9 ส.ค. 2514 กำเนิด ลูกเสือชาวบ้าน
วันนี้เมื่อ 48 ปีก่อน
*****************
“ลูกเสือชาวบ้าน” เราคนไทยอาจรู้จักดีว่า เป็นกลุ่มของชาวบ้านที่มาทำประโยชน์ให้แก่สังคมผ่านการอบรมลูกเสือ โดยที่มีการทำงานหรือการเข้าค่ายต่างๆ คล้ายกับลูกเสือที่มีการเรียนการสอนตามโรงเรียน
แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าถือกำเนิดเมื่อวันนี้ของ 48 ปีก่อน โดยวันที่ 9 สิงหาคม 2514 สำหรับประวัติการก่อตั้งนั้นมีเรื่องราวที่มาจากฉากหลังทางการเมืองในยุคที่เมืองไทยกำลังถูกคุกคามจากภัยคอมมิวนิสต์
นั่นจึงแปลว่า ลูกเสือชาวบ้านมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้าเรียบเรียงโดย พิสิษฐิกุล แก้วงาม กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
www.tarad.com/product_gallery
"กิจการลูกเสือชาวบ้านเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 บุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งคือ พลตำรวจตรี สมควร หริกุล ผู้กำกับตำรวจชายแดนเขต 4, พลตำรวจตรี เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
ร่วมมือกับข้าราชการท้องถิ่นอีกหลายคน ได้จัดการอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ที่อำเภอบ้านเหล่ากอหก ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว (ด่านซ้าย) จังหวัดเลย
จุดมุ่งหมายเริ่มแรกของการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านก็คือ การสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการ และประชาชน เพื่อให้ประชาชนช่วยส่งข่าวและรวบรวมข้อมูลให้กับทางราชการเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ด้วยการทดลองจัดตั้งสมาชิกอาสาตำรวจตระเวนชายแดน การจัดตั้งชุดคุ้มครองตำบล การฝึกชาวบ้านให้รู้จักรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านของตนเอง นำเอาวิธีการลูกเสือ มาประยุกต์ใช้
ลูกเสือชาวบ้าน เริ่มดำเนินการฝึกอบรมครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 9-12 สิงหาคม พ.ศ. 2514 และในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2515 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรม และฟังบรรยายสรุปถวาย ณ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4 (ปัจจุบันคือ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24) ค่ายเสนีย์รณยุทธ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ทั้งนี้ พระองค์ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้าน ไว้ในพระราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานผ้าผูกคอพระราชทานลูกเสือ ชาวบ้าน และยังพระราชทานธงประจำรุ่น ให้แก่ลูกเสือชาวบ้านทุกรุ่น
สำหรับสีของผ้าผูกคอพระราชทานนั้น สืบเนื่องมาจาก พล.ต.ต.สมควร หริกุล ผู้ริเริ่มกิจการลูกเสือชาวบ้าน เป็นข้าราชการตำรวจ จึงได้นำ “สีของกรมตำรวจ” มาใช้ “สีเลือดหมู”เปรียบเหมือนสีเลือด หมายถึงชาติไทยที่เป็นอิสระจนถึงทุกวันนี้ เพราะบรรพบุรุษได้เสียสละชีวิต เลือดเนื้อมาแล้วนับสิบ ๆ ล้านชีวิต เพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยผืนนี้
“สีดำ”หมายถึงสีแห่งความทุกข์ เพื่อเตือนให้คนไทยระลึกถึงความทุกข์ ความลำบากยากเข็ญแสนสาหัสของบรรพบุรุษที่ได้ร่วมมือร่วมใจ สมัครสมานสามัคคีกัน เพื่อรักษาแผ่นดินไทยแห่งนี้ไว้
“สีเหลือง” ปรากฏอยู่บนปกผ้าผูกคอ หมายถึงศาสนาเพราะทุกศาสนาสอนล้วนสอนให้เป็นคนดี มีสติยั้งคิด ประพฤติตนเป็นคนดี ละเว้นความชั่ว
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะที่ทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ ให้สมุหราชองครักษ์ ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยตามหนังสือของกรมราชองครักษ์ที่ กห.0204/2477 ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ให้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด สนับสนุนกิจการลูกเสือชาวบ้าน โดยให้ความร่วมมือกับตำรวจตระเวนชายแดน
ตราสัญลักษณ์
ผู้เข้ารับการฝึกเป็นลูกเสือชาวบ้านแต่ละกลุ่มประกอบด้วยผู้ใหญ่ 300-500 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับการฝึกเป็นเวลา 5 วันโดยผู้นำ 30-50 คน อยู่ใต้คำสั่งของ ตชด.โดยตรง
แต่ละกลุ่มจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 10 คนระหว่างการฝึกฝน พวกเขาทำงานและเล่นด้วยกัน พวกเขารำไทยและร้องเพลงไทย คงไว้ซึ่งความรักใน 3 สถาบัน ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ในวันสุดท้ายของการอบรม ลูกเสือชาวบ้านถวายสัตย์ปฏิญาณว่าพวกเขาจะร่วมมือกันดูแลประเทศและจะปกป้องประเทศจากพวก “คอมมิวนิสต์”
ดังนั้น ในระยะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กิจการลูกเสือชาวบ้านจึงขยายตัวอย่างมาก และมีนายทหารและนักการเมืองสำคัญเข้าร่วมหลายคน เช่น พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นผู้ตรวจการลูกเสือชาวบ้าน , ธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร
พอมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2519 ลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศมีจำนวนหลายล้านคน มีทั้งเด็กผู้ใหญ่จนถึงคนชรา ว่ากันว่า เมื่อเกิดกรณี 6 ตุลาคม 19 ซึ่งนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ลูกเสือชาวบ้านก็มีการชุมนุมต่อต้านนักศึกษาที่พระบรมรูปทรงม้าด้วย
ทั้งนี้ พล.ต.ท. สมควร กล่าวว่า การชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านเป็นการชุมนุมอย่างสงบ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด แต่อดีตแกนนำลูกเสือชาวบ้านมีมุมมองว่ากลุ่มพลังทุกฝ่ายรักชาติรักบ้านเมืองมีความคิดที่แตกต่างกัน
ภาพจาก http://www.2519.net/
“ตอนนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิดอย่างเดียว คือ เรื่องความคิดเรา ต้องยอมรับว่านักศึกษาเขาไม่ใช่คนชั่วเลยนะ เพราะนักศึกษาทุกคนสนิทกัน พูดง่ายๆ ว่าพูดกันเข้าใจ ไม่เคยขัดแย้งกับใครเลย นักศึกษา 50-60 คนเคยไปอยู่ที่อุดรฯ เขาไปเผยแพร่ประชาธิปไตยเราไม่เคยขัดแย้งกัน เรามีความเข้าใจ ทุกคนก็รักชาติบ้านเมือง"
“ผมมีความรู้สึกว่าทุกคนก็หวังดีต่อประเทศชาติทั้งนั้น ไม่มีใครเกลียดชังบ้านเมืองหรือเกลียดชังใคร แต่ความคิดต่างกันเท่านั้นเอง ตอนนั้นผมมองนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วง ผมไม่ได้คิดตำหนิเขา ไม่ได้เห็นว่าเขาเสียหายอะไร”
การอบรมลูกเสือชาวบ้าน นครพนม ในปัจจุบัน ภาพจาก เวบข่าว 77 ข่าวเด็ด
พลตำรวจโทสมควร ยังกล่าวด้วยว่าก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการขโมยผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านไป และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ใช่การกระทำของกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน แต่มีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง ทำให้เหตุลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น
พลตำรวจโทสมควร เห็นว่า สาเหตุของความรุนแรงขณะนั้นคือการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังกัน มีการนำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศ หากลัทธินี้เข้ามา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และจารีต ธรรมเนียมประเพณีทุกอย่างอันประกอบเป็นรากฐานของชาติต้องสูญสิ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยและลูกเสือชาวบ้านยอมไม่ได้
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลานั้น มีการรายงานข่าวจากนักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่รายงานว่า ลูกเสือชาวบ้านเป็นหนึ่งในพวกที่บุกเข้าไปที่เข้าร่วมปะทะกับนักศึกษาในช่วง 7.00 น.–10.00 น. และในเวลา 12.00 น. ลูกเสือชาวบ้านกลุ่มที่ชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เรียกร้องให้รัฐบาลปลด สุรินทร์ มาศดิตถ์, ชวน หลีกภัย, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่มีข่าวว่าให้การสนับสนุนเงินทุนกับ ศนท. ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
และให้แต่งตั้ง สมบุญ ศิริธร และ สมัคร สุนทรเวช ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมอยู่จนถึงเวลาเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จึงได้สลายก่อนการรัฐประหารเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ ลูกเสือชาวบ้านยังคงอยู่ โดยกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยคือผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของกิจกรรม
/////////////////
ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า เรียบเรียงโดย พิสิษฐิกุล แก้วงาม