจร ได้กลับมาก่อการซ้ำอีกรอบในอีก 4 ปีต่อมาใน กบฏ 9 กันยา หรือ กบฏสองพี่น้อง ซึ่งก็ไม่สำเร็จอีกต้องลี้ภัยต่างประเทศอีกครั้ง โดยเราเคยนำเสนอเรื่องราวไว้แล้วตามลิงค์นี้ http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/294869
///////////
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
วิกิพีเดีย
https://pantip.com/topic/35206814