กำเนิด 'หลวงพ่อเดิม' วัดหนองโพ เทพเจ้าแห่งนครสวรรค์
#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ
*********************
คนไทยสายพระ สายของขลัง ต้องรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หรือ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม พุทธสโร เพราะท่านคือ เทพเจ้าแห่งนครสวรรค์ ผู้สร้างมีดหมอที่โด่งดังมากที่สุดในประเทศไทย ท่านมีลูกศิษย์มาขอศึกษาวิชาพุทธาคมมากมาย
โดยในวันนี้เมื่อ 160 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2403 คือวันที่ท่านถือกำเนิดขึ้นมา วันนี้ในอดีตจึงขอนำประวัติและเรื่องราวพุทธาคมของหลวงพ่อมานำเสนอในโอกาสนี้
ประวัติวัยต้น
ข้อมูลประวัติของหลวงพ่อเดิม เรียบเรียงจาก www.web-pra.com โดยสังเขปมีดังนี้
ต้นตระกูลของหลวงพ่อเดิมเป็นชาวนา อยู่ในหมู่บ้านหนองโพ โยมบิดาของท่าน ชื่อ เนียม ภูมณี ส่วนโยมมารดาชื่อ ภู่ โดยโยมบิดาของท่านได้ถือกำเนิดที่บ้านเนินมะกอก (อยู่เลยหมู่บ้านหนองโพไปประมาณสองสถานี) ต่อมาได้แต่งงานอยู่กินกับโยมมารดาของหลวงพ่อเดิม ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองโพ และพากันย้ายครอบครัวอยู่ที่บ้านโพ
หลวงพ่อเดิมนั้น เกิดเมื่อวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 ปีวอก ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2403 และยังพี่น้องร่วมท้องอีก 5 คนคือ นางทองคำ คงหาญ, นางพู ทองหนุน, นายดวน ภู่มณี, นางพันธ์ จันทร์เจริญ, และ นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น
วัดหนองโพ
ชีวิตเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อเดิม ได้รับการอบรมสั่งสอนจากวัดหนองโพ โดยสมัยก่อน ชาวนาจักนำบุตรหลายไปฝากฝังที่วัดในระยะฤดูแล้ง คือระหว่าง เดือน 9-11 เพราะเป็นระยะว่างจากงานไร่นา
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มีปรากฏในบันทึกว่า ท่านชอบเลี้ยงสัตว์ และชำนาญในเรื่องนกเขามาก เรียกว่าดูลักษณะและฟังเสียงได้คล่อง ว่ากันว่าร่ำเรียนมาจากนายพรานดักนกในหมู่บ้าน พุดได้ว่าท่านรักสัตว์ทุกชนิด มาจนบวชแล้วก็ยังเลี้ยงสัตว์ไว้มากมาย
หลวงพ่อเดิมเมื่อรุ่นหนุ่มจะไปไหนมักจะเอาผ้าขาวม้าโพกศรีษะอยู่เสมอ เป็นชายที่มีผิวขาว สูงโปร่ง หน้ายาว ศรีษะนูน แต่ที่ต้องโพกผ้าบนศีรษะเพราะท่านมีผมหยิกเกรงว่าจะโดนล้อเลียน ด้วยความเชื่อคนไทยไม่นิยมคนผมหยิกเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้หลวงพ่อเดิมก็มีอุปนิยสัยแตกต่างจากชายหนุ่มทั่วไปตรงที่ท่านไม่มีนิสัยติดโลกีย์ ว่ากันว่าอาจจะเป็นกุศลประจำตัวของท่านที่จะได้บวชเรียนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า เรียกว่าท่านนั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องมาก่อนจะเข้าอุปสมบท มีบุญเก่ามาเกื้อหนุนให้ท่านได้ดำเนินตามรอยพระพุทธบาทจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน
สู่ร่มเงาศาสนา
ต่อมาเมื่อท่านอายุครบบวชแล้ว โยมบิดามารดาได้สอบถามความสมัครใจ ท่านจึงไม่ขัดข้อง ที่สุดแล้วท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2423 โดยมี หลวงพ่อแก้ว วัดอินทราราม (วัดใน) เป็นอุปัชฌาย์,
หลวงพ่อเงิน(พระครูพยุหานุศาสก์)วัดพระปรางค์เหลือง ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอยุพหะคีรี (ครูสวด) และ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี (คู่สวด) ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาก็คือ “พุทธสโร”
เมื่อุปสมบทแล้วได้เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดหนองโพ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามทางที่พระนวกะ จะพึ่งได้รับ
ทั้งนี้ ด้วยความที่ตั้งแต่วัยเด็กมาจนกระทั่งรุ่นหนุ่ม หลวงพ่อมิเคยได้รับการศึกษาเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อนจนกระทั่งได้บวชเรียน ดังนั้นเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ท่านจึงมีความมานะพยายามเล่าเรียนศึกษาเป็นอันมาก
เช่น เล่าเรียนคัมภีร์พระธรรมวินัย และท่องคัมภีร์พระธรรมวินัย 10 ผูก อันเป็นหลักสำคัญของพระนวกะ ท่านเล่าเรียนวิชาการนี้กับหลวงตาชม เจ้าอาวาสวัดหนองโพ รวมเวลาเรียน 7 พรรษา นับแต่บวชพรรษาแรก
นอกจากนี้ท่านยังเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และคาถาอาคมเบื้องต้น โดยได้ไปมอบตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์พันธ์ ชูพันธ์ ซึ่งเป็นฆราวาส เป็นลูกศิษย์สายตรงของหลวงพ่อเฒ่า
อาจารย์พันธ์นั้นเชี่ยวชาญมากทางปริยัติ เมื่อหลวงพ่อได้รับการศึกษาจากอาจารย์พันธ์(ฆราวาส) ก็เป็นบันไดก้าวแรกทำให้หลวงพ่อเดิมแตกฉานยิ่งขึ้น
ต่อมาหลวงพ่อเดิมได้เล่าเรียนต่อทางพระปริยัติต่อกับหลวงพ่อมี ได้รับการถ่ายทอดจนก้าวหน้าแตกฉานออกไปอีกจนสิ้น แต่ก็ยังไม่หยุดแสวงหาความรู้ ท่านไปต่อกับอาจารย์แย้ม (ฆราวาส) วัดสระทะเล
ที่นั่นหลวงพ่อสามารถแปลเข้าสอบเปรียญในสนามหลวงได้ทีเดียว แต่ท่านเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้นมิได้หวังเปรียญ หรือเป็นมหาแต่อย่างใด
เมื่อเรียนพระปริยัติได้สมบูรณ์แล้ว ท่านรับการแนะนำให้ไปเรียนการเทศนา เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ท่านได้เรียนมาให้ญาติโยมสาธุชน พ่อแม่ พี่ป้า น้าอา ได้สดับ
ต่อมาท่านยังไปศึกษาวิชาการเป็นนักเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง สามารถอ่านใบลานเทศน์และทำนองเทศน์อันเป็นอักขระภาษาบาลีจน เมื่อสำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับสู่วัดหนองโพตามเดิม
มีดหมอลือเลื่อง
หลวงพ่อเดิมมีเพียงร่ำเรียนวิชาปริยัติ คาถาอาคม วิปัสสนา แต่ท่านยังร่ำเรียนเรื่องการทำของขลังด้วย โดยพระอาจารยืที่ท่านร่ำเรียนด้วยในทางนี้ เช่น
หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ที่ได้ถ่ายทอดวิชาการทางวิปัสสนาคาถาอาคม การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง, หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ท่านได้ร่ำเรียน "วิชาน้ำมนต์จินดามณีสารพันนึก”
หรือหลวงพ่อวัดเขาห่อ อ.ชนแดน บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ไม่ทราบชื่อหลวงพ่อแน่นอนแต่ท่านได้ศึกษาวิชาด้วย วิชาใดไม่ปรากฏ เพียงแต่ท่านพูดถึงอยู่เสมอ
และหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว ที่นี่ท่านไปเรียนวิชามีดหมอ จนต่อมาหลวงพ่อเดิมได้ชื่อว่าชำนาญในเรื่องมีดหมอและมีชื่อเสียงมาก
ว่ากันว่าการเรียนวิชาของหลวงพ่อนับแต่ ปริยัติ คาถาอาคม วิปัสสนา และการทำของขลัง สรุปรวมแล้วกินเวลาถึง 12 ปี นับแต่บวชมาทำให้ท่านมีความรู้มากมาย เป็นที่เคารพรักของชาวหนองโพทุกคน
สำหรับเรื่องเล่าปาฎิหาริย์มีดหมอหลวงพ่อเดิม นั้นมีข้อมูลจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "ตำนานเล่าขานพระผู้ทรงฌานอภิญญา ครูบาอาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคม" เล่าว่า
มีดหมอหลวงพ่อเดิมนี้บางท่านเรียกว่า “มีดปราบชาตรี” ด้วยว่าหลวงพ่อเดิมได้สร้างมีดหมอขึ้นมามีวัตถุประสงค์ประการหนึ่ง คือเพื่อเป็นการป้องกันการถูกรังแกจากพวกนักเลงหัวไม้ในอดีต ที่มักสักยันต์ลงคาถาอาคม อาบน้ำว่าน เพื่อให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพัน พกพาเครื่องรางของขลัง ทั้งที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ และปลุกเสกขึ้น แล้วออกรังแกชาวบ้านด้วยว่าตัวเองมีของดีปกป้องรักษา
ขอบคุณภาพ เครดิต จ่าเจี๊ยบ ปากน้ำโพ
ดังนั้น หลวงพ่อเดิมจึงได้สร้างมีดหมอขึ้นมา ซึ่งมีพุทธคุณครอบจักรวาล คือ ป้องกันคุณไสย, ป้องกันตัวเองจากศัตรู, .ขับภูติผีปิศาจที่เข้าสิง, แก้อาถรรพ์ความคงกระพันชาตรี และ ป้องกันอสรพิษ และสัตว์เขี้ยวงาทั้งหลาย
ทั้งนี้มีเรื่องเล่าขานถึง “ปาฏิหาริย์” มากมาย ดังเรื่องของนายแกละ พ่อค้าในตลาดตาคลี ซึ่งได้ไปเที่ยวที่อำเภอตากฟ้า และได้เกิดไปมีเรื่องมีราวกับนักเลงเจ้าถิ่น ซึ่งมี 2 คน แถมด้วยปืน 2 กระบอก ทว่านายแกละได้พกมีดหมอของหลวงพ่อเดิมติดกายไปด้วย เมื่อเจ้าถิ่นทั้ง 2 ลั่นกระสุนเข้าใส่ร่างของนายแกละ ต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์นับสิบคน คมกระสุนไม่อาจเจาะผ่านร่างของนายแกละแต่ประการใดไม่
พระผู้เมตตา
ต่อมาด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเดิมเป็นที่เลื่องลือมาก ทางการจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2475 เนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่ากันว่า ในช่วงบั้นปลายหลวงพ่อล่วงรุ้ถึงเส้นทางของท่านเอง โดยต้นปี 2494 หลวงพ่อได้เรียกกรรมการวัดตลอดจนถึงญาติโยมที่ใกล้ชิด ของท่านมาประชุมพร้อมกัน โดยท่านแจ้งในสิ่งที่ทำให้ทุกคนตะลึง 3 ข้อ
1.ขอมอบภารกิจบริหารกิจการของวัดหนองโพ ให้กับหลวงพ่อ (ต่อมาได้เป็นท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต) เจ้าอาวาสวัดหนองโพในปัจจุบันให้ดูแลรักษาแทน ขอให้ชาวบ้านช่วยกันอุปถัมย์หลวงพ่อน้อยช่วยกิจการวัดตามเคยที่ช่วยท่านมา เพื่อให้เกิดความประสานสามัคคีระหว่างวัดและชาวบ้าน
2.หลวงพ่อจะมรณภาพในไม่ช้านี้แล้ว อย่าเสียใจในมรณะกรรมของท่าน เพราะเป็นกฎแห่งกรรม ขอให้ช่วยกันต่อโลงศพให้หลวงพ่อเพื่อจะได้ไม่เป็นธุระรบกวนหรือยุ่งยากจัดหาเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว เพราะการเตรียมล่วงหน้าเป็นการไม่ประมาทในการทั้งปวง ดังพระดำรัสแห่งพระบรมศาสดา
3.ช่วยกันสร้างเมรุเพื่อพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ ตามกำลังศรัทธาของญาติโยม เวลาท่านมรณภาพแล้วจะได้สะดวก ไม่ต้องมาทำทีหลังให้เป็นการเร่งรีบและเหน็ดเหนื่อย โดยใช้เหตุสำหรับข้อสามนี้กรรมการวัดคิดว่า หลวงพ่อคงจะไม่มรณภาพในเวลาอันใกล้ จึงมิได้สั่งจัดทำเสียพร้อมกับโลงศพ จนหลวงพ่อแสดงอาการว่าจะมรณภาพแน่แล้วจึงสิ่งทำเมรุนั้นจึงเสร็จ หลังจากหลวงพ่อมรณภาพไปแล้ว
ที่สุดหลังจากนั้น หลวงพ่อยังคงแข็งแรง ทำกิจต่างๆ ได้เช่นเดิม จนล่วงเข้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2494 หลวงพ่อมีอาการโรคลมปัจจุบันเข้าแทรก จนล้มหมอนนอนเสื่อ
จนวันที่ 22 พฤษภาคม 2494 มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นคือ วันนั้นช้างของหลวงพ่อที่ทำงานอยู่ในป่าได้ดิ้นรนไม่ยอมทำงาน ทั้งๆ ที่ควาญช้างก็บังคับอย่างเต็มความสามารถแต่มันกลับหันหลังมุ่งหน้าเดินจะมาวัดหนองโพ
จนเมื่อช้างพากันเดินดุ่มมาวัดหนองโพอย่างรีบร้อน ตอนนั้นหลวงพ่ออาพาธหนักมากแล้ว ช้งเองก็หงอยเหงาไม่ยอมกินอะไรทั้งนั้น ราวรู้วาระมรณะภาพของหลวงพ่อ
เวลาล่วงเลยมาจนที่สุด หลวงพ่อเอาสองมือประคองขึ้นไว้บนหน้าอกของท่าน นัยน์ตาของท่านหลับสนิทลักษณะการเข้าสมาธิ จู่ๆฝนก็ตกลงอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไม่มีเค้ามาก่อน
ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อได้บันดาลให้ฝนตกลงมาเพื่อต่อชีวิตชาวหนองโพไม่ให้อดน้ำ เป็นอภินิหารครั้งสุดท้ายที่หลวงพ่อแสดงให้เห็นประจักษ์ จากนั้นหลวงพ่อก็ได้มรณภาพจากไป สิริรวมอายุ 92 ปี พรรษาที่ 70
**************************