รำลึก พระวิมาดาเธอฯ พระอรรคชายา ดูแลห้องพระเครื่อง
เหตุใดจึงทรง ได้ชื่อว่า เป็น "ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี"
*******************
วันนี้เมื่อ 157 ปีก่อน คือวันที่ "พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา" ประสูติ โดยตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2405
พระองค์เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และเจ้าจอมมารดาจีน เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับพระโสทรเชษฐภคินี คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา และ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
พระประวัติ
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา มีพระนามเดิมว่า "หม่อมเจ้าสาย" เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่ "หม่อมจีน" โดยต่อมาหม่อมจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาจีน" มีพระนามที่เรียกกันในครอบครัวว่า "เป๋า"
หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ เมื่อประสูติประทับอยู่ที่วังของพระบิดา โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรเป็นผู้อภิบาล
มีพระโสทรเชษฐภคินีสองพระองค์ และได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันทั้ง 3 พระองค์
คือ หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ต่อมาได้ทรงกรมเป็นกรมขุนอรรควรราชกัลยา
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็นพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
ในส่วนของ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา นั้น ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าทรงอิสริยยศเป็นพระมเหสีตำแหน่ง "พระอรรคชายาเธอ"
พระนางมีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมด 4 พระองค์ เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวกับพระราชธิดาสามพระองค์
ทั้งหมดเดิม มีพระอิสริยยศเป็น “พระองค์เจ้า” ภายหลังได้รับพระราชทานพระอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้า” มีดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (17 มีนาคม 2425–8 เมษายน 2475) เสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระโอรสสามพระองค์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ยุคล”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา (เดิม: พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเขจรจำรัส; 5 พฤษภาคม 2427–31 สิงหาคม 2432) สิ้นพระชนม์ก่อนได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้า”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา (31 กรกฎาคม 2428–22 ธันวาคม 2467)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (4 ธันวาคม 2429–29 มกราคม 2478)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
เลื่องลือพระปรีชา
ถ้าจะกล่าวถึงพระปรีชาสามารถของ พระวิมาดาเธอฯ เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องราวในการทรงรับหน้าที่ "ควบคุมกำกับดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน"
ทั้งในพระบรมมหาราชวังและที่พระราชวังสวนดุสิต จนสิ้นรัชกาลที่ 5 ถึงกับกล่าวกันว่าทรงเป็น "เอตทัคคะทางด้านการทำกับข้าว"
ทั้งนี้ งานกำกับควบคุมห้องพระเครื่องต้น ถือเป็นงานหนักหนา และเหนื่อยที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบเครื่องเสวยสำหรับพระราชสวามี ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่เราชาวไทยรับทราบจากประวัติศาสตร์ว่า ทรงโปรดและพิถีพิถันในรสชาติพระกระยาหารเป็นที่สุด
และผู้ที่จะมาดูแลส่วนนี้ จะต้องได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสูงสุด เพราะเรื่องนี้ยังหมายถึงพระพลานามัยและความปลอดภัยด้วย
มีการเลื่องลือกันว่า พระวิมาดาเธอฯ มีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ทรงขยัน และทรงไม่หยุดนิ่งในการปรับปรุงสูตรพระกระยาหารเพื่อถวายพระราชสวามี ให้ทรงพระสำราญในรสชาติที่ล้ำเลิศ
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ (ซ้าย) ขณะทรงกำลังเตรียมพระกระยาหารในห้องพระเครื่องต้น
นอกจากนี้ ยังทรง อดทน เด็ดเดี่ยว มีพระปฏิภาณไหวพริบแก้ไขสถานการณ์ได้ดี และโดยมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีการเลี้ยงพระที่วัดเบญจมบพิตร แต่สำรับพระขาดไป 1 ที่
เสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชดำเนินตรงไปที่พระวิมาดาเธอฯ ซึ่งกำลังยืนรับเสด็จตามธรรมเนียมราชสำนัก เพื่อทรงถามไถ่เรื่องราว แต่พระนางทรงสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จนปัญหาผ่านไปด้วยดี
นั่นคือทรงบัญชาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เอากระบะไม้มาเพิ่มอีก 1 ที่ และทรงแบ่งของคาวหวานจากสำรับพระที่มีอยู่อย่างละเล็กละน้อยใส่ “ฝาชาม” ที่จัดเป็นสำรับ แล้วให้ยกไปตั้งถวายพระองค์สุดท้ายได้ทันเวลา
เรื่องนี้เป็นที่สรรเสริญถึงพระสติที่เฉียบแหลม โดยเรื่องนี้หาใช่ความบกพร่องในความควบคุมของพระองค์แต่อย่างใด หากเป็นหน้าที่ของพนักงาน “ทรงประเคน” แต่พระนางก็มิได้ทรงปริพระโอษฐ์เลยว่าเป็นความผิดของผู้ใด
นอกจากนี้ยังมีเสียงเลื่องลือกันว่า บรรดาข้าหลวงทุกคน มีงานทำทั้งวัน เพราะท่านจะทรงมีสิ่งต่างๆ มาให้ได้เรียนรู้ศึกษาตลอดเวลา และท่านไม่บรรทมกลางวัน สิ่งที่ทำเป็นประจำทุกวัน คือ ร้อยมาลัย ร้อยดอกไม้ทุกวัน
พระวิมาดาเธอฯ จะทรงควบคุมชี้แนะให้ข้าหลวงจัดดอกไม้ ร้อยมาลัยได้อย่างสวยงาม จนปรากฏว่าบรรดาข้าหลวงในพระตำหนักพระวิมาดาเธอฯ ได้รับหน้าที่ร้อยมาลัยสำหรับพระราชพิธีในวังหลวงเป็นประจำ เช่น พวงมาลัยพระแสง มีมากมายหลายพวง ระย้าใหญ่ๆ อุบะ หรือเย็บแบบ ฯลฯ
สิ้นพระชนม์
ภายหลังต่อมา พระวิมาดาเธอฯ ประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักในสวนสุนันทาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2472 สิริพระชันษา 66 ปี
ได้รับพระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ[3]และได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ในวันออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ (พระโกศทองใหญ่เป็นพระโกศชั้นสูงสุดสำหรับทรงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี) และพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2473 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง
โดยทรงมี พระอิสริยยศ ดังนี้
หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ (4 กันยายน 2406–2421)
พระอรรคชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย (2421–25 มิถุนายน 2431)
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ (25 มิถุนายน 2431–21 มีนาคม 2468)
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (21 มีนาคม 2468–ปัจจุบัน)
พระอิสริยยศสุดท้ายนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามและเลื่อนกรม
ทั้งนี้ คำว่า “วิมาดา” แปลว่า แม่เลี้ยง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาไว้ในพระอิสริยศักดิ์นี้อย่างเป็นทางการ ส่วนสร้อยพระนาม “ปิยมหาราชปดิวรัดา” นั้น คำว่า “ปดิวรัดา” (อ่านว่า ปะดิวะรัดดา) แปลว่า "ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี"
นอกจากนี้ พระวิมาดาเธอฯ ยังทรงได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่งดงาม ว่ากันว่า "งามทั้งสี่ทิศ" คือมองทิศไหนก็งามไปหมด
ภาพจาก www.pintaram.net/u/t_2539/1983443251092380361_41171199
ทรงเป็นที่รักของผู้คนทั้งในราชสำนักและภายนอกทั่วไป โดยเฉพาะความรู้ในด้านอาหารทรงถ่ายทอดอย่างเต็มพระทัย เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าจอมมารดาแพ เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ฯลฯ และด้วยพระสติปัญญาเฉียบแหลมฉลาดล้ำทรงคิดค้นสูตรอาหารมากมายหลายอย่างจนอาหารไทยมีชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วโลก
โดยเฉพาะบรรดาตำรับเครื่องจิ้มและข้าวปรุงต่างๆ ตามตำรับพระวิมาดา เช่น น้ำพริกลงเรือ, น้ำพริกมะม่วง, น้ำพริกเผาทรงเครื่อง, น้ำพริกมะเขือเทศ, น้ำพริกมะแว้ง, น้ำพริกมะกอก, น้ำพริกกุ้งแห้ง, น้ำพริกน้ำส้ม, น้ำพริกก้อย, น้ำพริกสะเดา, ฯลฯ
หรือข้าวในผลสัปรด,ข้าวบายศรีปากชาม, ข้าวในปลีกล้วย,ข้าวในกะหล่ำปลี,ข้าวทอด,ข้าวปิ้ง,ข้าวงบปลา,ข้าวงบหมู,ข้าวงบเนื้อ,ข้าวงบไก่,ข้าวงบเป็ด ฯลฯ
นอกจากนี้พระนางยังได้ทรงเป็นผู้ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง เพื่ออุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ได้ทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาอุปการะให้ความรู้ การศึกษาและยังฝึกอาชีพให้ทั้งหญิงชาย
***********************
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ดนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกสมเด็จพระพี่นางฯ
-ปิดฉาก "อัจฉริยะลูกทุ่ง" ผู้อาภัพ ตำนานเพลง "ค่าน้ำนม"
-รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร
-สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 สิ้นพระชนม์