7 ส.ค.2112 สมเด็จพระมหินทราธิราช สวรรคตในเมืองข้าศึก
วันนี้เมื่อ 450 ปีก่อน
********************
ประเทศไทยกว่าจะมีทุกวันนี้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงกอบบ้านกู้เมืองมาได้
วันนี้มีเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ที่ในวันนี้เมื่อ 450 ปีก่อน ช่างน่าเศร้าสลดที่พระองค์ต้องมาสวรรคตไปในขณะที่มีพระชนม์ชีพเพียง 34 พรรษาไม่พอ ยังสวรรคตในอุ้งมือข้าศึกอีกด้วย
พระองค์คือ "สมเด็จพระมหินทราธิราช" ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 16 แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์(ครั้งที่ 1) พ.ศ. 2106-2111 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2111-2112 ต่อจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และก่อนที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช จะทรงขึ้นครองราชย์แทน
“สมเด็จพระมหินทราธิราช” แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีพระราชบิดา คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชมารดาคือสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
และยังทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สอง มีพระเชษฐา คือ "พระราเมศวร" ผู้เป็นพระมหาอุปราช และมีพระขนิษฐา คือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระบรมดิลก พระเทพกษัตรีย์ และยังมีพระอนุชา และพระขนิษฐาต่างพระชนนี คือพระศรีเสาวราชกับพระแก้วฟ้า
พระบรมสาทิสลักษณ์ ตราแผ่นดิน ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
โดยตราแผ่นดินอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำขึ้นใหม่จากหลักฐานเดิม
พระองค์ทรงพระราชสมภพปี พ.ศ. 2078 โดยมีพระนามเดิมว่า พระมหินทราธิราช หรือเรียกสั้นๆ อีกชื่อหนึ่งได้ว่าพระมหินทร์
ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าพระมหินทราธิราชได้ตามเสด็จฯ ออกรบในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ด้วย
แต่ถูกทหารมอญล้อมจับ พร้อมกับพระราเมศวร ไปถวายพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งประทับที่เมืองชัยนาท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงส่งพระราชสาส์นไปขอให้ปล่อยพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คืนกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงตกลง โดยขอแลกกับช้างพลายมงคลทวีป และช้างพลายศรีมงคลไปไว้กรุงหงสาวดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิปรึกษามุขมนตรีแล้วก็ตกลงถวาย กองทัพพระเจ้าหงสาวดีจึงยกทัพกลับไป
หลังสงครามช้างเผือก ที่ทำให้เสียพระราเมศวรแก่กรุงหงสาวดีในปี พ.ศ. 2106 กล่าวคือ พระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของพม่า ได้ขอพระราเมศวรไปเป็นพระราชโอรสบุญธรรมที่ประทับที่กรุงหงสาวดี โดยมีขุนนางติดตามไป 2 คนคือ พระยาจักรี และ พระสุนทรสงคราม
พระเจ้าบุเรงนอง
แต่หลังออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานพระราเมศวรก็ทรงพระประชวรและสวรรคตระหว่างทางซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงจัดงานพระศพอย่างสมพระเกียรติ
ทางกรุงศรีอยุธยา เวลานั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติ ให้พระมหินทราธิราช ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 25 พรรษา
สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงขัดพระทัย ที่ต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลก ทรงปรึกษากับพระยาราม แล้วจึงชักชวนพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชให้มาตีเมืองพิษณุโลก
เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายประชิดเมืองพิษณุโลกได้แล้วก็ยังตีเมืองไม่สำเร็จ เพราะมีทัพจากพระเจ้าบุเรงนองมาช่วยเมืองพิษณุโลก
เมื่อแผนการไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหินทราธิราชก็เลิกทัพคืนกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชากับหัวเมืองเหนืออยู่ข้างกรุงหงสาวดี และไม่ไยดีกับกรุงศรีอยุธยาแล้ว
จึงอัญเชิญพระราชบิดา ที่ลาผนวชมาครองราชสมบัติดังเดิมในปี พ.ศ. 2111 และใช้โอกาสที่สมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระนเรศไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดี ยกทัพไปชิงพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระเอกาทศรถ และครอบครัวของพวกข้าหลวงเดิมมาไว้กรุงศรีอยุธยา
ขากลับสมเด็จพระมหินทราธิราชพยายามตีเมืองกำแพงเพชร เพราะทรงเห็นว่าเป็นกำลังฝ่ายข้าศึก แต่ไม่สำเร็จ สมเด็จพระมหาธรรมราชาทราบข่าวทั้งหมดจึงทูลฟ้องพระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพใหญ่มาอีกครั้งในเดือน 12 สามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ แต่ตีพระนครแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พราะราชบิดาของ สมเด็จพระมหินทราธิราชประชวรได้ 25 วันก็เสด็จสวรรคต
สมเด็จพระมหินทราธิราชสืบราชสมบัติอีกครั้ง แล้วทรงมอบหมายให้พระยารามบัญชาการรบแทน ฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหินทราธิราชว่า ถ้าส่งตัวพระยารามมาให้จะยอมเป็นพระราชไมตรี
สมเด็จพระมหินทราธิราชก็ยอมทำตาม พระเจ้าบุเรงนองก็ให้กองทัพพักรบไว้ ต่อมามีรับสั่งให้พระสังฆราชกรุงศรีอยุธยา ไปแจ้งแก่กรุงศรีอยุธยาว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งปวงออกมาถวายบังคมแก่พระองค์ ก็จะรับพระราชไมตรี
ทรงรออยู่ 7 วันยังไม่ได้คำตอบ สมเด็จพระมหาธรรมราชาออกไปเจรจาก็ไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงรับสั่งโจมตีกรุงศรีอยุธยาต่อ
ระหว่างนั้นพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชนำกองพล 15,000 มาช่วยป้องกันพระนครโดยไม่ได้ปรึกษาพระราชบิดา สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่าพระราชโอรสทำตามอำเภอใจ จึงรับสั่งให้พระยาธรรมาคุมตัวพระศรีเสาวราชไปสำเร็จโทษ ณ วัดพระราม บรรดาทหารก็เสียใจ แต่เห็นแก่สวัสดิภาพของครอบครัวจึงมุ่งรักษาพระนครต่อ
ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชาคิดอุบายให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก พระเจ้าบุเรงนองก็ยินดีตามแผน สมเด็จพระมหินทราธิราชหลงเชื่อว่าพระยาจักรีหนีมาได้จริง ก็พระราชทานรางวัลและมอบหมายให้บัญชาการรักษาพระนคร พระยาจักรีทำหน้าที่เข้มแข็งอยู่เดือนหนึ่ง จึงเริ่มทำให้กองกำลังกรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังลง
พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็รับสั่งให้นายทัพนายกองเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา จึงเสียกรุงในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 9 พระมหาอุปราชากรุงหงสาวดี และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พาสมเด็จพระมหินทราธิราชไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่พลับพลาวัดมเหยงคณ์
พระเจ้าบุเรงนองตบพระหัตถ์ ที่พระราชอาสน์ทูลเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเด็จพระมหินทราธิราชก็คลานเข้าไป แต่ไม่ถึงที่พระราชอาสน์ พระเจ้าบุเรงนองยื่นพานพระศรีให้
สมเด็จพระมหินทราธิราชไม่ทรงรับ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองหยิบพระศรีให้ ทรงรับมาไว้ครูหนึ่งจึงเสวย พระเจ้าบุเรงนองเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชไปอยู่กรุงหงสาวดี
โดยระหว่างรอเสด็จให้อยู่ในความดูแลของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และให้พระมหาอุปราชาเข้าไปกวาดต้อนครัวเรือนชาวกรุงศรีอยุธยาและรูปหล่อส่งไปกรุงหงสาวดีทั้งหมด
เมื่อสมเด็จพระมหินทราธิราชตามเสด็จฯ ถึงเมืองแครงก็ประชวรหนัก แม้พระเจ้าบุเรงนองจะคาดโทษแพทย์ หากรักษาไม่หาย และได้เสด็จมาเยี่ยมให้กำลังใจไม่นานก็สวรรคต
สิริพระชนมายุ 34 พรรษา พระราชทานเพลิงแล้วให้ทหาญนำพระอัฐิ พระสนม และเครื่องราชูปโภคมาส่งกรุงศรีอยุธยา
อย่างไรก็ดี กรณีสวรรคตของสมเด็จพระมหินทราธิราช ยังมีข้อถกเถียงมาจนทุกวันนี้ โดยข้อมูลอีกทาง จากเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่า ที่พม่าเรียบเรียงจากปากคำเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่สอง โดยอาศัยความจำในการปะติดปะต่อเรื่องราว และอาจจึงมีความคลาดเคลื่อนสูง
เอกสารนี้จะระบุว่าพระมหินทราธิราชถูกพระเจ้าหงสาวดีจับถ่วงน้ำที่เมืองสถัง (เมืองสะเทิม Thaton)
โดยระบุว่า "ครั้นกลับไปยังมิทันถึงเมือง อันพระมหินทรราชานั้นไม่สุภาพดังพระยาราชสีห์ ไม่มีความครั่นคร้ามขามใจ เจรจาทนงองอาจ รามัญนั้นจับคำประหลาดได้ จึ่งทูลกับพระเจ้าหงษา พระเจ้าหงษาจึ่งให้ล้างเสียแล้ว จึ่งถ่วงน้ำที่เมืองสถัง แล้วจึ่งยกทัพกลับมายังเมืองหงษา"
คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า "แต่พระมหินทร์นั้นพระเจ้าหงษาวดีให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสระถุง พระมหินทร์ไม่ยำเกรงหยาบช้าต่อพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงพระพิโรธ จึงรับสั่งให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย"
อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก นอกจากเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าลือต่อ ๆ กันมา
****************//***************
ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจากวิกิพีเดีย