21 ส.ค.2526 อดีตผู้นำฝ่ายค้านปินส์ ถูกยิงดับคาสนามบิน
วันนี้เมื่อ 36 ปีก่อน เหตุการณ์ที่เป็นชนวนของการลุกฮือโดยประชาชนฟิลิปปินส์
วันนี้เป็นวันครบ 36 ปีของการสังหารอดีตวุฒิสมาชิก เบนิกโน นินอย อากีโน จูเนียร์ บิดาของ เบนิกโน อากีโน (ที่สาม) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 15 ของฟิลิปปินส์
หลายคนยังจดจำได้ดีถึงการกระทำอย่างอุกอาจ กลางวันแสกๆ ขณะที่เขาเพียงแค่ก้าวเท้าลงบนแผ่นดินเกิดเพียงไม่กี่ก้าว ที่สนามบินนานาชาติของกรุงมะนิลา กระสุนจากรังเพลิง ณ มุมหนึ่งก็พุ่งใส่เขาไม่ยั้งจนเสียชีวิต
เส้นทางการเมือง
เส้นทางของ เบนิกโน นินอย อากีโน จูเนียร์ หรือที่ชาวฟิลิปปินส์มักจะเรียกด้วยชื่อเล่นว่า “นินอย” (Ninoy) นั้น ชาวฟิลิปปินส์ หรือคนทั่วโลกต่างรู้ดีว่า ขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก แนวคิดทางการเมืองของเขาต่อต้าน เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส หรือประธานาธิบดีเผด็จการในขณะนั้นเป็นอันมาก
มีข้อมูลว่า นินอยมาจากตระกูลเจ้าของที่ดินที่มั่งคั่ง ปู่ทวดของเขาเคยทำงานให้กับอดีตประธานาธิบดีอากินัลโด แบะผ่านชีวิตทั้งในรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีมานูเอล เคซอน และประธานาธิบดีโฮเซ ลอเรล
สำหรับ นินอยนั้น เรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อการเมืองโดยแท้ เพราะวัยแค่ยี่สิบต้นๆ เขาก็สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการเทศบาลที่อายุน้อยที่สุดในประเทศได้ จากนั้นยังได้เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการนครที่อายุน้อยที่สุดในวัย 27 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทาร์ลักบ้านเกิด ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือราว 120 กม. ในปี 2504 เมื่ออายุ 29 ปี
นินอย (ขวา) ในปี 2494
นอกจากจากนี้ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคเสรี (Liberal Party-LP) ในปี 2509 และสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในวัย 34 ปี
จะด้วยวัยและรูปร่างหน้าตาตลอดจนน้ำใสใจคอ ปรากฏว่าอาคิโนเป็นที่รักของประชาชนชาวฟิลิปปินส์เป็นอันมาก แน่นอนนั่นยังรวมไปถึงความรักจากประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านเผด็จการอย่าง ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อีกด้วย
หนทางผู้คิดต่าง
อย่างที่กล่าวไป นินอยไม่เพียงต่อต้านประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่เขายังแสดงออกอย่างชัดเจนตลอดมา
และประกาศเป้าหมายสูงสุดว่า จะล้มล้างระบอบเผด็จการซึ่งบ่อนทำลายประเทศมายาวนาน และวางรากฐานประชาธิปไตยลงบนผืนแผ่นดินเกิดให้ได้ ซึ่งคนไทยอาจคุ้นๆ บริบทเช่นนี้ในตอนนี้
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์
แต่การเมืองเพื่อนบ้านเรา โหดกว่าที่คิด ปรากฏว่า จากการต่อสู้อย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลนี่เอง ไปๆ มาๆ ช่วงปี 2515 ประธานาธิบดีมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึก และปกครองฟิลิปปินส์ด้วยระบอบเผด็จการ
แน่นอนตอนนั้นฝ่ายค้านและผู้ต่อต้านนับพันถูกจับเข้าคุก และลอบสังหาร โดยนินอยเป็น 1 ในนั้น เขาถูกจับเข้าคุกและถูกจองจำอยู่นาน 7 ปี
ระหว่างนั้นก็ทำอดอาหารประท้วงรัฐบาลเผด็จการในคุก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนภายหลังเขาล้มป่วยจากโรคหัวใจ จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรับการผ่าตัดบายพาส ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2523 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศอีก ครอบครัวอาคิโนจึงต้องใช้ชีวิตที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกานานกว่า 3 ปี
ขณะข้อมูลอีกแหล่งระบุว่า เขาได้รับการปล่อยตัวไปรักษา จากการกดดันของรัฐบาลประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ
ข้อมูลระบุว่า ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ต่างแดน นินอยเดินสายไปบรรยายตามมหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เขาได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับประเทศแผ่นดินเกิด
ว่ากันว่า ในการเดินทางกลับประเทศของนินอย ที่จริงเขาได้รับการทัดทานจากครอบครัวแล้ว เพราะต่างห่วงในความปลอดภัยของเขา หรือแม้แต่คนใกล้ชิดสายการเมือง ก็พากันตักเตือนถึงการขู่เอาชีวิตจากผู้กุมอำนาจขณะนั้น
แต่อากีโน ได้ตัดสินใจแล้ว ในวันที่ 21 สิงหาคม 2536 เขาเดินทางกลับมาคนเดียว ว่ากันว่าแม้เจ้าตัวจะสวมเสื้อกันกระสุนตามคำแนะนำแกมขอร้องจากคนรอบข้าง แต่เขาก็รู้ดีว่าหากถูกปองร้ายจริงๆ ก็คงยากที่จะรอด
นี่จึงแปลว่าเขาเตรียมใจรับความตายไว้แล้ว และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทันทีที่ก้าวเท้าลงมาสัมผัสผืนแผ่นดินเกิด ณ สนามบินนานาชาติมะนิลา ไม่ทันที่จะได้ก้มลงจูบกราบแผ่นดินเกิด อยู่ๆ เขาก็ล้มลงพร้อมเสียงดังสนั่น กระสุนได้เจาะเข้าที่ศีรษะ พาดวงวิญญาณของเขาลุดลอยไปท่ามกลางสายตาทุกคนในบริเวณนั้น
จุดจบของการเริ่มต้น
ท่ามกลางความเศร้าโศกของผู้คน ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ ฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์ ได้ตีพิมพ์บทคำปราศรัยที่นินอย ตั้งใจเตรียมไว้พูดกับชาวฟิลิปปินส์ แต่ไม่มีโอกาส
โดยในบทคำปราศัยนั้นเขากล่าวถึงการตัดสินใจเดินทางกลับประเทศฟิลิปปินส์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2526 ท่ามกลางคำห้ามเตือนของทุกคนที่รักเขา ทั้งครอบครัวมารดา คนสนิท และที่ปรึกษาทางการเมือง
แต่ตนเองยืนยันว่า ได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด หากจะเกิดขึ้น และได้เล่าถึงเหตุผลที่กลับประเทศ ทั้งที่สามารถยื่นขอหลบภัยทางการเมืองในสหรัฐได้ ว่าตนเองนั้นรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่มีต่อชาวฟิลิปปินส์ ที่ต้องกลับมาร่วมทนทุกข์ทรมานด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต
นอกจากนี้ ยังมีบทพูดที่ว่า “ประเทศฟิลิปปินส์ได้เสื่อมถอยลงมาก มีการฆ่าฟันกันมากขึ้น เศรษฐกิจย่ำแย่ และสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนที่แย่ลง”
ที่สำคัญ เขายังได้กล่าวว่า สิทธิ และอิสระภาพ จะกลับมาสู่ชาวฟิลิปปินส์อีกครั้ง ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าการกลับมาครั้งนั้นของเขา คือกลับมาเพื่อเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ นั่นเอง หลายคนจึงบอกว่าไม่แปลกใจที่เขาจะถูกสังหารในที่สุด
ที่สุด ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่ มะนิลาเมโมเรียลปาร์ก ต่อมานายพลเวอร์ (General Ver) ผู้สนับสนุนคนหนึ่งของ ประธานาธิบดีมาร์กอสถูกจับ สองปีให้หลังถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีลอบสังหารอากีโน แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล กลอเรีย อาโรโย่
เสื้อผ้าที่นินอยสวมวันเกิดเหตุที่เต็มไปด้วยเลือด
อย่างไรก็ดี เวลานั้น นินอยอาจจากไปแล้ว แต่เราคงจำได้ดีว่า ความตายของเขาได้จุดชนวนให้ประชาชนหลายล้านคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
ครั้งนั้นมีการเรียกขานกันว่า “พลังประชาชน” (People’s Power) โดยใช้ “ สีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์ ว่ากันว่าขบวนการนี้มีทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
กับ มีฉากหลังเป็น คอราซอน อากีโน ภรรยาหม้ายของผู้ตายเป็นหัวหอก ซึ่งแน่นอนพวกเขาได้รับชัยชนะ โดยหลังเหตุการณ์นี้ทำให้มาร์กอสจัดให้มีการเลือกตั้งโดยทันที และเธอเองที่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์
www.britannica.com
คอราซอน อากีโน
ก่อนที่มาร์กอสจะหอบลูกเมียไปลี้ภัยในสหรัฐฯ จนกระทั่งมาร์กอสถึงแก่กรรม 2532 ครอบครัวของเขาก็เดินทางกลับฟิลิปปินส์ในปี 2534 และค่อยๆ สั่งสมอิทธิพลทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ภายใต้การนำของภริยาหม้ายของอดีตจอมเผด็จการ หรือ อิเมลดา มาร์กอส สตรีที่ได้ชื่อว่ามีรองเท้านับพันคู่
อิเมลดา มาร์กอส
นี่จึงหมายความว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากในฉากการเมืองของเพื่อนบ้านเราประเทศนี้ ภายใต้การประลองกำลังระหว่างสองตระกูลนักการเมืองใหญ่ของฟิลิปปินส์อย่าง อากีโน และ มาร์กอส ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆไว้โอกาสหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
แต่ที่แน่ๆ ร่างของนินอยถูกฝังไว้ที่ มะนิลาเมโมเรียลปาร์ก ก่อนที่ 26 ปีต่อมา หรือในปี 2552 ร่างของภรรยาของเขา คอราซอน อากีโน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 11 ของฟิลิปปินส์ ได้นำมาฝังเคียงข้างกัน
พวกเขาได้พบกันในที่สุด
โดยเธอถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ในเดือนเดียวกันกับสามี หลังจากป่วยเป็นมะเร็งลำไส้และเข้ารับการรักษาหลายปี จนกระทั่งตัดสินใจปฏิเสธการรักษา และเตรียมตัวเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ
**************//*****************
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://th.wikipedia.org