4 มี.ค.2458 กำเนิด 'บิ๊กจอวส์' ตำนานรัฐประหาร ต้องเบิ้ล
#วันนี้ในอดีต คอลัมน์วาไรตี้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่ความทรงจำ
******************************
เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองไม่น้อย กับเรื่องราวของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเมืองไทยยุคกว่า 30-40 ปีก่อน บุคคลผู้นั้นคือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หรือ “บิ๊กจอวส์” ที่คนการเมืองเคยให้ฉายา
โดยวันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน คือวันที่ท่านถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ จากเด็กชาวสุพรรณบุรี มาไกลถึงนายทหารที่มีบทบาทอย่างสูงในกองทัพและการเมืองไทย เพราะเขาคือคนที่เป็นผู้นำรัฐประหารถึงสองครั้งสองครา!!
นั่นคือ รัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรัฐประหารครั้งที่ 8 วันที่ 20 ตุลาคม 2520
วันนี้มาย้อนเรื่องราวอีกครั้ง น้องๆ หนูๆ ที่กำลังเรียนรู้การเมืองแวะเวียนมาอ่านได้ เผื่อมีข้อมูลไปคุยในม็อบกับเขาบ้าง (หยอกๆ)
เส้นทางคนใหญ่
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เกิดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2458 ที่บ้านเขาพระ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
บิดาคือนายแปลก มารดา คือ นางส้มลิ้ม ชลออยู่ ชีวิตส่วนตัว บิ๊กจอวส์ สมรสกับ คุณหญิง สุคนธ์ ชลออยู่ นามสกุลเดิมคือ สหัสสานนท์
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
เส้นทางการศึกษาของท่าน ไล่ตั้งแต่ โรงเรียนวิชัยบำรุงราษฎร์ จังหวัดชัยนาท จากนั้นไปต่อที่โรงเรียนอุทัยทวีเวท จังหวัดอุทัยธานี กระทั่งไปสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากนั้นสอบเข้าเป็นนักเรียนนายเรือ จนได้บรรจุในกองทัพเรือมีตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ
จนกระทั่งราวช่วงวัยหนุ่มแน่นเพียงแค่ 34 ชีวิตของท่านเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหลายครั้ง
เช่นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-30 มิถุนายน พ.ศ. 2492
ตอนนั้นในขณะนั้น สงัด ชลออยู่ ในขณะนั้นยังมียศ นาวาโท (น.ท.) ท่านเป็นผู้บังคับการเรือหลวงหลวงสุราษฎร์ธานี และได้เข้าร่วมปฏิบัติการนี้ โดยเป็นผู้ยิงปืนจากเรือเพื่อป้องกันเรือ ไปยังรถถังของฝ่ายรัฐบาลจนเสียหาย
เรือหลวงศรีอยุธยา ขณะถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก
แน่นอนภายหลังเหตุการณ์ ท่านก็ได้ถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่สนามกีฬาแห่งชาติด้วย
ต่อมาในช่วงเหตุการณ์ “วีรกรรมดอนแตง” ที่เรือตรวจการณ์ลำน้ำ 123 สังกัด หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขงของฝ่ายไทย ถูกยิงจนเกยตื้น มีผู้เสียชีวิตอยู่บนเรือ ทหารลาวยังคงระดมยิงขัดขวางการกู้เรือเพื่อนำศพผู้เสียชีวิตออกมา พลเรือเอก สงัด ฯ ได้บัญชาการด้วยตนเอง และได้กล่าวประโยคอมตะไว้ว่า “ถ้าไม่ได้ศพคืน ก็ต้องเพิ่มศพเข้าไป” จนทำให้ปฏิบัติการสำเร็จลุล่วง
https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/353256
ตำนานบิ๊กจอวส์
สำหรับตำนานหนึ่งที่คนไทยยุคนั้นไม่เคยลืมเลือน คือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นนายทหารที่มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นผู้นำในการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
และทั้งสองครั้ง ท่านไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลย แต่ก็ได้รับฉายาว่า “บิ๊กจอวส์” หรือ “จอวส์ใหญ่” มาอย่างภาคภูมิ
สำหรับเหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเนื่องจากเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงวันนั้น
รัฐบาลพลเรือนโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้
ส่งผลให้คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”
โดยคณะนายทหารได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไปปรึกษาหารือที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สนามเสือป่า รวมทั้งได้ร่วมรับประทานโต๊ะจีนและพักค้างคืนด้วยกัน จนกระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงลากลับไป
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศคณะปฏิรูปออกมาหลายฉบับโดยมากมีเนื้อหาควบคุมเพื่อสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย และแต่งตั้งให้ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ร่วมร่างแถลงการณ์ต่างๆ ก่อนรัฐประหาร
จากนั้นนายทหารในคณะปฏิรูปการปกครองได้เปลี่ยนสถานะของตัวเองเป็น “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” มีสมาชิก 340 คน ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้การสนับสนุนรัฐบาลธานินทร์ โดยที่คณะรัฐมนตรีธานินทร์มีรัฐมนตรี 17 คนเท่านั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แก่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นั่นเอง
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ตอนนั้น นายธานินทร์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในภายหลังว่า รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่มีคณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน จึงได้รับฉายาว่า “รัฐบาลหอย”
สายเบิ้ล
ปรากฏว่าระหว่างนั้น รัฐบาลหอยของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ทำให้เกิดปัญหามากมาย โดยใช้นโยบายขวาจัดเข้าบริหารราชการแผ่นดินช่วงนั้น
ว่ากันว่า ช่วงนั้น บรรดาข้าราชการทุกส่วนราชการถูกบังคับให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการสีกากี แม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็แต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการเช่นกัน หัวหน้าหน่วยราชการระดับสูงและระดับกลางก็จะต้องเข้าอบรมหลักสูตรความมั่นคงของชาติ
และมีการวางนโยบายที่จะบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งถึง 12 ปี แต่ก็มิอาจปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างอิสระ เพราะอยู่ภายใต้การกำกับของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เสมือนหอยที่ต้องอยู่ในเปลือกหอยตลอดเวลา
นอกจากนี้ช่วงนั้น ยังมีนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลต้องหลบหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พูดได้ว่า สถานการณ์ของประเทศเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง
ในที่สุดคณะนายทหารในสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน “ชุดเดิม” ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
จะเรียกว่าเบิ้ลรอบสองก็ได้ จากนั้นได้แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย เมื่อรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่หลบหนีเข้าป่า จึงเริ่มทยอยกลับคืนสู่เมืองอีกครั้ง
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์
อนึ่ง มีข้อมูลว่าในวันรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ชีวลิขิต” ว่าคณะปฏิรูปฯ จะให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไป แต่ท่านตอบปฏิเสธ จึงได้ขอให้ท่านรับเป็นหัวหน้าในการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งท่านก็ตอบปฏิเสธอีก
ครานั้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้บอกกับท่านว่ามีความจำเป็นต้องยึดอำนาจ ไม่เช่นนั้นทหารอีกกลุ่มจะทำการในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคณะของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ
อีกทั้งก่อนหน้านั้น พล.ร.อ.สงัดได้เคยเตือนท่านมาครั้งหนึ่งว่า ทหารจะรัฐประหารและมีผู้ชักชวนท่านให้ทำการด้วย อีกทั้งท่านยังสงสัยในพฤติกรรมของบุคคลร่วมรัฐบาลบางคน ในการประชุมสถานการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเข้าๆ ออกๆ ที่ประชุมตลอด ว่าอาจรู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มบุคคลที่เข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาผู้ชุมนุม หรือรู้เห็นเป็นใจกับคณะนายทหารอีกคณะหนึ่งที่ พล.ร.อ.สงัดอ้างว่าจะรัฐประหาร
ใครอยากรู้ว่าใครเป็นใครไปหาในหนังสือ “ชีวลิขิต” ดังกล่าวมาอ่านกันเองก็แล้วกัน
อย่างไรก็ดีที่สุดแล้ว พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2523 ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแกลง จังหวัดระยอง รวมอายุได้ 64 ปี 9 เดือน
จนถึงทุกวันนี้ เมื่อครบรอบวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน กองทัพเรือยังคงจัดงานรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ โดยบุคคลที่ใกล้ชิด และเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน มักเรียกชื่อท่านด้วยความเคารพว่า “ครูหงัด”
*******************************
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย