โลวคอสต์ดังไถลรันเวย์ภูเก็ต พบเหตุปลอมแปลงบันทึกการบิน
วันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน กับการตัดสินคดีครัง้สำคัญของอดีตซีอีโอวันทูโกไม่กี่วันมานี้
*******************
ไม่กี่วันมานี้ มีข่าวใหญ่ ที่ศาลกรุงปารีส ในฝรั่งเศส อ่านคำพิพากษา ตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี อุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจชาวไทย อดีตซีอีโอสายการบิน วัน-ทู-โก สายการบินราคาประหยัดแห่งแรกของไทย
จากเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารสายการบิน วัน-ทู-โก เที่ยวบิน โอจี 269 เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2550 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 90 ราย ผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
เลยทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นขึ้น เพราะวันนี้เมื่อ 12 ปีก่อน คือวันที่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น วันนี้มาย้อนรอยอีกครั้ง
ไฟในสายฝน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 หลังจากที่สายการบินวันทูโก เที่ยวบิน โอจี 269 แมคดอนเนลล์ดักลาส MD-82 ที่ทะยานจากท่าอากาศยานดอนเมือง ในเวลา 14.30 น. พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 130 คน มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติภูเก็ต
ปรากฏว่าเมื่อไปถึงก็ต้องพบกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ทัศนวิสัยการมองเห็นเลวร้าย
นักบินยังคงพยายามที่จะนำเครื่องลงแลนดิ้ง จนเวลาประมาณ 16.00 น. เครื่องบินวันทูโกถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต ทันที่ที่ล้อเครื่องบินแตะพื้นก็เสียการทรงตัว ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ไปชนกับกำแพงดิน
จากนั้นก็เกิดระเบิดอีก 2 ครั้ง ทำให้เครื่องบินหักเป็น 2 ท่อน และมีไฟลุกไหม้ ท่ามกลางสายตาผู้คน ณ บริเวณสนามบินที่ต่างตกอกตกใจและเป็นห่วงในความปลอดภัยของทุกคนบนเครื่อง
หลังเกิดเหตุ หน่วยรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานภูเก็ตไม่รอช้า เร่งระดมกำลังทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ รถพยาบาลจากทุกหน่วยในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง เข้าระดมดับเพลิงอย่างเร่งด่วน
ภาพจาก AFP
และเร่งให้การช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิต โดยทยอยส่งโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลสิริโรจน์ และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
แน่นอน เหตุการณ์นี้มีผู้สียชีวิต และไม่ใช่จำนวนๆ น้อย แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ทำได้เพียงระดมกำลังกันช่วยกู้ศพผู้เสียชีวิตออกจากซากเครื่องบิน ท่ามกลางสายฝนที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
จากช่วงเย็น ไปสู่เวลาค่ำ จนถึงเช้า เจ้าหน้าที่ทำงานมิได้พัก โดยทยอยย้ายร่างผู้เสียชีวิตไปเก็บไว้ที่อาคารเอนกประสงค์ของท่าอากาศยานภูเก็ต
ที่น่าตกใจคือแม้จะเร่งงานกันทั้งคืนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะกู้ศพผู้เสียชีวิตออกได้ทั้งหมดในเนื่องจากฝนตกลงมาตลอดทำให้เป็นอุปสรรคในการค้นหาศพผู้เสียชีวิต
ขณะที่ซากเครื่องบินที่เกิดการระเบิดและหักเป็น 2 ท่อนก็เป็นอุปสรรคในการกู้ศพผู้เสียชีวิตด้วยอย่างมาก
89+ 1 ชีวิต
ช่วงนั้นมีรายงานเกาะติดสถานการร์แทบจะนาทีต่อนาที มีข้อมูว่า ตอนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถเข้าถึงภายในเครื่องบินแล้ว ก็ต้องพบกับสภาพภายในที่เสียหายมาก หลังคาเปิด แพนหางขาด
โดยสภาพศพผู้เสียชีวิตยังคาดเข็มขัดนิรภัยติดอยู่กับเก้าอี้ ซึ่งการเก็บกู้เป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะสัมภาระและอุปกรณ์ของเครื่องบินวางทับกันระเกะระกะ
แต่ที่สุด ราวช่วงเที่ยงของวันรุ่งขึ้น 17 กันยายน 2550 เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็สามารถกู้ศพผู้เสียชีวิตออกมาได้ทั้งหมด ศพสุดท้ายเป็นศพชาวต่างชาติสัญชาติอิสราเอล ที่ติดอยู่ตรงบริเวณหัวเครื่องบิน เขาคือศพหมายเลข 89!
ขณะที่ในส่วนของผู้บาดเจ็บที่กระจายไปรักษาตามโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 2 คน โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต 29 คน และโรงพยาบาลสิริโรจน์ 10 คน ในการนี้ยังมีโดยผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ต้องอยู่ในห้องไอซียู 6 คน เนื่องจากที่ถูกไฟคลอกอย่างหนัก
เครื่อง แมคดอนเนลล์ดักลาส MD-82 (McDonnell Douglas MD-82)
และน่าเศร้าใจยิ่งหลังเหตุการณ์ผ่านไปราว 2 สัปดาห์ นักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษหนึ่งในผู้ที่บาดเจ็บสาหัสได้เสียชีวิตลง หลังจากทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่กรุงเทพ
รวมแล้วเหตุร้านครั้งนี้มียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 90 คน แบ่งเป็น กัปตัน 1 และ นักบินผู้ช่วย 2 ท่าน (ชาวไทย 33 คน และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 57 คน) ส่วนใหญ่เป็นชาว อังกฤษ อิสราเอล และ ฝรั่งเศส และมีผู้บาดเจ็บ 41 ราย (ชาวต่างชาติ 24 ราย คนไทย 17 ราย) มีลูกเรือรอดชีวิต 2 คน จากทั้งหมด 5 คน
ในจำนวนผู้เสียชีวิตชาวไทย ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม 2 ท่านเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย คือ นายคธา กาญจนสุธา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต และนายฉกาจ กุลวานิช ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพังงา ซึ่งถือเป็นความสูญเสียบุคลากรที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย
ช่วงนั้นคนไทยพากันติดตามข่าวคราวของเหตุนี้อย่างเกาะติด เพราะยังมีเรื่องราวของการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของศพ เนื่องจากศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์บางรายโดนไฟคลอกรุนแรง
เรียกได้ว่าหน่วยพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของสำนักงานตำตรวจแห่งชาติที่ลงพื้นที่มาตั้งแต่คืนเกิดเหตุ ก็ได้ทำหน้าที่อย่างหนัก จนสามารถพิสูจน์ศพและทยอยส่งให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้ภายในเวลา 10 วันหลังเกิดเหตุการณ์
แต่ที่ผู้คนให้ความสนใจมากไม่แพ้กันก็คือ งานนี้ใครจะรับผิดชอบ!!
วันทูโกโลว์คอสต์
แน่นอน เบื้องต้นก็ต้องเป็นสายการบินต้นเรื่องอยู่แล้ว โดยสายการบินวันทูโกได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบตั้งวันแรกที่เกิดเหตุการณ์ ทั้งในเรื่องของการดูแลค่ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ค่าขนส่งและค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต
รวมทั้งเงินประกันที่ผู้โดยสารจะได้รับตามระเบียบ ข่าวระบุในช่วงนั้นว่า เบื้องต้นทางสายการบินได้ช่วยเหลือในการจัดการศพผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรายละ 100,000 บาท และผู้ที่เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยรายละ 5 ล้านบาท จากที่สายการบินวันทูโกได้ทำประกันไว้ 300 ล้านเหรียญ
ซึ่งเวลานั้นข่าวว่าสายการบินได้ทยอยจ่ายให้กับญาติผู้เสียชีวิตแล้ว โดยยังมีหลายรายที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ทางสายการบินแถลงว่าจะจ่ายก็ต่อเมื่อคดีสิ้นสุด
สำหรับ "วันทูโก" นั้น เป็นสายการบินราคาประหยัดแห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546 โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ ภายใต้การบริหารงานของ สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่
บริษัทนี้ก่อตั้งโดย อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้เป็นซีอีโอ (CEO) ของสายการบิน โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ (Orient Thai Airlines) นั่นเอง
ภาพจากเฟซบุ๊ก Fly Orient Thai
สำหรับ อุดมนั้น เขาเริ่มต้นเส้นทางสายการบินมาก่อนหน้านั้น ราวปี 2533 เริ่มจากสายการบิน แคมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ในนามของบริษัท Fuldaa ที่ได้รับสัมปทานจากคณะรัฐมนตรีกัมพูชา เริ่มเปิดบินเที่ยวแรกเมื่อพฤษภาคม 2535 บินระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ
ภายหลังปิดลงเมื่อปี 2537 และนำเครื่องบิน 3 ลำ กลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทย แต่ไม่มีใบอนุญาต ระหว่างที่รอใบอนุญาตในปี 2537 นั้น อุดมก็ได้รับการติดต่อจากเป็นเจ้าของโรงงานพลาสติกของฟิลิปปินส์ ให้ร่วมหุ้น 60-40% ทำสายการบิน แอร์ ฟิลิปปินส์
ที่สุดหลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเสรีการบินในปี 2537 ผ่านมาถึงปี 2538 อุดมก็เริ่มสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ เดิมใช้ชื่อว่า สายการบิน โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส แอร์ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างภูมิภาค บินจากเชียงใหม่ ไปยัง อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Fly Orient Thai
จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2546 จึงเกิดเป็น “วัน ทู โก” โดยสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดสายการบินแรกของประเทศไทยก่อนที่เจ้าอื่นๆ จะทยอยตามมาเป็นคู่แข่ง ทั้ง ไทย แอร์เอเชีย และ นกแอร์ บินตามมาติดๆ
แต่น่าเสียดายที่สุดแล้ว ทั้งสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ และ วันทูโกก็ถึงกาลปิดฉากลง หลังจากที่เจอปัญหามากมายจนถูกส่งปิดการบินหลายครั้ง โดยวันทูโกเลิิกดำเนินการไปก่อนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553
ส่วน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ได้ยกเลิกให้บริการถาวรใน ปี 2561 นี่เอง เนื่องจากถูกสั่งพักใบอนุญาตทำการบินแบบไม่มีกำหนด
ปมคดี
ที่สุด เรื่องราวดำเนินมาจนถึง ช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอย นั่นคือ การไขปมสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนั้น
แน่นอนช่วงนั้นผู้คนคาดการณ์ไปต่างๆ นานาทั้ง วินด์เชียร์ นักบินที่ตกเป็นจำเลยสังคม แถมยังลามไปถึงันเวย์ของสนามบินภูเก็ตว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของอุบัติเหตุนี้
นอกจากนี้ยังเกิดคำถามว่า หากสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายแต่ ก่อนหน้านั้นเพียง 5 นาที เครื่องบินของสายการบินวันทูโกลำก่อนหน้า ก็สามารถลงจอดได้ตามปกติ
ถามว่าสาเหตุคืออะไร ก็คงต้องพึ่งอุปกรณ์สำคัญอย่าง “กล่องดำ” เท่านั้น
ที่สุด ในส่วนของ สำนักงานการบินพลเรือนของไทย สอบสวนและสรุปว่า เครื่องบินตกเพราะความผิดพลาดของนักบิน และนักบินผู้ช่วย ซึ่งพยายามนำเครื่องลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย
อุดม ตันติประสงค์ชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์
เจ้าของสายการบินวันทูโก แอร์ไลน์
ที่สำคัญ ยังพบว่านักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนดต่อสัปดาห์ ทำให้มีความเครียดสะสม เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ที่น่าตกใจคือ วันทูโก ยังยื่นเอกสารเท็จของนักบิน และชั่วโมงการบินของนักบินต่ำกว่าความจริง!!
ขณะที่ศาลกรุงปารีส สอบสวนพบว่า อุดม ตันติประสงค์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ เจ้าของสายการบินวันทูโก แอร์ไลน์ มีความผิดจริงในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และสั่งปรับเงินเป็นจำนวน 75,000 ยูโร (ราว 2,519,500 บาท) ศาลยังพบหลักฐานความผิดพลาดของนักบินและความผิดของวันทูโก
ล่าสุด ช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา เรื่องดำเนินมาถึงที่สุด เมื่ออดีตซีอีโอวันทูโก ยังเจอคดีที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตชาวฝรั่งเศส 7 คน และผู้รอดชีวิต 1 คน ยื่นฟ้องในคดีแพ่งเรียกค่าชดเชยในอุบัติเหตุที่พวกเขาระบุว่าเป็น “อุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น” พร้อมกล่าวหาวัน-ทู-โก พยายามปกปิดความผิดพลาดต่างๆ
ผลการสอบสวนของฝรั่งเศสยังเผยถึงความบกพร่องล้มเหลวต่างๆ ของวัน-ทู-โก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโอเรียนท์ ไทย รวมทั้งเรื่องการจัดหาพนักงาน การฝึกอบรม นิสัยการทำงานของนักบิน และการซ่อมบำรุง
โดยอดีตนักบินคนหนึ่งเผยว่า การเพิ่มชั่วโมงบินของนักบินเป็นเรื่องปกติ และนักบินได้รับโบนัสพิเศษตอบแทน ซึ่งเสมือนเป็น “วัฒนธรรมทางธุรกิจอาญา” รวมทั้งการละเมิดบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน
โจทก์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งน้องชายเสียชีวิตเผยว่า การฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับเงิน แต่เพื่อไม่ให้ผู้คนลืม และให้ยอมรับว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ครั้งนั้น
ที่สุด ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ศาลกรุงปารีสของฝรั่งเศสตัดสินจำคุก 4 ปี อุดม ตันติประสงค์ชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน วัน-ทู-โก
************************