28 ส.ค.2428 สิ้น "วังหน้า" หรือ พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ได้สวรรคต ในวันนี้ เมื่อ 134 ปีก่อน
***********************
คงยังมีอีกหลายคนที่อาจแปลกใจ ทำความเข้าใจก่อนพอสังเขป สำหรับคำว่า "วังหน้า" หรือ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" นั้น เป็นคำที่มีมาแต่สมัยอยุธยา มีความหมาย 2 อย่าง คือ
1. สถานที่ อันหมายถึงที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์
2. บุคคล คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า พระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา
และในแง่สถานที่ สำหรับสาเหตุที่เรียกว่า ‘วังหน้า’ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า เพราะตั้งอยู่ด้านหน้าของวังหลวง และ “วังจันทรเกษม” ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทางทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าของวังหลวงเช่นกัน
ส่วนวังหน้าที่หมายถึงบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา และประทับ ณ พระราชวังจันทรเกษม ที่ถือเป็นวังหน้าในสมัยอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งวังหน้าในยุคหลัง หรือสมัยรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 พระองค์ ประทับอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง
และที่สุด ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ได้สวรรคต ในวันนี้ เมื่อ 134 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม 2428
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและทรงสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นมาแทน
และเพื่อเป็นการหวนน้อมรำลึกถึงวังหน้าพระองค์สุดท้าย จึงขออันเชิญพระราชประวัติมาพอสังเขปดังนี้
พระราชสมภพ
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ประสูติแต่ “เจ้าคุณจอมมารดาเอม” เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 คำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2381
“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ "หม่อมเจ้า" โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า "ยอร์ช วอชิงตัน" ตามชื่อของ “จอร์จ วอชิงตัน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก
“เจ้าคุณจอมมารดาเอม”
คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า "พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร" และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปี 2404 และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้วด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง
การแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น "กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ" เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า
ตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจากหนังสือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ โดยกรมศิลปากร (พ.ศ. 2556)
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมจึงตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา
บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง
วิกฤตการณ์วังหน้า
ข้อมูลจากหลายแหลงระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยคบค้าสนิทสนมกับ โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ
โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ
ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง จนทำให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง
การณ์นี้ ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา
เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย
โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย
ทิวงคต
ต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 หรือวันที่ 28 สิงหาคม 2428 พระชนมายุ 48 พรรษา
พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง
จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสยามมกุฎราชกุมารและยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา
อนึ่ง มีข้อมูลอ้างว่าได้รับถ่ายทอดมาจากชาวต่างประเทศด้วยกันในกรุงเทพฯ ระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองนัก ทรงเป็นนักศึกษาเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ และได้สะสมแร่ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังโปรดวิชาวิศวกรรมเครื่องกล พระองค์มีแบบจำลองของโรงงานที่ใช้เครื่องยนต์
******************************
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-26 ส.ค. 2416 รำลึกเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5
-อ่านทั้งหมด - วันนี้ในอดีต
-19 ก.ค.2492 พระราชพิธีทรงหมั้น อย่างเรียบง่ายแต่งดงาม
-"ไก่-สน-เดียร์น่า" นำทีมสัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์