17 ก.ย.2551 สมชาย ขึ้นนั่งนายกฯไทย แต่ไร้ทำเนียบ
น่าจะเป็นนายกฯ ไทยคนเดียวที่ไม่ได้เข้าทำเนียบ และถูกทวงเก้าอี้คืนอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สองเดือนนิดๆ
***********************
คนไทยคงยังไม่ลืมอดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ชื่อ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" กันใช่มั้ย
และวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2551 ก็คือวันที่เขาได้ขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย ภายใต้พรรคพลังประชาชน
ความทรงจำของคนไทยต่อตัวเขา แน่นอนแม้ไม่มาก แต่ที่มีอยู่ก็ล้วนแล้วแต่แซ่บๆ โดยเฉพาะเขาน่าจะเป็นนายกฯ ไทยคนเดียวที่ไม่ได้เข้าทำเนียบ และถูกทวงเก้าอี้คืนอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่สองเดือนนิดๆ
วันนี้มาย้อนความทรงจำเหล่านั้นก็ดีกว่า
ก่อนทำเนียบ
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดเมื่อ 31 สิงหาคม 2490 ที่ ต.สวนขัน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของ เจิม และ ดับ วงศ์สวัสดิ์ โดยตนเองอายุห่างจากพี่คนโตและคนรองเป็นสิบปี
ชีวิตส่วนตัวเขาสมรสกับ “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวของ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ ผศ.ดร.ยศธนัน วงศ์สวัสดิ์ (เชน), ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ (เชียร์) อดีต ส.ส.เชียงใหม่ และ ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ (เชอรี่)
สมัยยังสวมชุดสีกากี
ภาพจาก https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=offway&month=19-09-2008&group=30&..
แต่กว่าจะมีวันนี้ สมชายโตมาในครอบครัวธรรมดามาก เป็นลูกชาวนา ชาวสวนยาง วัยเด็กเป็นคนขี้โรค เคยป่วยจนหมดลมหายใจต่อหน้าพ่อแม่ เพราะที่บ้านกันดารห่างไกลความเจริญ ทั้งอำเภอไม่มีโรงพยาบาล
แต่เมื่อรอดมาได้ พ่อยังต้องเข็นให้เรียนหนังสือเพราะเป็นเด็กเกียจคร้าน จนภายหลังตั้งตัวได้ก็พลิกมาฮึดสู้ กลายมาเป็นเด็กเรียนดี และได้รับทุนเล่าเรียนจากรัฐบาลมาช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านที่ยากจนมากถึงขนาดที่บางครั้งเขาต้องอาศัยไปกินข้าวที่วัดเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่
สมชายสำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่บ้านเกิดนครศรีฯ และมาจบมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นสำเร็จนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2513
ต่อมาปี 2516 เข้าศึกษาต่อเนติบัณฑิตไทย (นบท.) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ 2539 ปริญญาบัตร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 38
อย่างที่รู้กันว่าสามีของเจ๊แดงคนนี้ เป็นคนที่มาจากเส้นทางราชการสายยุติธรรม เขาจึงไปมาแล้วหลายจังหวัดมาก เริ่มจากเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสอบบรรจุเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2517 ก็ได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวง ในปี 2518 แล้วไปเป็นผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ ในปี 2519
จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2520 ช่วงนี้เองที่เกิดบุพเพสันนิวาส หนุ่มสะตอมาเจอสาวสันกำแพง พบรักกับ เจ๊แดง เยาวภา พบปุ๊บก็ปิ๊งเลยทันที
ภาพช่วงปัจจุบันของทั้งคู่ที่ฮ่องกง
อยู่เชียงใหม่หลายปีปลูกต้นรักเข้าฝั่งเข้าฝาแล้ว ก็ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลในอีกหลายจังหวัดคือ ปี 2526 ไปประจำ จ.เชียงราย จากนั้นปี 2529 ไปเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพังงา
จากนั้นเส้นทางราชการของเขา ก็เติบโตไปตามวิถีของผู้พิพากษา และปี 2541 ได้เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ
หลังจากนั้นได้ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายบริหาร ในปี 2542 และเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2542 แล้วย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อ 8 มีนาคม 2549 กระทั่งลาออกจากราชการในเดือนมีนาคม 2550
เฉียดทำเนียบ
ว่ากันทั่วว่า เขาก็เป็นนายกฯ อะไหล่คนหนึ่งของนายใหญ่ไทยรักไทย ที่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชน และที่ยิ่งกว่าแน่ คือ โดยการผลักดันของศรีภรรยานั่นเอง
เมื่อเข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนช่วงปี 2550 ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช พอมาปี 2551 ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จนที่สุดในวันที่ 9 กันยายน 2551 ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่ง เหตุจากการจัดรายการชิมไป บ่นไป
กระทั่ง 17 กันยายน 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยผลการลงคะแนนได้ 298 เสียง ชนะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ 163 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง
เขาเขียนไว้ในพ็อกเกตบุ๊กอัตชีวประวัติของตนเองเล่มแรก “ชีวิต งาน การต่อสู้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26” ระบุว่าช่วงเวลาสั้นๆ 2 เดือนครึ่งที่อยู่ในตำแหน่ง (18 ก.ย.2551-2 ธ.ค. 2551) เป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้
เพราะเต็มไปด้วยเส้นทางขรุขระในภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย แน่นอนเก้าอี้นายกฯ เป็นของร้อน สมชายไม่เคยได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล
ถามทำไม คนไทยไม่น่าลืมเหตุการณ์สำคัญ ตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมอาคารรัฐสภาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2551 เพื่อกดดันไม่ให้คณะรัฐมนตรีของนายกฯ สมชาย ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้
และยังมาชุมนุมกันเต็มทำเนียบรัฐบาลมืดฟ้ามัวดิน!!
เมื่อเป็นเช่นนั้น สมชายจึงติดต่อขอให้ ปู่ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาขณะนั้น เปลี่ยนสถานที่ประชุมหรือเลื่อนการประชุมออกไป แต่ชัย ชิดชอบ ยังคงยืนยันให้มีการประชุมรัฐสภาตามวันและเวลาเดิม
พอช่วงเช้าวันอังคารที่ 7 ตุลาคม ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมเป็นการเปิดเส้นทางให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปประชุมรัฐสภาวันนั้นมีข้อน่าสังเกตว่ามีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 320 คน เท่านั้นที่เข้าร่วมประชุมส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนี้
แม้แต่พิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ยังต้องทำที่บ้านพัก
เมื่อคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายเสร็จเวลาประมาณ 14.00 น.สมชายไม่สามารถเดินทางออกมาได้ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจช่วยพาออกมาแทน
ช่วงเย็นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ล้อมรอบหน้าบริเวณกองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า ทำให้เกิดความวุ่นวายจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและตำรวจได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ
หากภายหลังผลการชันสูตรศพของผู้เสียชีวิตหญิงสรุปว่าบาดแผลที่ทำให้เสียชีวิตไม่ได้เกิดจากแก๊สน้ำตาแต่อาจเกิดจากวัตถุระเบิด
ลาทำเนียบ
7 กันยายน 2552 ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์,
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
และให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีบุคคลทั้งสี่ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 70 ต่อไป
ที่สุดวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรณีที่ ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อ่าน https://www.komchadluek.net/news/regional/293778
ถือว่าปิดฉากนายกฯ ที่อาภัพที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะรัฐบาลของเขาไม่เคยได้ใช้ทำเนียบในการทำงาน นอกจากต้องไปอาศัยท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นทำเนียบชั่วคราวจนต้องลงจากตำแหน่ง
ส่วน คดีสลายม็อบพันธมิตรปี 2551 ที่เขาตกเป็นจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ช่วงปี 2560 ศาลฎีกานักการเมือง พิพากษายกฟ้อง
โดยให้เหตุผลพันธมิตรฯชุมนุมโดยไม่สงบ จนท.มีอำนาจในการปฏิบัติการคุมฝูงชน
***************************
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ชวน พร้อมรับเรื่อง วัชระ ร้องสอบปมขรก.สภา
-วิษณุ ชี้กล่าวถึง กษัตริย์ในสภา ควรประชุมลับ
-(คลิป) ชวน กรีด รัฐบาลต้องรู้หน้าที่แจงสภา
-สภาฯเปิดใช้ปลายปี เผยกลาง ต.ค.นี้ถกพ.ร.บ.งบประมาณ