
19 ส.ค.2550 อั๊ยย่ะ! ประชามติครั้งแรก
12 ปีที่แล้ว ทำไมบรรยากาศไม่เปลี่ยน
หา! อะไรนะ12 ปีหรือ 1 รอบมาแล้วหรือนี่ ที่คนไทยได้มีการออกเสียงลงประชามติครั้งแรก
หา! อะไรนะ เราเพิ่งมีการลงประชามติเมื่อ 12 ปีที่แล้วเองหรือ
คนไทยหลายคนพอได้ยินว่าวันนี้เป็นวันครบ 1 รอบของการลงประชามติ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 อาจจะคิดแบบนี้เหมือนกัน เพราะทางหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีบทบัญญัติรับรอง เรื่อง การออกเสียงประชามติไว้อยู่ก่อนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่เคยจัดให้มีการออกเสียงประชามติในระดับชาติเลยสักครั้ง
จึงอาจกล่าวได้ว่า การออกเสียงประชามติตามมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 เป็นการออกเสียงประชามติระดับชาติครั้งแรกของประเทศไทย
และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ออกมารองรับในการจัดทำออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
และต่อไปนี้คือเรื่องราวของการออกเสียงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนั้นของคนไทย
ออกเสียงทำไม
สำหรับวัตถุประสงค์ในการทำประชามติครั้งนั้น เราคงยังไม่ลืมว่า คือการให้ประชาชนออกเสียงเห็นชอบ-หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ ภายหลังที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติให้นำการออกเสียงประชามติมาใช้ ดังปรากฏในมาตรา 165 โดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในสองกรณี คือ กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
มาสคอต "มนุษย์ไฟเขียว" สนับสนุนการรับร่างรัฐธรรมนูญ
และในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ โดยรัฐต้องดำเนินการแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ความสำคัญประชามติ
การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ครั้งนั้น ปรากฏว่าตั้งแต่เช้า 08.00 น.ถึง 16.00 น. คนไทยได้เข้าคูหา กากบาทลงบัตรเหมือนการเลือกตั้ง
โดยถ้าผลออกมา “เห็นชอบ” มากกว่า ก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับแล้ว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้
ธงไชย แมคอินไตย์ไปลงประชามติที่ซอยสุขุมวิท 101 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
แต่ที่ “ไม่เห็นชอบ” มากกว่า ก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
ศกลรัตน์ วรอุไรไปลงประชามติที่แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
(ภาพจากวิกิพีเดีย)
ได้มีการกล่าวไว้ว่าถ้าประชาชนส่วนมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้งครั้งต่อไปยังคงมีอยู่ภายในปี 2550 โดยจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 บางส่วนมาดัดแปลงแก้ไข
แต่ตอนนั้นหากจำกันได้ ก็ยังมีกระแสข่าวลือว่า ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาที่วุ่นวายต่อเนื่องไม่จบง่ายๆ
รณรงค์ “ไม่รับ”
ปรากฏว่า ด้วยสภาพการณ์ทางการเมือง ที่มีกลุ่มคนไม่เห็นด้วบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งเนื้อหาและที่มา จึงมีการออกมาทำรณรงค์ไม่รับร่าง แม้ว่าจะผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ระบุว่าห้ามการรณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
หนึ่งในตัวอย่างโฆษณาที่รณรงค์ให้ปฏิเสธการรับร่างรัฐธรรมนูญ
แน่นอน การห้ามดังกล่าวถูกต่อต้านจาก องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ Asian Human Rights Commission (AHRC)
โดย AHRC ได้กล่าวว่า “กฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะ ข่มขู่และปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของรัฐบาล ถึงจะถูกดัดแปลงแก้ไขให้สามารถรณรงค์ แบบกล่าวแต่เพียงข้อเท็จจริงก็ตาม”
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ได้ระบุว่าความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี สำหรับผู้ที่กระทำการในหลายๆ ลักษณะที่มีผลให้เกิดการลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น สติกเกอร์รณรงค์ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญบนรถแท็กซี่ ก็ผิดกฎหมาย
แถมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยังลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน นับตั้งแต่วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2550 ด้วยข้อความที่ว่า “รวมพลังลงประชามติ เห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เมืองไทยมีการเลือกตั้ง” ทำให้เกิดกระแสความไม่เห็นด้วยกับประโยคเจ้าปัญหาดังกล่าว
ช่วงนั้นมีการกล่าวหาว่าอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ได้ทำการซื้อเสียงเพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงในประชามติ เลือก “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้างต้นไม่ได้มีการนำหลักฐานมารองรับการกล่าวหา และไม่ได้แจ้งความผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าซื้อเสียง
ผลการออกเสียง
ที่สุดตามรายงานผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นับว่าเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบ ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550
ผลปรากฏว่า จากมีผู้มีสิทธิทั้งหมด 45,092,955 คน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 25,978,954 คน หรือคิดเป็น 57.61%
จำแนกเป็นบัตรที่เป็นบัตรดี 25,474,747 เสียง (98.06%) และเป็นบัตรเสีย 504,207 เสียง (1.94%) ผลคะแนนออกมา มีผู้เห็นชอบ 14,727,306 เสียง คิดเป็นร้อยละ 57.81% ขณะที่มีเสียงไม่เห็นชอบ 10,747,441 เสียง หรือ 42.19%
ที่สุด ประธาน สนช. จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2540 อยู่หลายประการ เช่น มีการถอดรื้อโครงสร้าง เช่น สิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ อำนาจตุลาการ การเงินการคลังงบประมาณ ฯลฯ
*******************///********************