วันนี้ในอดีต

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์  ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์ ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

03 ม.ค. 2563

วันนี้ในอดีต 3 มกราคม 2563 ครบรอบ 105 ปี พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

****************************

 

3 มกราคม 2563 ครบรอบ 105 ปี พระราชพิธีก่อพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์) โดยต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

 

 

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์  ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 

ในวันนั้นพระราชดำรัสตอบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ ผู้ที่มาชุมนุมอยู่ในงานพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ ตึกบัญชาการ ในวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พระพุทธศักราช 2458 ความว่า

 

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีเหตุติดขัด"

 

"ซึ่งการยังจะดำเนินไปไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์ โดยรู้ว่าเมื่อได้ทำสำเร็จแล้วจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์ เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเราเป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์ อันใหญ่และถาวรเช่นนี้”

 

 

 

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์  ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

วางศิลาพระฤกษ์

 

 

“ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราจะได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้ส่วนการที่ดำเนินไปได้จนเป็นรูปถึงเพียงนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะของกรรมการผู้ได้รับมอบเป็นหน้าที่ผู้อำนวยการ ประกอบกับความอุตสาหะแห่งบรรดาผู้มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์สั่งสอนในโรงเรียนนี้ ของกรรมการที่ได้รับมอบหน้าที่ไปจากเราให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจงได้รับความขอบใจของเราแล้ว"

 

"และขอให้แสดงความขอบใจของเรานี้แก่ครู อาจารย์ทั้งหลายที่พยายามทำการตามหน้าที่อย่างสามารถด้วย ขอจงมีความเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทั่วกัน ความมุ่งหมายและกิจการซึ่งต่างก็ตั้งหน้าพยายาม เพื่อจะให้เป็นความดีความงามแก่มหาวิทยาลัยในเบื้องหน้านั้น ก็ขอให้ได้ผลสำเร็จ สมปรารถนาโดยเร็วเทอญฯ”

 

อนึ่ง สำหรับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ในปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2459 พร้อมกับโอนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปขึ้นกับกระทรวงธรรมการในวันเดียวกัน

 

 

 

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์  ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

วางศิลาพระฤกษ์

 

 

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการ มีตำแหน่งหัวหน้าเป็นชั้นอธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นกับกรมนี้

 

โดยมี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นพระองค์แรก และมีพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนแรก (ต่อมาตำแหน่งนี้เปลี่ยนไปเรียกเป็นอธิการบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เป็นต้นมา)

 

 

 

ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์  ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน

ตึกอักษรเมื่อครั้งยังมีเพียงตึกบัญชาการตึกเดียว

 

 

 

ต่อมาตึกนี้ใช้เป็นสถานที่เรียนของคณะอักษรศาสตร์ คือ ตึกอักษรศาสตร์ 1 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุคแรกสถาปนามีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฏฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 3 คณะแรกสืบเนื่องมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ

 

คือ โรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงเรียนยันตรศึกษา ตามลำดับ ส่วนคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นคณะที่ตั้งใหม่ ซึ่งในระยะแรกมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาพื้นฐานแก่นิสิตในคณะอื่นๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงมีผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก

 

 

*********************************

 

 

ขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก http://www.arts.chula.ac.th/events/arts96/exhibition.php