6 พ.ค.2480 การเดินทางเที่ยวสุดท้ายของฮินเดินบวร์ค
ว่ากันว่า อากาศวันนั้นไม่เป็นใจ มีทั้งกระแสลมแรง จนฮินเดินบวร์คถึงจุดหมายล่าช้าไปถึง 12 ชั่วโมง แต่ฮินเดินบวร์คก็ไม่สั่นสะเทือนแม้แต่น้อย จนกระทั่ง!!!!
วันนี้เมื่อ 82 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2480 (ค.ศ.1937) เรือเหาะ เอลเซท 129 ฮินเดินบวร์ค นำหลายสิบชีวิต ขึ้นไปประสบพบชะตากรรมอันโหดร้าย โดยมีถึง 35 ราย ที่ได้กลับลงสู่พิ้นดินอย่างไร้ลมหายใจ
ก่อนจะว่ากันที่เที่ยวบินครั้งสุดท้ายของเรือเหาะเยอรมันลำนี้ มาทำความรู้จักกับมันก่อน เรือเหาะลำนี้ สร้างคู่กับเรือเหาะลำน้องที่ชื่อ กราฟเซพเพอลิง 2 นับเป็นอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ใช้ช่วงบินให้บริการปีที่ 2
เรือเหาะฮินเดินบวร์คได้รับการตั้งชื่อตาม จอมพลจอมพล ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค ประธานาธิบดีแห่งประเทศเยอรมนีระหว่าง พ.ศ. 2468-2477 (ค.ศ. 1925-1934) ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของเยอรมนีที่รับตำแหน่งจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ก่อนที่ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” จะครองอำนาจ
เรือเหาะฮินเดินบวร์ค ขณะบินอยู่เหนือแมนแฮตตัน, นิวยอร์ก
เรือเหาะฮินเดินบวร์ค สร้างโดยบริษัท “ลุฟท์ชิฟฟ์เบา เซพเพอลิง” เมื่อปี พ.ศ.2478 (ค.ศ. 1935) ยาว 245 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 41 เมตร ยาวกว่าเครื่องบินโดยสาร 747 สามลำมาเรียงต่อกัน
เรือเหาะลำนี้ แต่เดิมออกแบบโดยใช้ก๊าซฮีเลียมบรรจุ แต่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกจึงต้องใช้ก๊าซไฮโดรเจนซึ่งติดไฟได้ตามปกติ วิธีการต้องใช้ก๊าซบรรจุในลำตัวจำนวน 200,000 ลูกบาศก์เมตร แยกบรรจุเป็น 16 ถุง สร้างแรงยกได้ 123.5 ตัน
ถามว่า เหตุใดผู้คนจึงกล้าขึ้นเรือเรือเหาะลำนี้ มีคำอธิบายว่า ที่ผ่านมาเหาะพลเรือนของเยอรมันไม่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อนเลย ขณะที่การใช้ก๊าซไฮโดรเจนยังเพิ่มแรงยกได้มากกว่าก๊าซฮีเลียม 8% พูดง่ายๆว่า มีพลังมากกว่านั่นเอง
เรือเหาะฮินเดินบวร์คใช้เครื่องยนต์ปรับถอยหลังขนาดเครื่องละ 1,200 แรงม้า จำนวน 4 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กิโลเมตร/ชั่วโมง สิ้นค่าก่อสร้างในสมัยนั้น 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าโดยสารจากประเทศเยอรมนีถึงเมืองเลคเฮิร์ส สหรัฐอเมริกา คนละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแพงมากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนั้น (มีค่าเท่ากับประมาณ 6,100 เหรียญฯ หรือกว่า 200,000 บาทในปัจจุบัน)
เรือเหาะฮินเดินบวร์คขณะจอดเทียบฐานจอดที่เลคเฮิร์ทส์ นิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2479
เพื่อลดแรงฉุด ห้องโดยสารของเรือเหาะฮินเดินบวร์คจึงถูกวางตัวไว้ภายในลำเรือทั้งหมด ต่างจากเรือเหาะกราฟเซบเปลินที่ทำเป็นแบบห้องแขวน ห้องนอนผู้โดยสารซึ่งเป็นห้องนอนขนาดเล็กจัดไว้ชั้นบนสุด ส่วนชั้นกลาง รอบๆ ด้านนอกเป็นส่วนสาธารณะใช้เป็นห้องอาหาร ห้องเขียนหนังสือและห้องนั่งเล่น มีหน้าต่างกระจกเอียงลาดตามลำตัวยานทั้งสองชั้นโดยหวังให้ผู้โดยสารใช้เวลาส่วนใหญ่ในพื้นที่ส่วนรวมแทนห้องนอนที่แคบ ชั้นล่างเป็นห้องนักบิน ห้องอาหารและห้องน้ำสำหรับลูกเรือ
นอกจากนี้ยังมีทั้งบาร์ ห้องสูบบุหรี่ ที่มีการควบคุมหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะควบคุมไม่ให้แก๊สไฮโดรเจนรั่วไหลเข้าไป มีเตาไฟฟ้า ห้องอ่านและเขียนหนังสือ ห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่มีเทคโนโลยีทันสมัย และหรูหราสมราคา ห้องพักผู้โดยสารมี 25 ห้อง แต่ละห้องพักได้ 2 คน ไม่มีการแบ่ง ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง หรือชั้นสาม เหมือนเรือสำราญ ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน มีหน้าต่างระเบียงชมทิวทัศน์เป็นทางเดินยาว 15 เมตร 2 ฟากเรือ อาหารรสเลิศ ไวน์ชั้นเยื่ยม แต่ค่าโดยสารแพงมาก เทียบเป็นราคาปัจจุบันแล้วก็พอ ๆ กับราคารถยนต์ขนาดครอบครัวหรูๆ หนึ่งคัน ต่อหัว ต่อเที่ยว
เรือลำนี้ ออกบินครั้งแรกในปี พ.ศ. 2479 เดินทางรวม 308,323 กิโลเมตร รับส่งผู้โดยสาร 2,798 คน และขนสินค้า 160 ตัน เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 17 เที่ยว โดย 10 เที่ยวไปสหรัฐและ 7 เที่ยวไปบราซิล เคยทำลายสถิติเดินทางข้ามไปกลับมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเวลาเพียง 5 วัน 19 ชั่วโมงและ 51 นาที
เรียกได้ว่า บริษัท “ลุฟท์ชิฟฟ์บาว เซพเพอลิง” เจ้าของเรือเหาะลำนี้ ประสบความสำเร็จมาก จนวางแผนเพิ่มการผลิตและการให้บริการข้ามมหาสมุทรเพิ่มขึ้น และต่อมาได้มีการปรับปรุงเรือเหาะอีกหลายส่วนทำให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อีก 10 คน รวมเป็น 72 คน
แต่แล้ว วันที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น ในการเดินทางเที่ยวที่ 18 ของ เรือเหาะฮินเดินบวร์ค จากนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี สู่รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา โดยจะถึงอเมริกาในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2480 เวลา 6 นาฬิกาตรง
ว่ากันว่า อากาศวันนั้นไม่เป็นใจ มีทั้งกระแสลมแรง จนฮินเดินบวร์คถึงจุดหมายล่าช้าไปถึง 12 ชั่วโมง แต่ฮินเดินบวร์คก็ไม่สั่นสะเทือนแม้แต่น้อย ทั้งนี้ ในเที่ยวบินนี้ มีผู้โดยสารครึ่งลำ คือ 36 คน และมีลูกเรือ 61 คน แต่ในเที่ยวกลับได้รับการจองที่นั่งเต็มลำ
จนเมื่อเรือเหาะฮินเดินบวร์คเดินทางถึงอเมริกาในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งล่าช้ามากกว่าปกติ กัปตันเรือคือ “แมกซ์ พรุสส์” จึงพาผู้โดยสารยืนชมนครนิวยอร์ก ชายฝั่งบอสตันและนิวเจอร์ซีย์
จนเมื่ออากาศดีขึ้น เรือเหาะฮินเดินบวร์คจึงได้มุ่งเข้าเทียบฐานจอดเลคเฮิร์ทเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. ที่ความสูง 215 เมตร การลงจอดที่เลคเฮิร์ทเป็นการจอดวิธิใหม่ โดยมาหยุดในที่สูงแล้วหย่อนเชือกลงมาให้เครื่องกว้านบนหอคอยทำงานแทนคนจำนวนมาก แต่วิธีนี้ต้องใช้เวลามากกว่าเพราะต้องมีความแม่นยำ
เมื่อเวลา 19.08 น. เรือแล่นเลี้ยวซ้ายด้วยความเร็วเต็มที่และมาถึงจุดเทียบ กัปตันเบาเครื่องยนต์และเปิดวาล์วก๊าซเพื่อให้เรือหยุดตัว เมื่อเวลา 19.14 ที่ความสูง 120 เมตร กัปตันสั่งให้เดินเครื่องถอยหลังเต็มที่เพื่อให้เรือเหาะหยุด เวลา 19.19 น. มีการทิ้งถุงน้ำถ่วงนำหนัก 3 ถุง คือ 300, 300 และ 500 กิโลกรัมเพื่อให้เรือได้ระนาบ และให้ลูกเรือ 6 คนมาถ่วงน้ำหนักอยู่ทางหัวเรือ (เสียชีวิตหมดทุกคน)
แต่ความพยายามทั้งหมดไม่เป็นผล อย่างไรก็ตามกัปตันพรุสส์ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการจอดได้ เมื่อเวลา 19.21 น.ที่ความสูง 90 เมตร มีการทิ้งเชือกผูกฐานจอดที่กำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อเวลา 19.25 น. พยานที่เห็นเหตุการณ์รายงานว่าได้มีเปลวไฟพวยพุ่งออกมาใกล้ท่อระบายด้านหน้าของครีบบน และลุกเป็นไฟก้อนใหญ่อย่างรวดเร็วโดยไม่ระเบิดอย่างที่ทุกคนคาดกันไว้ ไฟเริ่มลุกใหม้ที่ถุง 4 แล้วลามอย่างรวดเร็วมาทางส่วนหน้า ส่วนหลังบนของยานหักโดยยานยังคงรูปแต่เงยส่วนหน้าขึ้น ในขณะที่ส่วนหางตกกระแทกพื้นดินก็มีเปลวไฟประทุพุ่งออกทางส่วนหัวเรือ ทำให้ลูกเรือทั้งหกคนเสียชีวิต เนื่องจากส่วนหัวของยานยังคงมีก๊าซ หัวเรือจึงยังคงเชิดอยู่ เมื่อส่วนที่เป็นที่ตั้งเครื่องยนต์และส่วนห้องโดยสารด้านหลังจึงหลุบเข้าไปในตัวหัวเกิดเพลิงลุกใหม้เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เมื่อล้อห้องโดยสารกระแทกพื้น เรือเหาะฮินเดินบวร์คได้กระดอนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ผ้าหุ้มตัวเรือลุกไหม้เรือเหาะฮินเดินบวร์คทั้งลำจึงตกลงสู่พื้นทั้งหมดโดยเอาด้านหัวลงก่อน
ความหายนะครั้งนี้ได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ทั้งข่าวที่เป็นการถ่ายภาพยนตร์ ภาพนิ่งและการรายงานสดทางวิทยุกระจายเสียง เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายภาพเหตุการณ์สดๆ ด้วยภาพยนตร์ “เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสัน” กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการถ่ายภาพและอัดเสียงภาพยนตร์ข่าวอันน่าตื่นเต้นในครั้งนี้
เรือเหาะฮินเดินบวร์คขณะเริ่มติดไฟได้ครู่หนึ่ง
แน่นอน ในสมัยนั้น เทคโนโลยีการสืบสวนยังไม่ดีนัก จึงไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ จนกระทั่งการสืบสวนดำเนินไปนานพอสมควร ก็ได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่า การใช้ผ้าลินินในการห่อหุ้มเรือเหาะฮินเดินบวร์คทั้งลำนั้น ระหว่างการเดินทางจะเกิดการเสียดสีกับอากาศ ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต การเสียดสีเกิดขึ้นตลอดเส้นทางจนกลายเป็นไฟฟ้ามหาศาล สถิตอยู่ในผ้าลินิน และลวดภายในเรือ
เมื่อเดินทางมาถึงและเตรียมลงจอดนั้น เกิดมีลมเปลี่ยนทิศ ถ้าหากจะจอดดีๆ ต้องอ้อมสนามบินไปลงจอด แต่ในขณะนั้น ฮินเดินบวร์คเดินทางมาถึงล่าช้าไปแล้ว 6 ชม. กัปตันตัดสินใจเลี้ยวเรือเหาะโดยตีวงเลี้ยวแคบมาก ซึ่งฮินเดินบวร์คไม่ได้ออกแบบให้มีวงเลี้ยวแคบขนาดนั้น
ลวดเส้นหนึ่งทนแรงเหวี่ยงจากการเลี้ยวไม่ไหวจึงขาด และสะบัดไปโดนถุงแก๊สไฮโดรเจน ทำให้แก๊สรั่วออกมา และเมื่อฮินเดินบวร์คปล่อยเชือกลงมายังพื้นดินเพื่อให้ภาคพื้นดินดึงเรือเหาะลงไป ไฟฟ้าสถิตในเรือเหาะถูกส่งผ่านสายเชือกลงมายังพื้นดิน ลวดสามารถนำไฟฟ้าผ่านไปยังเชือก และนำลงสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็ว แต่ผ้าลินินไม่นำไฟฟ้าดีนัก ไฟฟ้าจึงเดินทางออกไปได้ช้ากว่า ไม่นานก็เกิดเป็นความต่างศักย์ของไฟฟ้าภายในเรือเหาะ
ในที่สุดเมื่อความต่างศักย์ระหว่างผ้าลินินกับลวดสูงมากพอ ก็เกิดกระแสไฟฟ้าที่มองเห็นได้ (คล้ายๆ กับฟ้าผ่า) เดินทางจากผ้าลินินไปหาลวด ซึ่งการเดินทางของไฟฟ้าทำให้มีอุณหภูมิสูงพอที่ทำให้แก๊สไฮโดรเจนที่รั่วออกมาอยู่แล้วเกิดติดไฟ และฮินเดินบวร์คก็พบจุดจบ
โศกนาฎกรรมนี้ได้คร่าชีวิตผู้โดยสาร 13 คน และลูกเรืออีก 22 คน แต่ส่วนใหญ่รอดชีวิต จากจำนวนผู้โดยสาร 36 คน และลูกเรือ 61 คน และยังมีลูกเรือภาคพื้นดินเสียชีวิตด้วยอีก 1 คน
ที่น่าเศร้าซ้ำซ้อนคือ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดมิได้เกิดจากไฟ แต่เป็นการกระโดดลงจากที่สูง ผู้โดยสารที่อยู่กับห้องโดยสารปลอดภัยทั้งหมดเนื่องจากเปลวไฟที่ร้อนจัดพัดขึ้นเบื้องสูง ลูกเรือที่ตายมากเนื่องจากได้พยายามเข้าไปช่วยผู้โดยสารที่อยู่ในห้องโดยสารหรือที่โดดลงมาก่อน
/////////////////
ขอบคุณภาพและข้อมูลทั้งหมดจาก วิกิพีเดีย