Lifestyle

24 กุมภาพันธ์ 2567 'วันศิลปินแห่งชาติ' เชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญด้านศิลปะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

24 กุมภาพันธ์ 2567 'วันศิลปินแห่งชาติ' เชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ บุคคลสำคัญด้านศิลปะ สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

ศิลปินแห่งชาติ นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะ ของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

 

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงกำหนดให้มีวัน 'วันศิลปินแห่งชาติ' ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อนเป็นการประกาศยกย่องและเชิดชูเกียรติของ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ถ่ายทอดศิลปะ อันงดงามและทรงคุณค่า


ความเป็นมาของ วันศิลปินแห่งชาติ


วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวัน พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรม ด้านต่าง ๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ 

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณา

ความสำคัญของ ศิลปินแห่งชาติ 

 

ศิลปินแห่งชาติ ของประเทศไทย หมายถึงศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม ศิลปินแห่งชาตินับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตถึงปัจจุบันและดำรงสืบไปในอนาคต

 

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2528) ถึงประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2564 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 343 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 169 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 174 ท่าน

 

ค่าตอบแทน-สวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ

 

สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท สามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี มีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน 50,000 บาท ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้งต่อครั้ง และหากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 20,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึกไม่เกิน 150,000 บาท และค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท
 

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ

 

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน

2. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น

3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน

4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น

5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน

6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน

7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

 

ศิลปินแห่งชาติถูกจำแนกออกเป็น 4 สาขา

 

1. สาขาทัศนศิลป์ คือศิลปะที่มองเห็นด้วยตา เป็นศิลปะสองมิติหรือสามมิติ

 

1.1 จิตรกรรม          

1.2 ประติมากรรม          

1.3 ภาพพิมพ์   

1.4 ภาพถ่าย           

1.5 สื่อประสม

 

2. สาขาศิลปะ สถาปัตยกรรม คืองานออกแบบ หรืองานก่อสร้างอาคาร

 

2.1 สถาปัตยกรรมไทย

2.2 สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

 

3. สาขาวรรณศิลป์ คือบทประพันธ์ต่างๆ เช่น กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี

 

4. สาขาศิลปะการแสดง คือศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง

 

4.1 การละคร           

4.2 การดนตรี              

4.3 การแสดงพื้นบ้าน

 

ข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ