ข่าว

ศูนย์พักพิง "ชั่วคราว” ที่กลายเป็นบ้าน "ถาวร”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายสิบปีที่ไทยต้องแบกภาระในการดูแลผู้หลบหนีภัยสงครามจากเมียนมา ที่ทะลักเข้ามาตลอดแนวชายแดน แม้จะส่งกลับ-ส่งต่อ ไปบ้างแล้ว ก็ยังมีผู้อพยพกระจายในศูนย์ต่าง ๆ นับแสนคน

“มนุษยธรรมค้ำคอ” ทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระดูแลผู้หลบหนีภัยการสู้รบจากเมียนมา มาอย่างยาวนาน หลายครั้งเกิดอุบัติภัย บางครั้งเกิดความวุ่นวายของผู้อพยพ ทำให้ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลมาตลอด

ศูนย์พักพิง "ชั่วคราว” ที่กลายเป็นบ้าน "ถาวร”

เหตุจลาจลเมื่อค่ำคืน 14 ธันวาคม พ.ศ.2564 ในศูนย์ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทำให้เห็นภาพความชุลมุนวุ่นวายของผู้อพยพ ที่ก่อหวอดสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย  ขณะที่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์พักพิงฯแห่งนี้ก็เพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้  ทำให้ที่พักของผู้หนีภัยถูกไฟเผาวอดไปกว่า 100 หลังคาเรือน
ศูนย์พักพิง "ชั่วคราว” ที่กลายเป็นบ้าน "ถาวร”

ศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ หรือศูนย์แบเกราะ เป็นพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมา ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 38,000-39,000 คน จึงถือเป็นพื้นที่พักพิงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระยะห่างจากอําเภอ 26  กิโลเมตร 

กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในศูนย์ฯแม่หละ ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ร้อยละ 92.9 , กะเหรี่ยงแดง ร้อยละ 0.1 , พม่า ร้อยละ 4.2 , ไทยใหญ่ ร้อยละ 0.2 , มอญ ร้อยละ 0.6 , ฉิ่น/กะฉิ่น ร้อยละ 0.5 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.5

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees) หรือ  UNHCR ที่เริ่มเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2518 รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว 97,000 คน (จำนวน 91,411 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2564)  ส่วนใหญ่หลบหนีภัยจากความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา จำนวนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4  จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย คือ ตาก แม่ฮ่องสอน ราชบุรี และกาญจนบุรี
ศูนย์พักพิง "ชั่วคราว” ที่กลายเป็นบ้าน "ถาวร”

เช่นเดียวกับข้อมูลของ "หน่วยงานความมั่นคง" ระบุว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่รองรับ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” จากประเทศเมียนมา มานานหลายสิบปี และปัจจุบันก็ยังมี “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” กระจายอยู่ตามแนวชายแดนมากถึง 9 ศูนย์ และมี “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ที่ยังไม่ได้มีสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” แต่อาศัยอยู่ตามพื้นที่พักพิงฯต่าง ๆ นับแสนคน

ปัจจัยสำคัญของการมีศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ เนื่องจากการสู้รบในเมียนมา ที่กองทัพเปิดฉากต่อสู้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นปัญหาภายในของเมียนมายาวนานหลายสิบปี แต่เริ่มมี “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ทะลักเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก เมื่อ 40 ปีก่อน จนนำไปสู่การสร้าง “พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา”  และต่อมามีการจัดระเบียบจนเหลืออยู่ 9 ศูนย์ใหญ่ที่ยังมีผู้หนีภัยมาจนถึงปัจจุบัน คือ

1. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นศูนย์ใหญ่ที่สุด มีผู้หนีภัยอาศัยอยู่เกือบ 40,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงคริสต์ หรือกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

2. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก มีผู้หนีภัยอาศัยอยู่กว่า 10,000 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะกะเหรี่ยง เช่น กลุ่มมุสลิม กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มปะโอ กลุ่มระหุ กลุ่มฉาน กลุ่มคะยา กลุ่มคะฉิ่น กลุ่มปะหล่อง กลุ่มชิน เป็นต้น

3. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก บางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีผู้หนีภัยอยู่กว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

4. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้หนีภัยหลายชาติพันธุ์ กว่า 10,000 คน

5. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

6. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้หนีภัยส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง

7. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

8. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

9. พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

ศูนย์พักพิง "ชั่วคราว” ที่กลายเป็นบ้าน "ถาวร”

รวมทั้ง 9 ศูนย์ มีผู้หนีภัยการสู้รบมากกว่า 100,000 คน บางศูนย์อาศัยอยู่กันนานหลายสิบปี จนกลายเป็นบ้าน และเป็น “พื้นที่ถาวร” ขณะที่ผู้หนีภัยบางส่วนก็มีปัญหาด้านสุขภาวะ  ทั้งยังเคยเกิดอุบัติภัย เช่น เหตุไฟไหม้ที่บ้านแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อปี 2556 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 คน บาดเจ็บอีกนับร้อยคน  

จากข้อมูลด้านความมั่นคงยังพบด้วยว่า  ศูนย์พักพิงฯได้กลายเป็นแหล่งทำมาหากินของบางกลุ่ม ที่มีผลประโยชน์จากการขายสินค้า เช่น ข้าว น้ำ บัตรเติมเงินโทรศัพท์  ทั้งยังเป็นที่ซ่องสุมแก๊งค้ามนุษย์  อาวุธสงคราม  ยาเสพติด  และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนชุมชนคนไทยที่อยู่ใกล้เคียง 

ทุกครั้งที่เกิดการสู้รบ ประเทศไทยต้องแบกรับภาระช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยการสู้รบ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ส่วนกระบวนการผลักดันหรือส่งกลับ รวมทั้งส่งต่อไปประเทศที่ 3 ที่ผ่านมายังถือว่าล่าช้ามาก จนทำให้ยังเหลือผู้อพยพตกค้างอยู่ในประเทศไทยมายาวนานกว่าสิบปีแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ