วันนี้ในอดีต

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

27 ส.ค. 2562

วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน

 

วันนี้เมื่อ 31 ปีก่อน คือวันที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ทรงสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษา 91 ปี

 

สำหรับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ นั้นทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

 

มีพระนามเดิมว่า มัทรี นิลประภา ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น “วาสน์” ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2440 เวลา 19.33 น. ที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนโตของพระชนกผาดและพระชนนีบาง นิลประภา

 

ครอบครัวมีอาชีพทำนา เมื่อแรกประสูติโยมบิดามารดาให้ชื่อว่า “มัทรี” เมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณรจึงเปลี่ยนเป็น “วาสน์”

 

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

 

 

ก่อนอุปสมบท

 

ข้อมูลจากเวบไซต์ https://www.web-pra.com เล่าว่า สมัยเยาว์วัย ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยที่วัดโพธิ์ทองซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ต่อมาได้เข้ามาเป็นศิษย์ของ พระญาณดิลก แต่เมื่อยังเป็น พระมหารอด วราสโย วัดเสนาสนาราม ในตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งครั้งนั้นยังเรียกว่า กรุงเก่า 

 

และได้ทรงเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) จนสอบไล่ได้เทียบชั้นมัธยมปีที่ ๒ 



จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่วัดราชบพิธ โดยเป็นศิษย์ของ พระอมรโมลี แต่เมื่อยังเป็น พระมหาทวี ธรมธัช ป.ธ. ๙ 
เหตุที่ทรงย้ายเข้ามาเข้าอยู่วัดราชบพิธนั้น ได้ทรงบันทึกเล่าไว้อย่างน่าฟังว่า 



“สมัยเป็นนักเรียนอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ปี เป็นศิษย์อยู่ในปกครองของพระมหารอด วราสโย (ภายหลังเป็นพระราชาคณะที่พระญาณดิลก) เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา สมัยยังมีชื่อว่า กรุงเก่า ได้มีญาติผู้ใหญ่ชั้นลูกพี่ลูกน้องของยายซึ่งได้นำลูกชายมาฝาก ให้อยู่ในปกครองของพระผู้เป็นญาติ (พระมหาทวี ป.ธ. ๙) วัดราชบพิธอยู่ก่อนแล้ว 



ได้รับการแนะนำจากพระผู้เป็นญาตินั้นว่า ให้พิจารณาเลือกดูนิสัยใจคอของลูกหลานแถวย่านบ้านบ่อโพง 
ถ้าเห็นคนไหนที่มีนิสัยดี ฉลาดเฉลียวพอควร ก็ให้นำมาอยู่ด้วย เพื่อจะได้เป็นเชื้อสายอยู่ในวัดราชบพิธนี้สืบไป 



เราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง ที่ญาติผู้ใหญ่นั้นเห็นว่า มีนิสัยควรส่งให้มาอยู่ในสำนักพระผู้เป็นญาติได้ ท่านจึงแนะนำกะพ่อแม่ให้ทราบถึงความหวังเจริญสุขของลูกต่อไปภายหน้า แม่เต็มใจยินดีอนุญาต เพราะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า มีลูกชายคนเดียวจะพยายามส่งเสียไม่ต้องให้มาทำนากินเหมือนพ่อแม่ เมื่อพ่อก็เห็นชอบที่จะส่งลูกให้มาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว จึงเป็นอันเตรียมตัวได้ 

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

เมื่อครั้งยังทรงเป็นสามเณรวาสน์ นิลประภา พ.ศ. ๒๔๕๖ (https://www.web-pra.com)

 



ขณะนั้น เรากำลังเรียนหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) 
เมื่อได้แจ้งการขอลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปอยู่บางกอก (เรียกตามสมัยนั้น) แล้ว ญาติผู้ใหญ่จึงได้กำหนดวันนำมาบางกอก โดยพ่อแม่กำลังติดการเกี่ยวข้าวอยู่ (ประมาณเดือนธันวาคม) จึงไม่ได้นำมาด้วยตนเอง 


เมื่อได้พบพระผู้เป็นญาติแล้ว ตกลงจะให้บวชเป็นสามเณร ตอนนี้รู้สึกผิดหวัง เพราะนึกว่าจะต้องมาเรียนหนังสือไทยต่อ แต่เมื่อผู้ใหญ่เห็นดีงามเช่นนั้นก็จำอนุโลมตาม 



การที่ได้รับการพิจารณาเลือกเฟ้นนิสัยใจคอ ความประพฤติว่า เป็นผู้มีแววสมควรให้จากบ้านมาอยู่วัดราชบพิธครั้งนี้ได้ จึงถือว่า เป็นรางวัลในชีวิต ครั้งที่ ๑ 



เมื่อได้อยู่เป็นศิษย์ ติดตามไปในงานต่างๆ เป็นการเปิดหูเปิดตา ในฐานะเป็นลูกศิษย์ต้องนุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อ ๕ ตะเข็บ ประมาณ ๒ เดือนเศษ ก็เตรียมการท่องบ่นวิธีบรรพชาไปพลาง 


ถึงฤกษ์งามยามดี ผู้ปกครองนำขึ้นเฝ้าในตำหนักที่ประทับ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพ มีตะลุ่มรองตามระเบียบเฝ้าเจ้านาย ฆราวาสจะต้องใช้กิริยาหมอบ 

 

 

เส้นทางอุปสมบท

 

พระองค์ได้บรรพชา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2455 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระศีลาจารย์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2461

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ 

 

 

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี (แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “วาสโน”

 

 

การศึกษา

 

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ตามลำดับดังนี้

 

พ.ศ. 2458 นักธรรมชั้นตรี

 

พ.ศ. 2459 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค(ได้รับพระราชทานพัดใบตาลพื้นแพรเขียวประดับเลื่อม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2460 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

 

พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท

 

พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

ตราประจำพระองค์

 

 

ลำดับสมณศักดิ์

 

พ.ศ. 2465 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่พระครูโฆสิตสุทธสร

 

พ.ศ. 2466 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวิจิตรธรรมคุณ 
(พระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) 
(ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะปลัดซ้ายฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ที่พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์

 

พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ยุตตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

 

พ.ศ. 2500 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธิจริยาปริณายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานานสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์

 

พ.ศ. 2506 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

 

พ.ศ. 2517 เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระสังฆราช (พระราชอุปัธยาจารย์) 
และพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ฉาย ณ พระอุโบสถ 
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ธรรมาภรณคุณวิจิตรปฏิภาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณบัณฑิต วชิราลงกรณนริศหิโตปัธยาจารย์ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิศาล นิทัศนนิทานนิพนธปรีชา ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปการ วิมลศีลสมาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร

 

 

งานเผยแผ่ศาสนธรรม

 

งานเผยแผ่ศาสนธรรม นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย

 

การบรรยายธรรม ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถเป็นประจำ การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม 8 ค่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2517

 

การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง 73 จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

 

การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

 

 

งานสาธารณูปการ

 

งานสาธารณูปการ การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดแสงธรรมสุทธาราม จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม

 

โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาสนาราม หอนาฬิกา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาที่พักริมทางหลวง 8 แห่ง ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร 2 หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือโรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา งานสร้างพุทธมณฑลให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

 

 

งานพระนิพนธ์

 

งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่างๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ 6 สังคหวัตถุ 4 สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ 2 ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น

 

 

สิ้นพระชนม์

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปับผาสะอักเสบ พระหทัยวาย ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2531 เวลา 16:50 น. สิริพระชันษา 91 ปี 178 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2532 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส

 

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ในฐานะพระราชอุปัธยาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ”

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป

 

 

สิ้น พระราชอุปัธยาจารย์ ในหลวง ร.10

กระบวนอัญเชิญพระโกศจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 
สู่เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส (ภาพจาก www.web-pra.com)

 

 

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงอยู่ในตำแหน่ง 14 พรรษา

 

***************//***********

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย