13 ก.พ.2469 รำลึก อังคาร กัลยาณพงศ์ ชาติกวี ศรีศิลปิน
#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ
*********************************
วันนี้เมื่อ 94 ปีก่อน คือวันเกิดของท่านอังคาร กัลญาณพงศ์ จึงขอนำเรื่องราวประวัติของท่านมานำเสนอเพื่อเป็นการรำลึก
อังคาร กัลยาณพงศ์ (เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ท่านเป็นทั้งกวีและจิตรกร ภูมิลำเนาท่านเกิดที่ ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาของท่านคือกำนันเข็บ มารดาคือนางขุ้ม
ท่านจบชั้นประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาย้ายมาเรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช จบในปี พ.ศ. 2484
ต่อมาศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในปี 2488 เป็นรุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัย
แน่นอน ที่ม.ใหญ่หน้าพระลาน ท่านอังคารจึงได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ทั้งยังเป็นรุ่นพี่ของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินเอกอีกคนของประเทศนี้ มีข้อมูลว่า รุ่นน้องเคยนำภาพวาดผลงานของท่านอังคารไปแสดงที่ อังกฤษ เยอรมนี และอีกหลายประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลที่อยู่ในแวดวงศิลปะต่างชาติเป็นอันมาก
000000
มีเกร็ดว่า ที่จริงก่อนที่ท่านจะมีชื่อว่าอังคาร เดิมที บิดาตั้งชื่อให้ท่านว่า สมประสงค์ ต่อมาคุณย่าจัดแจงเปลี่ยนให้เป็น บุญส่ง จนกระทั่งท่านได้จัดแจงเปลี่ยนชื่อตนเอง ช่วงที่อยู่ในวันดื้นรนของชีวิต ว่า “อังคาร”
ท่านเคยบอกว่า ความหมายมิใช่ ดวงดาวหรือเทพเจ้า แต่หมายเถ้าธุลี ที่ตนเองคนเก่าเหมือนตายไปแล้ว
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะช่วงชีวิตมหาลัย มิได้ราบเรียบ ท่านอังคารขณะเรียนชั้นปี 2 เกิดไปมีเรื่องกับเพื่อนร่วมสถาบันจนต้องถูกเชิญออก อังคารจึงต้องออกมาหางานทำเลี้ยงตนเอง รับจ้างวาดรูแ เขียนกวี และอาศัยนอนตามวัดและสุสาน มีสภาพไม่ต่างจากคนจนตรอก
จนเมื่อตั้งหลัก่ได้จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็นอังคาร ตามที่ว่าไว้ และหันหน้าเข้าวัดบวชเป็นพระอยู่ระยะหนึ่ง
กระทั่ง ได้มีโอกาส จาก อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ให้ทำงานคัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณตามเมืองสำคัญต่างๆ เช่น อยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เพชรบุรี
ต่อมา ด้วยความสามารถด้านกวีนิพนธ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง และมีความคิดที่อิสระ กล้าแสดงอารมณ์และความคิดเห็นออกมาอย่างตรงไปตรงมา และไม่เดินตามใคร ท่านอังคารจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่ ตัวจริงเสียงจริง
ที่สุดท่านจคงได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ อดีตบรรณาธิการคนแรก ผู้ก่อตั้งหนังสือ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” และเป็นผู้บริหารงานสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น
ส.ศิวรักษ์ ได้เผยแพร่ตีพิมพ์บทกวีของอังคารมาตั้งแต่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 และได้รวบรวมบทกวีที่กระจัดกระจายอยู่ตามหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ ของอังคาร มาตีพิมพ์เป็นเล่มต่อสาธารณชนครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา
00000000000
ในชีวิตส่วนตัว อังคาร กัลยาณพงศ์ ใช้ชีวิตครอบครัวกับคุณอุ่นเรือน มีบตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คน ชื่อ ภูหลวง อ้อมแก้ว และวิสาขา
ส่วนเกียรติประวัติด้านผลงานและรางวัลเกียรติยศ ได้มีการรวบรวมผลงานของอังคาร กัลยาณพงศ์และตีพิมพ์เป็นเล่มโดย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อีกหลายครั้ง ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2507 กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์
พ.ศ. 2512 ลำนำภูกระดึง
พ.ศ. 2515 บางบทจากสวนแก้ว
พ.ศ. 2521 บางกอกแก้วกำศรวล หรือ นิราศนครศรีธรรมราช
พ.ศ. 2529 ปณิธานกวี
พ.ศ. 2530 หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา
พ.ศ. 2542 กวีศรีอยุธยา
จากผลงานดังกล่าว ได้ส่งผลให้ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ได้รับรางวัลด้านวรรณศิลป์ ดังนี้
พ.ศ. 2515 ได้รับรางวัลกวีดีเด่น ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป
พ.ศ. 2529 ได้รับรางวัล SEA WRITES ซึ่งเป็นรางวัลสร้างสรรวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย จากบทกวีรวมเล่ม ชื่อ “ปณิธานกวี”
จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าวคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นศิลปินแห่งชาติสาขา วรรณศิลป์(กวีนิพนธ์) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 และได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 หลังจากป่วยเป็นเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานเรื้อรัง นับเป๋นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย
*******************************