11 ก.ย.2534 กำเนิดดาวเทียมสัญชาติไทย "บระเจ้าจ๊อด" ยอดมาก
วันนี้เมื่อ 28 ปีก่อน เรื่องราวของ การเมือง อำนาจ เกมธุรกิจ ที่ยังมีหลักฐานด้วยภาพยืนกุมเป้า
***********************
ปี 2534 ไฮไลท์เหตุบ้านการเมืองเรา ไม่ได้อยู่แค่การทำรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) อันเป็นคณะนายทหาร ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
ในกลุ่มนี้มีแกนนำ คือ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น, พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น, พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบกในขระนั้น และ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ
แต่ถัดจากนั้นราว 7 เดือน หรือวันนี้เมื่อ 28 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 11 กันยายน 2534 ยังเป็นวันสำคัญของคนไทยอีกวันหนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่าความสำคัญของสองเรื่องนี้จะมาเกี่ยวข้องกัน!
นั่นคือ วันนี้เป็นวันลงนามเซ็นสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี คือตั้งแต่ 11 กันยายน 2534 ถึง 10 กันยายน 2564 นั่นเอง
หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นวัดที่ดาวเทียมไทยคมถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ ยังความภาคภูมิใจแก่คนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี ภายใต้ฉากหน้าของการกำเนิดนวัตกรรมอีกยุคสมัยของบ้านเมืองเรา หลายคนเชื่อว่ายังมีเบื้องหลังอื่นๆ ที่อิงการเมืองอยู่ไม่น้อย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
กำเนิดไทยคม
ก่อนจะไปเม้าท์การเมือง มาย้อนรอยเส้นทางของดาวเทียมสัญชาติไทยกันดีกว่า
ดาวเทียมไทยคม อย่างที่เกริ่นไปว่าเริ่มต้นจริงจังขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 โดยเป็นสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารดาวเทียมภายในประเทศไทยระหว่าง กระทรวงคมนาคม โดย นุกูล ประจวบเหมาะ รมว.กระทรวงคมนาคม ขณะนั้น กับ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ชื่อขณะนั้น) โดย พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
ภาพจาก www.thaksinofficial.com
หลังจากที่ช่วงปี 2533 กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศเรื่อง “ข้อกำหนดในการทำข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ” ลงวันที่ 20 กันยายน 2533 เปิดให้เอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอขอ “รับสัมปทาน”
สำหรับบริษัทที่เข้าประมูลครั้งนั้น นอกจาก บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของเสี่ยแม้วแล้ว ยังมีอีก 5 บริษัทใหญ่ คือ ไทยแสท, โมดูลาร์, แอซตรา, คอมแสท และ วาเคไทย
สำหรับไทยแสทนั้น ชื่อเต็มคือ บริษัท ไทยแซท เอ็กซ์เพิร์ท เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด มี มนตรี สุขรอบ เป็นประธานกรรมการ ค่ายนี้ก็ประกอบกิจการเกี่ยวกับจานดาวเทียมมานานเป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้ยังดำเนินกิจการอย่างเข้มแข็ง
ต่อมาคือ กลุ่มโมดูลาร์, กลุ่มแอสตรา, คอมแสท และที่เด็ดคือ กลุ่มวาเคไทย ของ คีรี กาญจนพาสน์ หรือเจ้าพ่อรถไฟฟ้า BTS
แต่แล้วพอถึงวันที่ 20 กันยายน 2533 อันเป็นวันยื่นซองประมูล กลับมีผู้ส่งเอกสารครบเพียง 3 เจ้า คือ ชินวัตรคอมพิวเตอร์ของทักษิณ, ไทยแซท และ วาเคไทย
ผลการเปิดซองพบว่า บริษัท ‘ไทยแซท’ เสนอผลตอบแทน 10% ประกันกำไร 980 ล้านบาท ส่วน ‘วาเคไทย’ เสนอผลตอบแทนให้รัฐ 8.78% และประกันกำไรขั้นต่ำ 875 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทของทักษิณ ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้ชนะ เสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี และรับประกันผลกำไรขั้นต่ำไว้ที่ 1,350 ล้านบาท
และยังให้ความคุ้มครองการลงทุนกับกลุ่มชินวัตร 8 ปี ซึ่งหมายความว่า “รัฐบาลจะไม่ให้บริษัทอื่นเข้ามาแข่งขัน และทุกหน่วยราชการในเมืองไทยที่อยากจะใช้ดาวเทียมสื่อสาร จะต้องใช้บริการดาวเทียมไทยคมเท่านั้น”
ช่วงนั้น หลายคนวิพาก์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวง เพราะบริษัทของทักษิณเพิ่งตั้งขึ้นมาเพียงไม่กี่ปี แต่ความมุ่งมาดของเขาคือเพื่อทำธุรกิจดาวเทียมและเป้าหมายคือเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลสัมปทานดาวเทียมให้ได้
แน่นอน นี่จึงเป็นการการหักปากกาเซียนทั่วทั้งบาง เพราะต่างพากันดูเบาว่าเป็น “บริษัทห้องแถว” เพราะในตอนเริ่มต้นกิจการนั้นเป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง ตอนที่ตั้งกิจการใหม่เอี่ยมก็มีพนักงานแค่ไม่กี่คน
แต่นั่น ก็นับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ดาวเทียมสัญชาติไทย...ไทยคม 1 และ ไทยคม 2 และไทยคมดวงต่อๆ มา ซึ่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ไทยคม 8 ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว (ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญาโอนไปที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
กำเนิดข่าวเม้าท์
ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวในวันนั้น ได้นำพามาถึง “ดราม่าการเมือง” ในสังคมโซเชียลเน็ทเวิร์คในวันนี้
ทักษิณเคยกล่าวไว้ในหนังสือ ตาดูดาวเท้าติดดินหน้า 138 ว่า
"อาจกล่าวได้ว่าปี 2533 เป็นปีที่สำคัญที่สุดของชีวิตการทำธุรกิจของผม เพราะโครงการใหญ่ๆ อันเป็นรากฐานแท้จริงของชินวัตรล้วนกำเนิดในปีนี้ โครงการดาวเทียมก็เช่นกัน"
แต่คนไทยกลับเลือกที่จะจำคำพูดของทักษิณ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2536 ที่มีการยิงดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่วงโคจร ณ เฟรนช์เกียนา อเมริกาใต้
โดยมีบุคคลสำคัญอีก 1 หนึ่งคนของทักษิณ คือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กจ๊อด” ผู้ที่มีสโลแกนประจำตัวว่า“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ที่ทักษิณได้เชิญไปร่วมเป็นสักขีพยาน นอกเหนือจากสื่อมวลชนและแขกวีไอพีคนอื่นๆ
แต่สำหรับเสี่ยแม้วในวัย 40 ต้นๆ วันนั้น “บิ๊๊กจ๊อด” ดูจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ จนเกิดเป็นคำพูดในวันนั้นว่า
“ถ้าไม่มี พล.อ.สุนทร ก็ไม่มีวันนี้”
และภาพที่ทักษิณอยู่ในอาการพินอบพิเทา มือกุ่มเป้า จึงได้กลายเป็นภาพอมตะที่ยังคงมีคนนำมาใช้กล่าวถึงทักาิณในแง่มุมต่างๆ นานามาจนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะภาพนี้ได้กลายเป็นที่มาของชุดความเชื่อที่ว่า ทักษิณโร่ไปขอสัมปทานดาวเทียมไทยคม จากนายทหารเสื้อคับผู้กว้างขวาง หรือ หัวหน้า รสช. ผู้มากอำนาจมากบารมี ณ เวลานั้น
ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดเอาตอนที่ทักษิณทวีตข้อความ #ป้อมเกาะโต๊ะ แล้วส่งผลให้ผู้คนพากันตอบโต้ ด้วยการเอาภาพเสี่ยแม้วยืนกุมเป้า โดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดช่วงปี 2533 โอบไหล่ในสภาพป๋าจนเกิดประเด็นตามมา
เพราะภาพนี้ถูกใช้มาก่อนหน้านั้นหลายครั้ง หลายกรรม หลายวาระแล้ว
ลวง-จริงใครกำหนด
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจถามว่า แล้วประโยค “ถ้าไม่มีเขา ก็ไม่มีผมในวันนี้” มาจากไหน เรื่องนี้มีคำอธิบายมาก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว
แต่หากย้อนดูตามไทม์ไลน์แล้วพบว่า วันที่ 20 กันยายน 2533 คือวันที่ทักษิณชนะประมูล ในขณะที่ คณะ รสช. ของบิ๊กจ๊อดและพวก ทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
นี่ย่อมแปลว่า ทักษิณชนะประมูลในรัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จครบจนถึงการอนุมัติ
แต่จะเอาให้ชัดก็ต้องขอยกบทความ "ไทยคม-ชัด-ลึก สัมพันธ์อลเวง ‘ทักษิณ-จ๊อด’ และท่านสารวัตร" จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 2 เมษายน 2544
ในบทความ โดยสรุปเล่าว่าตั้งแต่ธุรกิจของทักษิณเริ่มหยั่งรากลงดิน “บิ๊กจ๊อด” นั้นมีบุญคุณกับ “ทักษิณ” ขนาดไหน
ปี 2533 เขาก็เข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการเข้าประมูลโครงการ ดาวเทียมของกระทรวงคมนาคม และชนะประมูล โดยคณะกรรมการกลั่นกรองมี ศรีภูมิ สุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เป็นประธาน
แต่พอช่วงที่ปรับครม. แล้ว สมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นรัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ “วาเคไทย” ได้ยื่นหนังสือประท้วงกับสมัคร สุนทรเวชทันที จนเรื่องค้างไว้ก่อน
จนเปิดรัฐประหาร เดือนกุมภาพันธ์ 2534 ทาง “วาเคไทย” ก็ยื่นหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.สุนทร แน่นอนระหว่างนั้น ทักษิณจึงเข้าพบ พล.อ.สุนทร โดยว่ากันว่าเข้าพบเพื่อขอให้ตัดสินอย่างเป็นธรรม
บางกระแสเล่าว่าที่ต้องวิ่งหา รสช. เพราะแม้ดาวเทียมจะประมูลชนะแล้ว แต่การที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาเนื่องจากปฏิวัติเสียก่อนก็สุ่มเสี่ยงที่จะหลุดลอย แถมช่วงนั้นมีหลายบริษัทที่จ้องตาเป็นมัน หวังให้ รสช.ล้มการประมูลอีกด้วย
อ่านประกอบ https://www.komchadluek.net/news/politic/381286
ที่สุด การคัดค้านจึงตกไป ว่ากันว่า เพราะบิ๊กจ๊อดได้ระงับไว้ แต่ช่วงนั้นก็คาบเกี่ยวกับการหมดอำนาจของ รสช.พอดี ช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น อานันท์ ปันยารชุน ก็มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้ง นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม เรื่องจึงอยู่ในอำนาจของเขา
ที่สุดหนังสือของ “วาเคไทย” ก็มีผลแค่ให้คณะกรรมการกลั่นกรองที่มี ไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นประธาน หยิบยกมาพิจารณาครั้งหนึ่ง ก่อนสรุปว่าข้อโต้แย้งของวาเคไทย "มีมูล" แต่ไม่พอที่จะเปลี่ยนแปลงให้วาเคไทยกลับมาเป็นผู้ชนะ
แต่ รมว.คมนาคม นุกูล ต่อรองกับทักษิณว่าขอเพิ่มค่าผลประโยชน์ให้รัฐเป็น 1,415 ล้านบาท และลดเวลาสัมปทานจาก 30 ปีเหลือ 8 ปี ก่อนจะเซ็นสัญญาในปี 2535
และคำว่า “อนุมัติ” ก็เกิดขึ้น จนวันไทยคมขึ้นสู่ฟ้า จึงมีคำพูดจากทักษิณว่า “ถ้าไม่มีพี่จ๊อด ก็ไม่มีวันนี้”
ถึงตรงนี้หลายคนอาจพอปะติดปะต่อภาพอะไรได้บ้าง กับเรื่องราวการเมือง อำนาจ เกมธุรกิจ จิ๊กซอว์ และตัวละคร ที่ยังคงโลดแล่นดำเนินต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้
*******************************
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-อ่านทั้งหมด - วันนี้ในอดีต
-ร่ำไห้หามาทั้งชีวิตถูกจี้ทอง 2 บาท
-ชัชชาติ มองปัญหา กทม. ต้องเริ่มแก้ เส้นเลือดฝอย
-ใบปลิวโจมตี นายตำรวจเมืองตรัง ปลิวว่อนทั่วศูนย์ราชการ