6 ส.ค.2457 เราขอเป็นกลาง
วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน
****************
ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลก จะคุ้นเคยกับบริบทของข้อความนี้เป็นอย่างดี ว่าหมายถึงท่าทีของประเทศสยามในช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งหนึ่งที่ 1 ปะทุขึ้น
แต่คนไทยอีกหลายคนอาจแปลกใจ เพราะจดจำกันจากตำราแต่เพียงว่า ไทยเราโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งแปลว่าเราได้เลือกข้างในที่สุด
หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 105 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม 2457 ก็คือเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น 3 ปี ที่ครั้งหนึ่งไทยเราก็เคยคงสถานะไม่ขอมีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาสงครามครั้งนี้มาก่อน
ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นนั้น
ควันไฟ WWI
อย่างที่รู้และไม่รู้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นจากเหตุลอบปลงพระชนม์ มกุฎราชกุมารของจักรวรรดิ ออสเตรีย-ฮังการี
คือ อาร์ชดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะเสด็จยังเมือง “ซาราเจโว” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2457
อาร์ชดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พร้อมด้วยพระชายาที่เมืองซาราเยโว ก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์ (วิกิพีเดีย)
พระองค์ พร้อมพระชายาโซฟี ถูกลอบยิงสิ้นพระชนม์ชีพ โดยสมาชิกขององค์กรลับ “มือดำ” (The Black Hand) อันเป็นขบวนการชาตินิยมของ เซอร์เบีย
ภาพจำลองเหตุการณ์อันเป็นชนวนเหตุของการกำเนินสงครามโลก (วิกิพีเดีย)
การณ์นี้ฝ่ายรัฐบาลออสเตรีย-ฮังการี จึงใช้โอกาสนี้ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาตินิยมเซอร์เบียจึงกลายเป็นสงครามขึ้น
โดยการณ์นี้ ยังรวมไปถึงประเทศมหาอำนาจหลักๆ ของยุโรป เช่น เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ที่เข้ามาตะลุมบอนเข้าด้วยกัน
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขอสภาพสังคมและเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศข้างต้นพอดิบพอดี
อธิบายเขาใจง่ายๆ คือ ต่างคนก็ต่างหาจังหวะและโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่าง และเมื่อปัจจัยลบ ปัจจัยหนุนต่างๆ มารวมกันในช่วงระยะเวลานั้นราวกับนัดกันไว้ อภิมหาสงครามจึงเกิดขึ้น
ปัจจัยหนุน
ทั้งนี้ ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ตุลาคม 2557 เรื่อง “100 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1” โดย สุรชาติ บำรุงสุข และ กุลนันทน์ คันธิก ฉายภาพของปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ ได้แก่ 4 ขั้วต่อไปนี้
1) ลัทธิชาตินิยม ที่ส่งผลต่อความเชื่อที่ว่าสงครามจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างความ “รุ่งโรจน์” ของความเป็นชาติ
ทหารเยอรมันในตู้รถไฟขนสินค้าขณะไปยังแนวหน้าใน ค.ศ. 1914 ข้อความบนตู้เขียนว่า "ทริปไปปารีส"
ในช่วงต้นของสงครามคาดกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะกินเวลาสั้น ๆ เท่านั้น (วิกิพีเดีย)
2) ลัทธิจักรวรรดินิยม ความปรารถนาในอันที่จะขยายดินแดน และครอบครองดินแดนในโพ้น-ทะเล
3) ลัทธิทหารนิยม กับความเชื่อว่ารัฐมหาอำนาจจำเป็นต้องสร้างกองทัพทั้งทางบกและทางทะเลให้เข้มแข็งเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจ นำไปสู่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” และนำไปสู่การเอาอาวุธออกมาใช้ด้วยการกำเนิดสงครามอีกทอด
4) ระบบพันธมิตร คือการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะของการ “แบ่งค่าย” ในหมู่รัฐมหาอำนาจ เช่นปี 2457 เยอรมนี ออสเตรีย- ฮังการี และอิตาลี ได้จัดตั้ง “ระบบพันธมิตรสามฝ่าย” ขึ้น ทำให้มหาอำนาจเก่าของยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ทำบ้าง โดยได้จัดตั้งระบบพันธมิตรอีกชุดหนึ่ง คือการกำเนิด “ความตกลงฉันท์มิตรสามฝ่าย” (The Triple Entente)
ไม่รอแล้วนะ
แน่นอนผลของการจัดตั้งระบบพันธมิตรของแต่ละฝ่ายตามข้างต้น จึงทำให้ยุโรปถูกแบ่งออกเป็น “สองขั้ว” โดยปริยาย
และเมื่อ ออสเตรีย ประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ 23 กรกฎาคม 2457 (จากการลอบปลงประชนม์รัชทายาท) มันก็ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 1
ช่วงเวลานั้นแต่ละประเทศหลักแถบยุโรปเองก็เปิดฉากไฝว้กันมั่ว เช่นพอวันที่ 4 สิงหาคม อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี ตามมาด้วย 6 สิงหาคม 2457 ฝ่ายรัฐบาลเวียนนา (ออสเตรีย) ก็ประกาศสงครามกับรัสเซีย
ที่สุดนี่จึงถือว่าการระเบิดขึ้นของ “สงครามโลกครั้งที่ 1” หรือ “The First World War” ได้อุบัติขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการและไม่อาจฉุดรั้งได้อีกต่อไป!
พันธมิตรทางการทหารก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง:
ฝ่ายสัมพันธมิตรสีเขียว, ฝ่ายมหาอำนาจกลางสีน้ำตาล
โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ได้แก่ ฝ่ายสัมพันธมิตร มี อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย และ แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เซอร์เบีย มอนเต-เนโกร โรมาเนีย เบลเยียม กรีซ โปรตุเกส
และฝ่ายมหาอำนาจกลาง (หรือกลุ่มพันธมิตรสามฝ่าย) ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิ ออตโตมัน บัลแกเรีย
ท่าที่สยาม
หันมาข้างฝ่ายไทยเรา ที่เหมือนจะห่างไกล แต่ผลของสงครามแผ่ไอร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
อย่างไรก็ดี วันที่ 6 สิงหาคม หรือวันที่ทั่วโลกรู้แล้วว่าไฟสงครามปะทุแล้ว ประเทศสยามเวลานั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล่าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชการลที่ 6 ได้ประกาศจุดยืนว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน
ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีข้อมูลระบุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นยังทรงมีความเห็นว่า สยามยังอยู่ห่างไกลจากสงคราม ดังนั้นนโยบายที่เหมาะสมคือการรักษา ‘ความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด’
การแสดงออกครั้งนั้น เห็นได้จากการที่มีประกาศวันที่ 17 สิงหาคม 2457 ห้ามไม่ให้มีการสื่อสารบนเรือเดินสมุทรของประเทศคู่สงครามในน่านน้ำสยาม เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นกลางของสยาม
หรือการออกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2457 เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก และรักษาความมั่นคงภายใน
ทั้งนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าเยอรมนีชนะสงคราม สยามจะตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก เนื่องจากทางรถไฟสายเหนือของสยาม ซึ่งกำลังก่อสร้างยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายช่างวิศวกรและผู้ควบคุมชาวเยอรมัน และธนาคารของรัฐบาลสยามที่เพิ่งก่อตั้งก็ตกอยู่ภายใต้การการบริหารของชาวเยอรมันเช่นกัน
แต่แล้วภายใน 3 ปี ท่าทีของไทยเราก็เปลี่ยนไป
ด้วยสายพระเนตร
ว่ากันว่า ภายหลังไทยเราเปลี่ยนจุดยืน โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แปลว่าไปอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร
แถมยังได้ตัดสินใจส่งกำลังทหารไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีกองทหารบกรถยนต์ประมาณ 850 นาย และทหารอาสากองบินทหารบกประมาณ 400 นาย โดยออกเดินทางจากสยามในวันที่ 15 มิถุนายน 2461
ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า เพราะสยามมีความกังวลต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่สุดท่าทีรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของสยาม เปลี่ยนไปหลัง เคานต์ โยฮานน์ ฟอน แบนชตอร์ฟ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามทางเรือดำน้ำแบบไม่มีข้อจำกัด
ซึ่งคือการโจมตีเรือโดยไม่บอกกล่าวก่อนตามธรรมเนียมการสู้รบทางเรือ และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 2460
ร.6 ทรงคาดการณ์ว่า เยอรมนีจะแพ้สงคราม สยามมีโอกาสเสี่ยงต่อการสููญเสียมากกว่าหากยังดำรงความเป็นกลาง และถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจเข้ายึดทรัพย์สินและสิทธิพิเศษของเยอรมนีในสยาม สยามก็จะไม่สามารถทำอะไรได้
แต่หากเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร สนธิสัญญาใดๆ ที่สยามทำกับเยอรมนีก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และฝ่ายสัมพันธมิตรอาจยินยอมให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกันซึ่งมีผลผูกมัดสยามตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19
ที่สุด สยามจึงเข้าร่วมสงครามโดยยืนอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร โดยแม้ว่าสงครามก็สงบก่อนที่หน่วยบินไทยจะเข้าสู่สมรภูมิ แต่สยามก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รัฐผู้ชนะสงคราม” และทหารไทยได้ร่วมฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ลอนดอน และ บรัสเซลส์อย่างมีเกียรติอีกด้วย
กองกำลังทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 (วิกิพีเดีย)
สงครามจบ 2 ศพสุดท้าย
ที่สุด หลังการเปิดการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มขึ้น ในวันที่ 8 สิงหาคม 2461 ส่งผลให้ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ล่มสลาย และหลายประเทศทยอยประกาศยอมแพ้ จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 เยอรมนีก็ประกาศ ยอมแพ้ และพระเจ้าไกเซอร์อพยพลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์
ผลของการประกาศยอมแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางเช่นนี้ นำไปสู่การ ประกาศการสิ้นสุดของสภาวะสงครามโดยฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติในเวลา 11 โมงเช้าของวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) และประกาศ ให้ เวลา 6 ชั่วโมงหลังจากการประกาศหยุดยิง โดยต่างฝ่ายต่างต้องถอนทหารออก ไปจากพื้นที่
ช่างน่าเศร้าใจที่ ขนาดว่าจะประกาศหยุดยิงแล้ว ก็ยังมีทหารเสียชีวิตอีกถึง 2 ราย สุดท้ายมี คือ พลทหาร George L. Price (แคนาดา) ถูกสังหารโดยพลซุ่มยิงของเยอรมนีเวลา 10.58 น. ส่วนพลทหาร Henry Gunther (อเมริกัน) ถูกทหารเยอรมันยิงเสียชีวิตเวลา 10.59 น. หรือ 60 วินาทีก่อนการประกาศหยุดยิง
George L. Price
Henry Gunther
ทั้งสองเสียชีวิตในช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาที ระหว่างการได้กลับบ้าน และการต้องจากบ้านตลอดกาล เฉกเช่นอีกนับหลายล้านชีวิต
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ย่อมสะท้อนว่า สงครามไม่ควรเกิดขึ้น เพราะถ้ามันปะทุแล้ว มันก็ระเบิดลามไปทั่วหย่อมหญ้า
*************************///******************************
เรียบเรียงจาก
วิกิพีเดีย
“100 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1” โดย สุรชาติ บำรุงสุข และ กุลนันทน์ คันธิก (http://www.geozigzag.com/pdf/148.pdf)
https://www.bbc.com/thai/thailand-40670894